ดวงตาของเด็กทารก คือ สิ่งสำคัญในการเชื่อมโยงทารกกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งมีการเรียนรู้ด้านการมองเห็น 80% เมื่อเทียบกับการเรียนรู้จากประสาทสัมผัสประเภทอื่น สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และจะพัฒนาทันทีเมื่อออกจากครรภ์มารดา โดยจะตอบสนองต่อแสง สี หรือภาพเคลื่อนไหว ในช่วงขวบปีแรกลูกตาของเด็กจะมีอัตราการเจริญเติบโตมากที่สุด และลูกตาจะมีความยาวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แรกเกิด ดวงตาของเด็กคลอดออกมาจากครรภ์มารดาครั้งแรก จะมีสีดำและจะกลอกไปมา เพราะยังไม่สามารถทำงานประสานกันได้ ทำให้ดูเหมือนตาเหล่ เด็กจะร้องไห้โดยที่ไม่มีน้ำตา เพราะดวงตาจะเริ่มผลิตน้ำตาได้เมื่อเด็กมีอายุ 2-3 สัปดาห์
ช่วง 3 เดือนแรก ดวงตาของเด็กในช่วงนี้จะเริ่มเรียนรู้เรื่องการโฟกัสสิ่งที่มองเห็นมากขึ้น โดยจะกลอกตาซ้ายขวาสักพัก เพื่อปรับสายตา และยังจะมองเห็นสิ่งของทรงสี่เหลี่ยมได้ชัดเจนกว่าของทรงกลม ชอบสิ่งของที่มีลวดลายตัดกันมากกว่าสีเรียบ นอกจากนี้เมื่อเห็นใบหน้าที่ยิ้มของพ่อแม่ เด็กก็จะยิ้มตอบกลับ
ช่วง 4-6 เดือน เด็กจะสามารถมองเห็นวัตถุเล็กๆ วัตถุที่เคลื่อนไหว และวัตถุที่เป็นมิติเชิงลึกได้ บางครั้งแค่เห็นสิ่งของชิ้นนั้นบางส่วนก็สามารถจดจำได้ เด็กจะชอบจ้องมองใบหน้าของคนใกล้ชิดที่คุ้นเคยอย่างพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูและส่งยิ้ม เพราะทำตามภาพที่มองเห็น รวมทั้งส่งเสียงอ้อแอ้แสดงความพอใจด้วย
ช่วง 7-9 เดือน เด็กในช่วงนี้สามารถมองเห็นภาพได้เทียบเท่ากับผู้ใหญ่แล้ว โดยสามารถแยกแยะความลึกตื้น ใกล้หรือไกลได้ แต่ยังมองในระยะที่ใกล้ตัวมากกว่า และเป็นวัยที่จะเกิดการจดจำ นำไปสู่ขบวนการคิด การเลียนแบบ หรือแสดงพฤติกรรมพอใจ ไม่พอใจ เริ่มสนใจมองสิ่งแปลกใหม่ และสนุกกับการสำรวจสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัว
ช่วง 10-12 เดือน เด็กจะมองเห็นได้ชัดเจน สามารถเข้าใจภาพที่สื่อสาร จดจำหน้าคนใกล้ชิดได้ มีการกระตุ้นการมองเห็นทั้งจากสายตาและเซลล์สมองที่เชื่อมโยงกับการได้ยิน ความจำ และการวิเคราะห์ค่ะ