วัคซีน(เสริม)...ยาป้องกันภัยลูกน้อย ภาค 2

หน้าแรก      สาระน่ารู้
ถูกใจ
0    3,341    0    13 มี.ค. 2560 11:50 น.   
แบ่งปัน


เมื่อวันเสาร์แม่บ้าน ได้พูดถึงวัคซีนหลักที่เด็กจำเป็นต้องฉีดแล้ว ก็ยังมีวัคซีนอีกประเภทหนึ่งที่อยู่ในตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย นั้นคือ วัคซีนเสริม ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากกว่า
วัคซีนเสริม คือ วัคซีนที่อยู่นอกแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข เพราะอาการบางโรคไม่รุนแรง และยังไม่ระบาดในประเทศไทยมาก แต่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากและผลข้างเคียงจากการฉีดน้อยกว่าวัคซีนจำเป็น ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนเอง สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 : วัคซีนที่เหมือนกับวัคซีนพื้นฐานอยู่แล้วแต่มีคุณลักษณะหรือรูปแบบต่างจากที่กระทรวงสาธารณสุขจัดหา วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและปลอดภัยมากขึ้น ได้แก่
1.1 คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (DTaP, Tdap) มีประสิทธิภาพป้องกันโรคเหมือนกับชนิดเต็มเซลล์ แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า แพทย์จะพิจารณาให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้สำหรับเด็กที่มีปัญหาและอาจจะเกิดผลข้างเคียงในการฉีดชนิดเต็มเซลล์ได้ เช่น เด็กที่มีโรคประจำตัว เด็กที่มีความผิดปกติทางระบบประสาท หรือเด็กที่มีปฏิกิริยารุนแรงต่อการฉีดวัคซีนแบบเต็มเซลล์

1.2 โปลิโอชนิดฉีด (IPV) ทำมาจากไวรัสที่ตายแล้ว สามารถฉีดในเด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ และไม่มีผลข้างเคียง แตกต่างจากโปลิโอชนิดกิน (OPV) ที่ไม่สามารถฉีดในเด็กบางคน เพราะอาจจะทำให้เป็นอัมพาตได้

1.3 ไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็น (Live JE) ทำมาจากไวรัสที่ยังมีชีวิตที่อยู่ ทำให้ภูมิคุ้มกันอยู่นานกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย (MBV JE) สามารถลดจำนวนครั้งในการฉีดวัคซีนจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้งได้ เด็กจะต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ 2 เข็ม ระหว่างอายุ 9 เดือน – 2 ปี

กลุ่มที่ 2 : วัคซีนที่อยู่นอกเหนือจากกลุ่มวัคซีนพื้นฐาน เพราะบางโรคยังไม่แพร่ระบาดมาก ได้แก่

2.1 ฮิบ (Hib) เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านทางการสัมผัส ไอ หรือจามจากผู้ป่วยสูง ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไข้ขึ้นสูง เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ และชัก บางคนเด็กที่มีอาการหนักมากอาจถึงขั้นเป็นโรคเยื่อสมองอักเสบ โรคปอดอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด หรือโรคไซนัส โดยเด็กต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ในช่วง 2, 4, 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งตอนอายุ 18 เดือน

2.2 โรต้า (Rota) สิ่งของรอบตัวของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นของเล่นสุดโปรด อาหารแสนอร่อย หรือนม อาจจะมีเชื้อไวรัสโรต้าปะปน ทำให้เด็กเป็นโรคอุจจาระร่วงหรือท้องเสียขั้นรุนแรงได้ โดยแต่เด็กควรได้วัคซีนชนิดนี้ผ่านการหยอดทางปาก 2-3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 และ 4 เดือน สำหรับชนิด Monovalent หรือ 2, 4 และ 6 เดือน สำหรับชนิด Pentavalent

2.3 นิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) สามารถติดเชื้อแบคทีเรียผ่านทางไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ทำให้เด็กมีอาการซึม มีไข้สูง อาเจียน ร้องกวน จนชักและเสียชีวิตได้ภายใน 2 วัน โดยเด็กต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งระหว่าง 12- 18 เดือน

2.4 ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) สามารถติดไวรัสผ่านระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน ทำให้เด็กจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย น้ำมูกไหล และไอแห้ง ๆ เด็กควรฉีดวัคซีนชนิดนี้ปีละครั้ง เมื่ออายุระหว่าง 6 เดือน – 18 ปี โดยในช่วงปีแรกให้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์

2.5 ตับอักเสบเอ (HAV) สามารถติดผ่านการรับประทานอาหารหรือน้ำ เมื่อเชื้อจะผ่านเข้าไปในปาก กระแสเลือด และเข้าไปในตับ จะทำให้มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย และไข้ต่ำ ๆ ถ้าเชื้อรุนแรงมากจะทำให้ตับอักเสบเฉียบพลันได้ เด็กควรฉีดวัคซีนชนิดนี้ 2 ครั้ง ระหว่าง 12 เดือน – 12 ปี แต่ละเข็มให้ห่างกัน 6 - 12 เดือน

2.6 อีสุกอีใส (VZV) หรือวัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส (MMRV) สามารถติดต่อได้ตั้งแต่ครรภ์มารดาอย่างโรคอีสุกอีใส เมื่อติดเชื้อแล้วอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดอักเสบและสมองอักเสบ จนทารกมีโอกาสเสียชีวิตได้ เพราะมีแอนติบอดียังไม่พอ หรือติดเชื้อผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำบนผิวหนัง สูดหายใจเอาละอองฝอยของสิ่งคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย ทำให้มีไข้ ตุ่มแดง ๆ จากนั้นจะเป็นตุ่มน้ำใส ๆ กระจายอยู่ทั่วตัว และมีอาการคัน เด็กควรฉีดวัคซีนชนิดนี้ 2 ครั้ง ระหว่าง 12 – 18 เดือน และอีกเข็มในช่วง ระหว่าง 4-6 ปี หรือจะฉีดในรูปแบบวัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส ก็ได้
 
 
 
 
สาระน่ารู้อื่นๆ