สหฟาร์ม ยกระดับปลาดุกไทย พัฒนาสายพันธุ์ ปลาดุกบิ๊กอุยสหฟาร์ม เพื่อการส่งออก เดินหน้าคว้ามาตรฐานฮาลาลเจ้าแรกของประเทศไทยสำเร็จ

0    184    0    3 ต.ค. 2567 17:48 น.   
แบ่งปัน
สหฟาร์มตอกย้ำความแข็งแกร่งในฐานะเจ้าแรกของผู้ผลิตและส่งออกไก่สดแช่แข็ง ไก่แปรรูปแช่แข็งรายใหญ่ของไทย ประกาศรุกธุรกิจประมง พัฒนาสายพันธุ์ ‘ปลาดุกบิ๊กอุยสหฟาร์ม’ แตกไลน์สินค้าใหม่พร้อมสร้างมูลค่า เพื่อผลักดันการส่งออก เผยก้าวแรกความสำเร็จล่าสุดคว้ามาตรฐานจีเอพี มกษ.(GAP มกษ.) จากกรมประมง และได้รับมาตรฐานฮาลาล (Halal) เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย

ดร.จารุวรรณ โชติเทวัญ ประธานสายการตลาดต่างประเทศ บัญชี การเงิน และเลขานุการประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหฟาร์ม จำกัด (SAHA FARMS) เปิดเผยว่า จากงาน ThaiFex 2024 ที่ผ่านมา สหฟาร์มได้ทำการเปิดตัวสินค้าน้องใหม่ “ปลาดุกสหฟาร์ม” พร้อมประกาศรุกธุรกิจประมงเพื่อการส่งออก ทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และยังได้รับเกียรติจากทางอธิการบดีกรมประมงในการเข้าเยี่ยมชมกิจการสหฟาร์มประมงลพบุรี ณ โรงงานสหฟาร์ม จังหวัดลพบุรี เป็นครั้งแรก โดยทางสหฟาร์มได้มีโอกาสในการเปิดให้หน่วยงานภาครัฐได้เห็นถึงกรรมวิธีและขั้นตอนการเลี้ยงปลาดุกครบวงจรของสหฟาร์ม ที่มีทั้งพ่อแม่พันธุ์ปลาของตัวเอง มีโรงงานอาหารสัตว์อัดเม็ดสำหรับปลาดุก โดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีบ่อปลาดุกธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี และโรงงานหั่นที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอนอย่างละเอียด

“สหฟาร์มต้องการต่อยอดความสำเร็จในธุรกิจอย่างครบวงจร โดยในปีนี้เราได้มุ่งมั่นในผลักดันในธุรกิจประมง เนื่องจากเดิมทีสหฟาร์ม ได้มีการเริ่มดำเนินการเลี้ยงปลาดุกมาตั้งแต่ ปี 2545 โดยได้ทำการปรับปรุงสายพันธุ์จนได้เป็นปลาดุกสายพันธุ์เฉพาะของสหฟาร์มเอง โดยตั้งชื่อให้สายพันธุ์นี้ว่า “ปลาดุกบิ๊กอุยสหฟาร์ม” และด้วยกรรมวิธีการเลี้ยงในบ่อดินแบบธรรมชาติ ที่ดูแลและใส่ใจในทุกขั้นตอน จึงทำให้ปลาดุกสหฟาร์มมีรสชาติดี เนื้อสัมผัสแน่น ชุ่มฉ่ำ ไม่มีกลิ่นคาว หนังหนา มีไขมันแทรกในเนื้อ มีคุณค่าทางสารอาหารที่ดีเลิศ เป็นที่นิยมรับประทานของลูกค้าในไทยอย่างแพร่หลาย”

โดยปลาที่สหฟาร์มทำการขาย จะมีทั้งปลาย่างและปลาโบ้ ซึ่งมีทั้งขายส่งและขายปลีก สำหรับปลาดุกสหฟาร์มจะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงถึง 4-5 เดือน จึงจะสามารถคัดไซส์และจับขายได้ อย่างปลาดุก ขนาด 3-4 ตัว/กิโลกรัม จะไว้สำหรับทั้งขายส่ง-ขายปลีก ให้แก่ลูกค้าในจังหวัดต่างๆ อาทิ พิษณุโลก, นครสวรรค์, แม่สอด เชียงราย, เลย, ชัยภูมิ รวมทั้งกรุงเทพและปริมลฑล ส่วนปลาดุกที่ขนาด 1-2 ตัว/กิโลกรัม ก็จะคัดสู่โรงหั่นปลาเพื่อหั่นชิ้นโดยเครื่องจักรที่ทันสมัย มีระบบการจัดการแบบโรงงานที่เน้นเรื่องของความสะอาดในทุกๆ ขั้นตอนการผลิตและทุกๆ ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากกระบวนการอันมีมาตรฐาน และจากความนิยมของลูกค้า บวกกับปลาดุกถือเป็นปลาเศรษฐกิจ จึงทำให้สหฟาร์มต้องการต่อยอดความสำเร็จนี้ ผ่านการผลักดันปลาดุกไทยให้เกิดโอกาสทางการตลาดสู่ประตูการค้าโลก และยังเป็นการเพิ่มทางเลือกของเนื้อสัตว์ให้แก่ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

ดร.จารุวรรณ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนและกรรมวิธีการเลี้ยงปลาดุกสหฟาร์ม เพื่อให้ได้มาซึ่งปลาดุกคุณภาพดีนั้นมีการจัดการแบบพิเศษ โดยกิจการประมงได้นำน้ำที่บำบัดแล้วของสหฟาร์มมาใช้ในการเลี้ยงปลาดุก ซึ่งเราจะมีการวางระบบน้ำให้เป็นระบบแบบหมุนเวียน ไม่ปล่อยให้น้ำออกนอกบริเวณของที่เลี้ยง น้ำที่เปลี่ยนถ่ายจากการเลี้ยงปลาดุกจะนำมาพักในอ่างเก็บน้ำซึ่งมีประมาณจำนวน 10 ไร่ เพื่อช่วยในการบำบัดน้ำเสีย มีการเติมออกซิเจน (Oxygen) ในน้ำเพื่อเป็นการช่วยบำบัดน้ำอีกทางหนึ่ง

“เพื่อให้ปลาขับของเสีย ลดกลิ่นโคลน ลดกลิ่นคาว เราจะมีการถ่ายน้ำออกจากบ่อทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้น้ำสะอาดและมีคุณภาพที่ดีอยู่เสมอโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ และมีการวางขนาดของบ่อเลี้ยงปลา 1 ไร่ ซึ่งจะจำกัดปริมาณปลาเลี้ยงในปริมาณพอเหมาะ ไม่เกิน 20,000 ตัวต่อบ่อ เพื่อลดความแออัด และเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ สร้างระบบน้ำหมุนเวียนตลอดทำให้ได้ปลาดุกที่มีคุณภาพ แข็งแรง ถูกสุขลักษณะอนามัย ทั้งนี้ในกรณีหากเกิดน้ำเสียระหว่างที่เลี้ยง ก็จะทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ทันทีเพื่อไม่ให้ปลาป่วย

ปัจจุบันในบ่อเพาะขยายพันธุ์ปลาดุกสหฟาร์มสามารถผลิตลูกปลาได้ราว 120 ล้านตัว/เดือน โดยสหฟาร์มได้มีบ่อเลี้ยงปลาดุกมากถึง 375 บ่อ ซึ่งแบ่งเป็น กิจการประมงลพบุรี จำนวน 138 บ่อ/ จำนวน 242  ไร่ และกิจการประมงเพชรบูรณ์ จำนวน 237 บ่อ/จำนวน 600 ไร่ โดยมีกำลังการผลิตทั้งจากของลพบุรีและเพชรบูรณ์ ที่สามารถเลี้ยงปลาได้เฉลี่ย 350 ตัน/เดือน เลยทีเดียว

จากกระบวนการคุณภาพที่ได้มาตรฐานทำให้สหฟาร์ม ได้รับมาตรฐานจีเอพี มกษ.(GAP มกษ.) จากกรมประมง และทางบริษัทฯ ยังได้รับมาตรฐานฮาลาล(Halal) และเครื่องหมายฮาลาล (Halal) จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในสินค้าปลาดุกหั่นเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย ซึ่งมาตรฐานฮาลาล (Halal) เป็นมาตรฐานที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและเป็นการเปิดตลาดผู้บริโภคกลุ่มฮาลาล ให้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ที่จะมีการส่งออกในอนาคต เพราะเครื่องหมายฮาลาล จะเน้นย้ำถึงความสะอาดในกระบวนการการผลิตและการบรรจุภัณฑ์ ทุกขั้นตอน ก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค

“เรามั่นใจในคุณภาพมาตรฐานของปลาดุกสหฟาร์ม ทั้งในจุดเด่นคือเนื้อแน่น หนังหนากว่าปลาดุกที่อื่นๆ ทำให้ตัวปลาจะไม่มีแผลหนังหรือถลอกง่ายเวลาขนส่งปลาสด และเมื่อนำไปประกอบอาหาร เช่น การนำปลาไปย่าง หนังปลาจะไม่หลุดติดตะแกรงย่าง ทำให้ได้ปลาดุกย่างออกมาแล้วเนื้อสวยหนังสวย อีกทั้งยังไม่มีสารเคมีใดๆ ซึ่งก็คาดว่าน่าจะเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศได้ไม่ยาก สำหรับปลาดุกสหฟาร์มในตอนนี้สินค้าเราก็ มีอยู่ 3 แบบ คือแบบปลาดุกตัว ที่เราขายทั้งปลีก-ขายส่ง และมีแบบหั่นชิ้น เหมาะเอาไว้สำหรับปรุงอาหาร ประเภท แกง ผัด นอกจากนี้เรายังเพิ่มแบบแล่เนื้อ แบบนี้จะไม่มีก้าง จะได้เนื้อล้วนชิ้นใหญ่ เหมาะกับผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามในแผนขั้นต่อไป สหฟาร์มตั้งเป้าผลักดันปลาดุกไทยเพื่อการส่งออก โดยยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับกลุ่มเป้าหมายประเทศเพื่อนบ้าน และแถบประเทศอเมริกา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาในการผลักดันใน 1-2 ปีนี้ ดร.จารุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
 
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ