ในอดีต
พริกไม่ได้มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศไทยก็จริงอยู่ แต่ในปัจจุบันพริกกลับกลายเป็นวัตถุดิบหลักอย่างหนึ่งในสำรับอาหารไทยที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว ซึ่งสำหรับพริกของไทยที่เราจะมาแนะนำถึงประโยชน์และการนำมาประกอบอาหารในครั้งนี้ มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า และพริกหยวก ที่คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหารมากที่สุดก็ว่าได้ ด้วยระดับความเผ็ดที่แตกต่างกัน จึงทำให้เอกลักษณ์ในการนำมาประกอบอาหารแตกต่างกันด้วย
1. พริกขี้หนู นิยมนำมาทำพวกเมนูที่ต้องการความเผ็ดและหอมกลิ่นพริก เช่น ต้มยำ ต้มแซ่บ ผัดเผ็ด ส้มตำ ยำ ลาบ รวมทั้งน้ำพริกต่าง ๆ
2. พริกชี้ฟ้า นิยมนำมาทำพวกเมนูที่มีรสไม่เผ็ดมากเท่าไหร่ จึงมักนำมาใช้ประกอบอาหารที่ต้องการสีสัน เช่น แกงเผ็ด ผัดกะเพรา แกงเลียง กินเป็นผักแนมกับเปาะเปี๊ยะสด หรือนำไปย่างทำเป็นน้ำพริก เป็นต้น
3. พริกหยวก ถึงแม้จะเป็นพริกที่ไม่ค่อยเผ็ดเท่าไหร่ แต่ก็นิยมนำมาทำเป็นพวกเมนูผัด เช่น ผัดพริกหยวกใส่ไข่ ผัดพริกหยวกใส่ตับ พริก-หยวกยัดไส้ หรือนำไปย่างแล้วตำ ๆ จนกลายเป็นน้ำพริกก็มีเยอะ
ซึ่งในพริกทั้งหมดนี้ล้วนอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ทั้ง วิตามิน A วิตามิน B6 วิตามิน C แมกนีเซียม โพแทสเซียม เหล็ก ซึ่งในส่วนของวิตามิน A ช่วยบำรุงสายตา แต่ถ้าได้ลองรับประทานพริกสด ๆ มักจะได้รับวิตามิน C ดีกว่ากินพริกที่ปรุงสุกแล้ว เพราะวิตามิน C จะสลายตัวไปเมื่อถูกความร้อน หรือหากใครที่เป็นหวัด หอบหืด ช่วยลดน้ำมูก บรรเทาอาการหวัด ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร
นอกจากนี้ความเผ็ดร้อนในผลของพริกที่มีรสเผ็ดร้อน ซึ่งเกิดจาก สารแคปไซซิน สามารถช่วยป้องกันไม่ให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี แต่เสริมสร้างคอเลสเตอรอลชนิดดี แถมยังช่วยให้อารมณ์ดี เพราะสารแคปไซซินจะไปกระตุ้นสมองส่วนกลางให้หลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารสร้างความสุข อีกทั้งในสารเอ็นดอร์ฟินยังมีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ที่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดการผ่อนคลาย และรู้สึกอยากนอนหลับ รวมทั้งพริกยังช่วยในผู้ที่มีอาการหอบหืด เป็นหวัด หรือมีเสมหะ สารแคปไซซินยังช่วยขยายช่องจมูกให้ใหญ่ขึ้น จึงช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง และช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดการอุดตันของหลอดเลือด และลดความดันได้ดี