อาหารภาคใต้ เป็นอย่างไร

หน้าแรก      สาระน่ารู้
ถูกใจ
0    9,540    1    21 มี.ค. 2561 17:36 น.   
แบ่งปัน

ภาคใต้ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแหลมที่ยื่นไปในทะเล คนส่วนใหญ่มีอาชีพที่สำคัญ ได้แก่ การทำสวน มีสวนยางพาราเป็นพืชสำคัญที่สุด รองลงมาเป็นสวนมะพร้าว สวนผลไม้ ซึ่งได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง สวนปาล์มน้ำมัน ไร่กาแฟ การทำนาจะมีมากทางด้านชายฝั่งตะวันออกในจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง นครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา ส่วนอาชีพประมงมีการทำกันตลอดชายฝั่งทะเล เมื่อออกทะเลหาอาหารมาได้มาก รับประทานไม่หมด จะนำมาทำการถนอมอาหาร เช่น กุ้งแห้ง กะปิ ปลาหมึกแห้ง ปลาเค็มต่าง ๆ ฯลฯ

วัฒนธรรมการกินของคนภาคใต้จะผสมผสานกลมกลืนกันระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม อาหารส่วนใหญ่ของคนภาคใต้จึงมักเกี่ยวข้องกับปลา และอาหารอื่น ๆ จากท้องทะเล ซึ่งอาหารทะเลอย่างปลาจะมีกลิ่นคาวจัด ทำให้อาหารภาคใต้นิยมใส่เครื่องเทศโดยเฉพาะขมิ้น เพราะช่วยดับกลิ่นคาวได้ดี ซึ่งจะเห็นได้ว่าอาหารภาคใต้นั้นมีสีออกเหลือง ๆ แทบทุกอย่าง

อาหารภาคใต้ มักมีรสชาติเผ็ดร้อน คนภาคใต้นิยมอาหารที่รสจัด ทั้งรสเผ็ด รสเค็ม และรสเปรี้ยว ไม่นิยมรสหวาน รสเผ็ดได้มาจากพริกขี้หนูสด พริกขี้หนูแห้ง และพริกไทย ส่วนรสเค็มได้จากกะปิ เกลือ ส่วนรสเปรี้ยวได้จากส้มแขก น้ำส้มลูกโหนด ตะลิงปลิง ระกำ มะนาว  มะขามเปียก และมะขามสด เป็นต้น อาหารภาคใต้ที่รู้จักกัน ได้แก่ แกงไตปลา แกงส้ม คั่วกลิ้ง ไก่ทอด ขมิ้น แกงเหลือง หน่อไม้ใส่ปลากะพง แกงกุ้งกับสะตอ แกงหมูกับลูกเหรียง แกงคั่วพริก เป็นต้น 

เนื่องจากอาหารภาคใต้มีรสจัดทั้งรสเผ็ด รสเค็ม และรสเปรี้ยว คนภาคใต้จึงนิยมรับประทาน กับผักเหนาะหรือบางจังหวัดเรียกว่า ผักเกร็ด ควบคู่ไปด้วยเพื่อลดความเผ็ดร้อนลง ผักเหนาะ เช่น สะตอ สะตอเบา ลูกเนียง ลูกเนียงหมาน หน่อเหรียง ยอดยาร่วง ยอดปราง ยอดมะกอก หยวกกล้วยเถื่อน ยอดหมุย  มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู แตงกวา ฯลฯ 
 
สาระน่ารู้อื่นๆ