เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมขนม เครื่องดื่ม ของอร่อย ๆ ที่ดีต่อใจ มักจะทำให้กินได้อย่างเพลิดเพลิน ทั้งชานมไข่มุก เค้ก ขนมกรุบกรอบ หรือเฟรนช์ฟรายส์ หลาย ๆ คนรู้ว่าหากกินมากเกินไปอาจส่งผลต่อร่างกายและทำให้อ้วน แต่บางครั้งก็ห้ามใจตัวเองไม่ได้ ทำให้รู้สึกผิดหลังจากกิน และมักส่งผลกระทบต่อสุขภาพถ้ากินในปริมาณที่ไม่เหมาะสม หรือกินบ่อยเกินไป แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ของอร่อย” สามารถช่วยฮีลใจได้ มีผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียก็ยืนยันว่า อาหารที่ดีมีผลต่อสภาพจิตใจเราจริง ๆ แต่ก็อาจต้องห้ามใจไม่ให้เพลินเกินไป หรือปรับเปลี่ยนให้อาหารที่กิน ให้มีโภชนาการที่ดีขึ้น สารอาหารเหล่านั้นจะช่วยบำรุงจิตใจและสมองได้อีกด้วย ในมุมมองของนักโภชนาการ การบริหารการกินให้มีการกินอยู่อย่างสมดุล เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงควบคุมน้ำหนักหรือไม่ หรืออยู่ในช่วงวัยไหนก็ตามและหลายคนมักมองหาขนมที่กินแล้วไม่อ้วน ไม่ทำร้ายสุขภาพ เพื่อเติมเต็มจิตใจและบาลานซ์ร่างกาย
“พฤติกรรมการกินนั้นเชื่อมโยงกับสถานการณ์และความรู้สึกของผู้คนในแต่ละช่วงเวลา การกินอาหารของคนเราไม่ใช่เพียงแค่เพื่อให้ร่างกายอิ่มเท่านั้น แต่อาหารยังมีบทบาทในเรื่องของการเยียวยาในเชิงความรู้สึก หรือใช้ในการเข้าสังคม ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง โดย
อาหารว่างแบบหวาน จะมีน้ำตาลกลูโคสซึ่งเป็นแหล่งพลังงานเดียวของสมอง ช่วยกระตุ้นสารแห่งความสุขหรือโดพามีน ส่วน
อาหารว่างแบบคาว ของทอด ของเค็ม จะทำให้เพลิดเพลินกับรสชาติและเท็กซ์เจอร์ ทำให้รู้สึกฟินและคลายความเครียดลงได้ การเพลิดเพลินกับอาหารว่างหรือขนมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแค่ต้องกินอย่างพอดี ปรับใช้เทคนิคในการกินอยู่อย่างสมดุล “บวก แบ่ง แพลน” ที่สามารถช่วยบาลานซ์ความสุขและสุขภาพได้”
นางสาวจันทิมา เกยานนท์ นักวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าว
ประเทศไทยเราเองก็มีของกินที่หลากหลาย ทั้งคาวและหวาน เมื่อมีของอร่อยให้เลือกกินเยอะ การจับคู่อาหารเพิ่มประโยชน์ (food pairing) จึงเป็นอีกเทคนิคของการกินอยู่อย่างสมดุล ปรับการกินขนมสุดโปรดให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อสุขภาพอีกต่อไป และนี่คือ ไอเดียการจับคู่เพิ่มประโยชน์ให้มื้อว่างฮีลใจกับ 5 คู่หูเครื่องดื่มขนมยอดฮิต เช่น ถ้าอยากกิน
ชานมไข่มุก ก็ควรจับคู่กับ
แครกเกอร์ธัญพืช หรืออาหารที่มีใยอาหารสูงอื่น ๆ เช่น เมล็ดธัญพืชเต็มเมล็ดเม็ดฟักทอง งาดำงาขาว หรือลูกเดือยอบแห้ง ที่สำคัญ ควรใช้เทคนิคแบ่งปริมาณให้พอดี (Portion control) ควบคู่ไปด้วย โดยสั่งชานมขนาดเล็กลง ลดเปอร์เซ็นต์ความหวานให้น้อยลง ส่วนสาย
เค้กก็จับคู่กับชาร้อน โดยไม่ใส่น้ำตาลเพิ่ม ชา มีคุณสมบัติช่วยลดความดันเลือดและคอเลสเตอรอลได้ หรือจะเปลี่ยนจากชาเป็นอเมริกาโน่เย็นไม่เติมน้ำตาลก็ช่วยตัดรสชาติหวาน ๆ ของเค้กได้อย่างลงตัว หรือหากเป็นสายช็อกโกแลตเลิฟเวอร์ อาจเลือก
ช็อกโกแลต จับคู่กับอัลมอนด์ ควรเลือกดาร์กช็อกโกแลต (โกโก้ 70% ขึ้นไป) คู่กับอัลมอนด์ไม่เกิน 1-2 หยิบมือ ช็อกโกแลตมีสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ออกซิเจนและเลือดลำเลียงไปสู่สมอง กระตุ้นการทำงานในช่วงบ่ายได้ดี ส่วนอัลมอนด์นั้นมีส่วนประกอบของไขมันดีและมีสารอาหารต่าง ๆ ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ จึงมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ลดไขมันในเลือดซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคเบาหวานอีกด้วย
สำหรับคนที่รัก
ไอศกรีม อาจกินคู่กับ
ผลไม้ที่หวานน้อย เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่าง ๆ ส้ม หรือสัปปะรด ก็ได้ทั้งความหวาน อร่อยและสดชื่น ช่วยเพิ่มใยอาหาร ช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาลได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม อย่าลืมสังเกตซองหรือฉลาก โดยเลือกไอศกรีมที่ให้พลังงานไม่เกิน 250 แคลอรีต่อแท่ง หรือต่อการบริโภค 1 ครั้ง หรือเลือกไอศกรีมที่ได้รับสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ เพื่อมั่นใจได้ว่าปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียมผ่านเกณฑ์ที่เหมาะสม
อาหารว่างจำพวกของทอดของเค็มอร่อยแน่ แนะนำให้กินคู่กับ
ผักเคียง เช่น แตงกวา กะหล่ำปลี ผักชี หรือผักกาดหอม เพื่อให้ใยอาหารช่วยดูดซึมไขมันจากของทอด นอกจากนี้ควรดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับโซเดียมส่วนเกินออก แนะนำเลือกดื่ม
น้ำมะพร้าว เป็นตัวเลือกที่จับคู่ได้ดีกับของเค็ม น้ำมะพร้าวเป็นแหล่งของโพแทสเซียมที่ดี ช่วยลดการดูดซึมโซเดียมในร่างกายได้ ทำให้บาลานซ์เกลือแร่ในร่างกายได้ดียิ่งขึ้น
“ของว่างเหล่านี้ เป็นของโปรดยอดนิยมของพวกเราหลาย ๆ คน ลองนำเทคนิคจับคู่เพิ่มประโยชน์ (Food pairing) ปรับมื้อว่างให้สมดุลมากขึ้น ได้ทั้งความอร่อย ความหลากหลาย และคุณประโยชน์ที่เสริมกัน ดังนั้นไม่ว่าจะอยากกินอะไรก็ตาม ต้องนึกถึงการปรับให้บาลานซ์ควบคู่กันไประหว่างความอร่อยและสุขภาพ” นางสาวจันทิมาแนะนำ
เนสท์เล่ ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลก ส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพและโภชนาการที่ดี ด้วยเทคนิคการกินอยู่อย่างสมดุล แก่คนไทยทุกเพศทุกวัย แนะนำเทคนิคการบวก-แบ่ง-แพลน เพื่อเพิ่มประโยชน์ให้ทุกมื้ออาหารตอบโจทย์ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยสามารถดูคำแนะนำการแบ่งกินตามฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (GDA : Guideline Daily Amounts) หรือสังเกตสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ เพื่อมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ผ่านเกณฑ์โภชนาการที่เหมาะสม