ขนมจีนแต่ละภาคของประเทศไทย

หน้าแรก      สาระน่ารู้
ถูกใจ
0    26,373    40    22 มิ.ย. 2560 10:10 น.   
แบ่งปัน


ขนมจีน เป็นอาหารคาวอย่างหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นเส้นขาว เรียว ยาว เหนียวนุ่ม เมื่อราดกับน้ำยาที่รสชาติอร่อยกลมกล่อมลงตัว สามารถรับประทานง่ายและมีรสชาติหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป

ภาคกลาง นิยมรับประทานกับน้ำพริก น้ำยาและแกงเผ็ดชนิดต่าง ๆ น้ำยาที่นิยมรับประทาน คือน้ำยากะทิ ซึ่งเน้นกระชายเป็นส่วนผสมหลัก ส่วนน้ำพริกเป็นขนมจีนน้ำพริกตำรับชาววัง ปนด้วยถั่วเขียว ถั่วลิสง รับประทานกับเครื่องเคียงทั้งผักสด ผักลวก และผักชุบแป้งทอด จุดเด่นคือมีขนมจีนซาวน้ำ ซึ่งจะทำในช่วงสงกรานต์ โดยจะรับประทานกับสับปะรด ขิง พริกขี้หนู กระเทียม และมะนาว ราดด้วยหัวกะทิเคี่ยว ส่วนทางสมุทรสงคราม และเพชรบุรีจะปรุงรสหวานด้วยน้ำตาลมะพร้าว

ภาคเหนือ เรียกขนมจีนว่า ขนมเส้น ข้าวเส้น ข้าวหนมเส้น หรือที่เรียกว่าขนมจีนน้ำเงี้ยว นิยมรับประทานร่วมกับน้ำเงี้ยวหรือน้ำงิ้วที่มีเกสรดอกงิ้วป่า แคบหมูและข้าวกั้นจิ้น(ข้าวเงี้ยว, จิ๊นส้มเงี้ยว) เป็นเครื่องเคียง ส่วนผักที่รับ-ประทานกับขนมจีน คือผักกาดดองและถั่วงอกดิบ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกขนมจีน ว่าข้าวปุ้น ส่วนอีสานใต้เรียกว่านมปั่นเจ๊าะ คล้ายกับกัมพูชา นิยมรับประทานกับน้ำยาใส่ปลาร้า ที่ใส่กระชายเหมือนน้ำยาภาคกลาง และข้าวปุ้นน้ำแจ่ว ที่รับประทานขนมจีนกับน้ำต้มกระดูก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ไม่ใส่เนื้อปลา สามารถนำขนมจีนมาทำส้มตำ เรียกว่าตำซั่ว นิยมขนมจีนแป้งหมัก

ภาคใต้ เรียกขนมจีนว่า โหน้มจีน โดยเป็นอาหารเช้าของภาคใต้ฝั่งตะวันตก เช่น ระนอง พังงา ภูเก็ต รับประทานกับผักเหนาะชนิดต่าง ๆ ซึ่งทางภูเก็ต นิยมรับประทานกับห่อหมก ปาท่องโก๋ ชาร้อน กาแฟร้อน ทางชุมพรนิยมรับประทานขนมจีนเป็นอาหารเย็น รับประทานกับทอดมันปลากราย  ส่วนที่นครศรีธรรมราชรับประทานเป็นอาหารเช้าคู่กับข้าวยำ ซึ่งน้ำยาทางภาคใต้ใส่ขมิ้นไม่ใส่กระชายเหมือนภาคกลาง ถ้ารับประทานคู่กับแกงจะเป็นแกงไตปลา
 
สาระน่ารู้อื่นๆ