เอสซีจี ขับเคลื่อน Inclusive Society สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมน่าอยู่ สิ่งแวดล้อมยั่งยืนให้คนรุ่นถัดไป ชวนทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และสานต่อภารกิจความยั่งยืนให้อยู่คู่สังคมไทย ในงาน SCG “The Possibilities for Inclusive Society – เติบโตไปด้วยกัน...กับโลกที่ยั่งยืน”
นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า “ธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และยุคสมัย เอสซีจีจึงยกระดับการขับเคลื่อนความยั่งยืนสู่ Inclusive Society ร่วมกับพนักงาน เครือข่าย พันธมิตร และชุมชน สร้างการเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้คนรุ่นต่อไป โดยมุ่งผลักดันสังคมเติบโตไปด้วยกัน 4 ด้าน
ฟื้นน้ำ สร้างป่า ดำเนินงานมาเกือบ 20 ปี อาทิ โครงการ
‘รักษ์ภูผามหานที’ ถ่ายทอดแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้ชุมชนนำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำกิน น้ำใช้ น้ำทำเกษตรตลอดปี พร้อมจับมือกับชุมชนดูแลระบบนิเวศให้สมบูรณ์และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตั้งเป้าหมายปลูก ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า 3 ล้านไร่ในปี 2593 ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 5 ล้านตันต่อปี
พัฒนาอาชีพมั่นคง พัฒนาทักษะอาชีพ ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อาทิ โครงการ
‘พลังชุมชน’ พัฒนาศักยภาพชุมชน แก้จนด้วยความรู้คู่คุณธรรม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าท้องถิ่นมีอัตลักษณ์และตอบโจทย์ตลาด จนถึงปัจจุบันสร้างอาชีพไปแล้ว 4,942 คน สร้างรายได้เพิ่มกว่า 4-5 เท่า เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง 24 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อาทิ โครงการสุภาพบุรุษนักขับของ
‘โรงเรียนทักษะพิพัฒน์’ จัดหลักสูตรฝึกอบรมขับรถบรรทุกให้ผู้ว่างงานเป็นพนักงานขับรถบรรทุกมืออาชีพ
‘แพลตฟอร์มคิวช่าง’ เปิดศูนย์ฝึกอบรมช่าง Q-CHANG ACADEMY เพื่อพัฒนาทักษะและยกระดับอาชีพช่างในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทักษะด้านความรู้ อารมณ์ การเข้าสังคม และธุรกิจ
ส่งเสริมสุขภาวะ สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุข อาทิ โครงการ
‘แพทย์ดิจิทัล ดูแลผู้ป่วยทางไกล’ ใช้นวัตกรรม DoCare ระบบ Tele-monitoring และ Telemedicine ของเอสซีจี ดูแลผู้ป่วยทางไกลด้วยระบบติดตามสุขภาพ เก็บข้อมูลอย่างแม่นยำและต่อเนื่อง พร้อมระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลจึงสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดเวลา ประหยัดค่าเดินทาง ปัจจุบันขยายผลใช้กับโรงพยาบาลแล้ว 13 โรงพยาบาล 1 วิสาหกิจเพื่อสังคม ครอบคลุม 12 จังหวัดทั่วไทย พร้อมตั้งเป้าขยายอีก 10 โรงพยาบาล ใน 10 จังหวัด ภายในปี 2567
สนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการ
‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ความร่วมมือบูรณาการระหว่างรัฐ-เอกชน-ประชาชน (PPP: Public-Private-People Partnership) เปลี่ยนจังหวัดสระบุรีให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้จังหวัดอื่น ๆ เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 ความร่วมมือในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ที่เกิดขึ้นแล้ว อาทิ การกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป การทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำ ลดก๊าซมีเทน การปลูกหญ้าเนเปียร์พืชพลังงานสูง และนำของเหลือจากการเกษตรและขยะชุมชนไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน รวมทั้งร่วมกับชุมชนในการสร้างป่าชุมชนต้นแบบของจังหวัดที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้ชุมชน”
สำหรับงาน
SCG “The Possibilities for Inclusive Society – เติบโตไปด้วยกัน...กับโลกที่ยั่งยืน” เป็นการรวมพลคนจากหลากหลายภาคส่วน ที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านต่าง ๆ โดยมี 4 ตัวแทนผู้นำชุมชน มาร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ พร้อมส่งต่อพลังบวก ได้แก่
นางวันดี อินทรพรม กำนันตำบลแกลง จังหวัดระยอง ผู้เปลี่ยนความแห้งแล้งของเขายายดา ให้เป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนมาบจันทร์ ด้วยการ ‘สร้างฝายชะลอน้ำ’ จากองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมกับเอสซีจีซี จนป่าเขายายดากลับมาเขียวชอุ่ม ไม่เกิดไฟป่าในฤดูแล้ง และกลายเป็นหนึ่งในโมเดลตัวอย่างด้านการจัดการน้ำระดับประเทศ โดยเรื่องราวความมุ่งมั่นของนางวันดีและชุมชนมาบจันทร์ในการเรียนรู้และร่วมมือกันบริหารจัดการน้ำเพื่อความอยู่รอดของชุมชน ยังได้ถูกถ่ายทอดผ่านหนังสารคดี ‘The Rain Keepers’ ซึ่งมีกำหนดฉายทางออนไลน์ผ่านช่อง VIPA ของไทยพีบีเอส ในเดือนกรกฎาคมนี้
นางอำพร วงค์ษา ประธานศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือบ้านผาหนาม จังหวัดลำพูน หนึ่งในสมาชิก ‘โครงการพลังชุมชน’ ผู้พลิกวิกฤตของชีวิตเป็นแรงผลักดันสร้างโอกาสให้กับตัวเอง พร้อมทั้งเดินหน้าสร้างอาชีพให้คนในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ว่างงาน และผู้หญิงที่ขาดโอกาสในการทำงาน
นางจิตรา ป้านวัน ประธานชุมชนวังขรีวิถียั่งยืน ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ’ เพื่อแก้ปัญหาขยะ สร้างความร่วมมือภายในชุมชน เชื่อมเยาวชนและผู้สูงวัยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พัฒนาชุมชนให้สะอาด น่าอยู่ พร้อมมุ่งสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ
นางนิโลบล ลิจุติภูมิ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี บุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข ด้วยการใช้เทคโนโลยีแพทย์ดิจิทัลจากโครงการ ‘แพทย์ดิจิทัล ดูแลผู้ป่วยทางไกล’
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเปิดตัวหนังสือ ‘เหตุผลที่เรามารวมกัน’ ซึ่งเป็นการรวบรวมเรื่องราวการขับเคลื่อนความยั่งยืนของเอสซีจีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด E-book ‘เหตุผลที่เรามารวมกัน’ ได้ที่ https://www.scg.com/pdf/th/the-power-of-collaboration.pdf
นายชนะ ภูมี กล่าวทิ้งท้ายว่า “โครงการต่าง ๆ ที่นำเสนอภายในงานนี้ เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน ที่เอสซีจีร่วมมือกับพนักงาน เครือข่าย พันธมิตร และชุมชน มุ่งมั่นมาตลอดการดำเนินธุรกิจกว่า 111 ปี โดยเอสซีจียังคงเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งด้านการศึกษา อาชีพ และสุขภาวะ 50,000 คน ภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม เส้นทาง ‘การพัฒนา’ ไม่มีวันสิ้นสุด เราต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ เพื่อร่วมกันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน สังคมที่น่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”