สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ได้เปิดตัวรายงาน ‘เทรนด์ผู้บริโภคอาหารทะเลยอดนิยม’ ประจำปี ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ
Oceans of Change นำเสนอภาพรวมทิศทางของเทรนด์ในแต่ละภาคส่วน พร้อมเน้นย้ำถึงทัศนคติของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการพัฒนาอุตสาหกรรม จากข้อมูลเฉพาะของประเทศต่าง ๆ ถึง 17 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ณ งาน THAIFEX – Anuga Asia 2024 นอกจากนี้ยังรายงานผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 รวมมูลค่า 3.6 พันล้านบาท ของอาหารทะเลนอร์เวย์โดยรวมที่ส่งออกมายังประเทศไทย
ผู้ส่งออกอาหารทะเลจากนอร์เวย์ 21 ราย ได้จัดแสดงอาหารทะเลพรีเมียมหลากหลายรายการ ในช่วงวันที่ 28 พฤษภาคม – 31 พฤษภาคม (วันเจรจาธุรกิจ) และ 1 มิถุนายน (วันจำหน่ายปลีก) ที่ Norwegian Seafood Pavilion ภายในงาน THAIFEX – Anuga Asia 2024 ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 ทางเข้าที่ 1 บูธ L29 - M29 อิมแพค เมืองทองธานี นอกจากนี้ยังมีการสัมมนาอาหารทะเลในหัวข้อ การพัฒนาตลาดปลาแซลมอนนอร์เวย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องราวความสำเร็จของนอร์วีเจียนแซลมอนและนอร์วีเจียนซาบะ การบริโภคและการแปรรูปในประเทศไทย โดยจัดขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคม ระหว่างเวลา 14.00 – 16.00 น.
สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ได้ถือโอกาสแนะนำผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนใหม่ นางสาวโอซฮิลด์ นัคเค่น ซึ่งจะมาปฏิบัติหน้าที่ต่อจาก ดร. อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท โดยนางสาวโอซฮิลด์ ได้ทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการสื่อสาร และเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนความสำเร็จของอาหารทะเลนอร์เวย์ในตลาดประเทศจีนในตำแหน่งผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 2549 – 2554 และเธอยังมีความรู้ที่กว้างขวางเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารทะเลจากการทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายการเพิ่มมูลค่าสินค้า ที่ Lerøy Seafood AS ซึ่งเป็นบริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลก
ดร. อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) กล่าวว่า “ในปีนี้ตลาดไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราการบริโภคนอกบ้านยังคงสูง เราได้เห็นการเติบโตของการซื้อของออนไลน์ และการเดลิเวอรี่ ที่สูงขึ้นมาก ผู้บริโภคมีการสั่งอาหารทุกประเภทรวมถึงอาหารทะเล ให้จัดส่งถึงหน้าประตูบ้าน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เนื่องจากประชากรในเมืองจำนวนมากใช้ชีวิตโดยพึ่งพาช่องทางเดลิเวอรี่ และมีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเข้าบ้านน้อยลง ผู้คนเลือกที่จะจับจ่ายเฉพาะในเวลาที่ต้องการ และบางครั้งมีการสั่งซื้อหลายรายการในหนึ่งวัน ในฐานะหนึ่งในแหล่งข้อมูลเชิงลึกด้านตลาดชั้นนำของอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก NSC ได้เข้าไปลงทุนใน 30 ประเทศ มีสำนักงาน 15 แห่ง พร้อมทั้งมีการติดตามประจำปีที่ติดตามผู้บริโภคมากกว่า 60,000 รายทั่วโลกเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารทะเล
“รายงาน ‘เทรนด์ผู้บริโภคอาหารทะเลยอดนิยม’ ในปีนี้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสนใจในเรื่องของความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน และความต้องการโปรตีนที่เข้าถึงง่ายและมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างต่อเนื่อง การมีบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและการติดตามที่ยั่งยืน การนำเทคโนโลยี อาทิ QR Code มาใช้มากขึ้น ซึ่งช่วยให้ผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบกิจการอาหารสามารถให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ความยั่งยืน และที่มาของอาหารทะเลได้ ตราสัญลักษณ์ Seafood from Norway ของเรา เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาหารทะเลนอร์เวย์ในประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก โดยในปี 2566 ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ กว่า 81% สามารถจดจำสัญลักษณ์ Seafood from Norway ได้ เพิ่มขึ้น 38% จากปีที่ผ่านมา และผู้ซื้อปลาแซลมอนในกรุงเทพฯ มากกว่า 50% สามารถระบุได้อย่างถูกต้องว่าสินค้านั้นมาจากนอร์เวย์”
ดร. อัสบีเยิร์น กล่าวเสริม
สำหรับเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 นอร์เวย์ส่งออกนอร์วีเจียนแซลมอนและฟยอร์ดเทราต์สดจำนวน 7,243 ตันมายังประเทศไทย โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้น 7% และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 12% ทั้งนี้ อาหารทะเลนอร์เวย์โดยรวมมีการเติบโต 10% มีมูลค่าอยู่ที่ 3.6 พันล้านบาท