ภาคกลาง เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ มีแม่น้ำใหญ่ที่สำคัญไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะสำหรับทำการเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี และยังเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน มีวัฒนธรรม ประเพณี ที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาอย่างยาวนาน เป็นศูนย์กลางความเจริญ เป็นแหล่งการค้าขาย การติดต่อกับชาวต่างประเทศที่ไปมาหาสู่อยู่ตลอดเวลา
อาหารภาคกลาง มีความหลากหลายของอาหารในการปรุง รสชาติ จากการรับและปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจากภายนอก เช่น จากจีน อินเดีย และจากชาติตะวันตก ส่วนการจัดตกแต่งอาหารให้น่ารับประทานอย่างวิจิตรบรรจง มีการแกะสลักผัก ผลไม้ประดับประดาอย่างสวยงาม บางส่วนได้รับอิทธิพลจากอาหารในราชสำนัก
สำหรับอาหารภาคกลางจะใช้กะทิและเครื่องเทศต่าง ๆ ในการนำมาทำแกงชนิดต่าง ๆ เช่น แกงเผ็ด แกงมัสมั่น แกงคั่ว แกงกะหรี่ แกงพะแนง ฯลฯ อาหารส่วนใหญ่จะไม่เน้นรสชาติใดรสชาติหนึ่งโดยเฉพาะ แต่จะมีทั้งรสเค็ม เผ็ด เปรี้ยว และหวาน ตามแต่ชนิดของอาหารนั้น ๆ
วิธีการหุงต้มอาหารภาคกลางจะมีทั้งการแกง ต้ม ยำ ทอด นึ่ง ปิ้ง ย่าง และเผา อาหารที่รู้จักกัน ได้แก่ แกงมัสมั่น ต้มยำกุ้ง ไก่ผัดเม็ดมะม่วง น้ำพริกกะปิ ผักจิ้ม ปลาทูทอด แกงส้มผักรวมกับปลาช่อน เป็นต้น พืชผักที่คนภาคกลางนิยมรับประทาน ได้แก่ ผักกระเฉด ดอกแค แตงกวา ถั่วพู ชะอม ถั่วฝักยาว บวบ ฟักทอง ฟักเขียว ฯลฯ