เอิ๊ก เอิ๊ก... เสียงสะอึกดังต่อเนื่องตลอดวันช่างน่ารำคาญเสียจริง อยากหายสะอึกสักทีแต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรดี วันนี้แม่บ้านมีวิธีแก้อาการสะอึกมาฝากกันค่ะ
การสะอึก (Hiccup) เกิดจากประสาทที่ควบคุมกะบังลมที่กั้นอยู่ระหว่างช่องท้องกับช่องอก ทำงานโดยยืดและหดในจังหวะสม่ำเสมอ เพื่อช่วยในการหายใจ ถูกรบกวน ทำให้ลมในกระเพาะอาหารขยายตัวไปกระตุ้นปลายประสาทที่มาเลี้ยงกะบังลม หรืออาจเกิดจากโรคบางอย่างที่ทำให้กระบังลมหดตัวอย่างรุนแรงทันที เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ทำให้กะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด และเมื่อกะบังลมบีบรัดตัว จะทำให้แผ่นเหนือกล่องเสียงที่คอหอย ที่คอยกั้นไม่ให้อาหารเข้าไปในหลอดลมปิดลง และเมื่อกะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงก็จะดึงอากาศผ่านคอหอยเข้าปอด ทำให้อากาศกระทบกับแผ่นปิด แล้วสายเสียงสั่นสะเทือน จึงเกิดเป็นเสียงสะอึก
การสะอึก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. สะอึกธรรมดา จะเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ และหายไปได้เอง โดยใช้เวลาไม่กี่วินาที ไปจนถึง 2-3 นาที หลังจากรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป หรือรับประทานอาหารที่ทำให้มีก๊าซมาก บางคนอาจจะสะอึกหลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่มากเกินไป หรือเครียดมากเกินไป
2. สะอึกไม่ธรรมดา เกิดจากการสะอึกนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน ๆ หรือสะอึกในขณะนอนหลับ ซึ่งอาจจะมาจากโรคของอวัยวะต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง ในช่องปอด ในระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีอาการสะอึกติดต่อกันมากกว่า 1 วัน รวมทั้งหายใจได้ลำบาก เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกวิงเวียนศีรษะ
วิธีแก้อาการสะอึก
1. สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ จากนั้นกลั้นหายใจไว้สักครู่หนึ่ง หากทำแล้วไม่หายสะอึก ให้ลองทำซ้ำอีกครั้ง โดยให้กลั้นหายใจนานกว่าครั้งก่อน
2. กลืนน้ำตาลทรายเปล่า ๆ 1 ช้อนชา หรืออาจจะกลืนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนชาก็ได้
3. ใช้นิ้วมืออุดหูทั้ง 2 ข้างให้แน่น ประมาณ 20-30 วินาที แล้วกลั้นหายใจและกลืนลมในปากลงคอ หรืออุดหูทั้ง 2 ข้างให้แน่น แล้วดูดน้ำจากหลอดแทนการกลืนลมก็ได้ แต่ต้องกลั้นหายใจ ถึงจะช่วยให้หายสะอึกได้
4. แหงนหน้าให้ช่วงลำคอตึง กลั้นหายใจ นับ 1-10 จากนั้นหายใจออกทันที แล้วดื่มน้ำ 1 แก้ว
5. การทำให้ตกใจช่วยให้หายสะอึกได้ เช่น ตบหลังแรง ๆ ทำเสียงดังขึ้นมากะทันหันในระหว่างคุยกัน หรือโผล่มาจากมุมมืดให้คนสะอึกตกใจ แต่ห้ามให้คนสะอึกรู้ตัวก่อน เพราะจะไม่ตกใจ