ถั่วงอก : มีสารอย่างหนึ่งเรียกว่าไฟเตต มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ทำหน้าที่เป็นตัวจับและดูดซับแคลเซียม เหล็ก สังกะสี และฟอสฟอรัส หากรับประทานถั่วงอกดิบมาก ๆ ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมแร่ธาตุเหล่านี้ได้ และยังพบสารฟอกขาวเจือปนในถั่วงอก ซึ่งทำให้ถั่วงอกมีสีขาวน่ารับประทาน และเก็บไว้ได้นาน เมื่อบริโภคเข้าไปจะมีอาการหายใจติดขัด ปวดท้อง อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ อุจจาระร่วง ดังนั้นก่อนรับประทานถั่วงอกทุกครั้ง ควรล้างให้สะอาดและนำไปลวกหรือปรุงให้สุกก่อน
กะหล่ำปลี : เป็นผักที่นิยมรับประทานแบบดิบ เป็นกับแกล้มคู่กับลูกชิ้นทอด ไส้กรอกย่าง หรือจะเป็นผักเคียงจานที่เสิร์ฟพร้อมประเภทลาบและยำ ในกะหล่ำปลีสดมีสารกอยโตรเจน ส่งผลต่อการเกิดโรคคอพอก หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ ควรทำให้กะหล่ำปลีสุกก่อนจะช่วยบำรุงตับ เนื่องจากมีวิตามิน C สูง ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ และระบบขับถ่ายดี
ถั่วฝักยาว : สำหรับผู้ที่ชื่นชอบรับประทานถั่วฝักยาวดิบในปริมาณมาก ๆ ควรระมัดระวัง เพราะในถั่วฝักยาวดิบนั้นมีแก๊สค่อนข้างสูง โดยเฉพาะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเกิดปฎิกิริยาเมื่อรับประทานมากเกินไปส่งผลทำให้ท้องอืด ควรปรุงสุกก่อนรับประทานทุกครั้ง
มันสำปะหลัง : ใครอยากลองรับประทานดิบ ขอบอกก่อนว่าไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะในมันสำปะหลังมีสารไซยาไนด์หากรับประทานดิบ จะทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก น้ำลายฟูมปาก ชัก และอาจถึงเสียชีวิตได้ วิธีรับประทานมันสำปะหลังที่ถูกวิธีควรปอกเปลือก และปรุงให้สุกก่อนทุกครั้ง มันสำปะหลังเมื่อปรุงสุกแล้วจะมีรสหวาน เนื่องจากมีกรดไฮโดรไซยานิก ที่ทำให้เกิดรสชาติหวาน และหากมีในปริมาณมากเกินจะทำให้มีรสขม
เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ : ในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มีสารทำให้เกิดอาการระคายเคือง หากไม่นำไปคั่ว นึ่งและแกะเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ก่อน จะทำให้เกิดปฎิกิริยาต่อผิวหนัง ส่งผลให้ผิวหนังเป็นพิษและระคายเคืองอย่างรุนแรง เนื่องจากในเปลือกมีสารพิษ Urushiol ข้อควรในการรับประทานเมล็ดมะม่วงหิมพานต์คือต้องปอกเปลือกและผ่านกรรมวิธีที่สุกแล้วจึงจะรับประทานได้อย่างปลอดภัย
ผักเสี้ยน หรือผักหนาม : เป็นผักจิ้ม ที่ดองรับประทานได้ภายใน 2 วัน โดยผ่านวิธีการคลุกเคล้ากับเกลือแช่ไว้ 1วัน และนำน้ำซาวข้าวมาแช่ไว้อีก 1 วัน ก็สามารถรับประทานคู่กับน้ำพริกได้ตามสะดวก หรืออาจนำไปลวกให้สุกก่อนเพื่อความปลอดภัย มิฉะนั้นจะเกิดพิษ เนื่องจากในผักเสี้ยนมีสารไซยาโนจินิคกลัยโคไซด์ เมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกาย มันจะถูกเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ ซึ่งถ้ามีปริมาณมากสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นควรปรุงสุกก่อนรับประทานทุกครั้ง
ดอกจันทน์ : มีน้ำมันหอมระเหย ถ้าใช้ในปริมาณน้อยจะเป็นเครื่องเทศ สรรพคุณจะช่วยสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดอาการอักเสบ แต่ห้ามรับประทานลูกจันทน์ในปริมาณที่มากกว่า 5 กรัม จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หัวใจเต้นผิดปกติ ปากแห้ง ชัก มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท
ทุเรียน : เป็นผลไม้ที่มีรสหวานมันอร่อย มีกลิ่นหอมสำหรับคนที่ชอบรับประทานทุเรียน สรรพคุณทางด้านสมุนไพร นำรากทุเรียนมาช่วยในเรื่อง แก้ท้องร่วง ขับพยาธิ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่เป็นโรคเบาหวานควรรับประทานไม่เกินวันละ 2 เม็ด เพราะทุเรียนเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง สิ่งสำคัญไม่ควรรับประทานทุเรียนคู่กับเหล้า จะทำให้เมาเร็วและเสี่ยงเสียชีวิตได้
มะเฟือง : มะเฟือง มีประโยชน์คือ ช่วยในการขับพิษและพยาธิในร่างกาย และช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ถอนพิษไข้ แต่ถ้ารับประทานมากเกินไปอาจมีโทษเนื่องจากมะเฟืองมีกรดออกซาลิก การได้รับสารนี้เข้าไปในร่างกายในปริมาณมาก จะส่งผลต่ออาการนิ่วทางเดินปัสสาวะและ เมื่อสารนี้ไปจับตัวกับแคลเซียมจะตกเป็นผนึกนิ่วในไตได้ อาจทำให้ไตวายฉับพลัน
ลำไย : ผลไม้ไทยรสหวานเนื้อกรอบ เป็นผลไม้ที่นิยมนำมาแปรรูป อาทิ ลำไยน้ำเชื่อม ลำไยอบแห้ง ในลำไยมีสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการร้อนใน ตาแฉะ ปากเป็นแผล เนื่องจากในลำไยมีสารโพรสตาแกลนดินอยู่ด้วย