สิ่งที่พิเศษของแมงลักนอกจากจะใช้เมล็ดทำเป็นเมนูของหวานแล้ว ใบแมงลักยังสามารถใช้ประกอบอาหารได้เหมือนใบกะเพราและใบโหระพา ซึ่งความจริงแล้วแมงลักยังถูกจัดเป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในสกุลเดียวกันกับกะเพราและโหระพา แต่ความแตกต่างของต้นแมงลักสังเกตได้จากขนาดของใบเล็กและบางกว่า ใบมีสีเขียวอ่อน เมื่อเด็ดใบออกจากต้นแล้วใบจะช้ำและเหี่ยวได้ง่ายกว่า
ส่วนกลิ่นของใบแมงลักมีกลิ่นฉุน คล้ายกลิ่นส้มและมะนาว ซึ่งในใบแมงลักมีน้ำมันหอมระเหยที่เป็นส่วนประกอบหลัก คือ ซิตรัล (Citral) มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อวัณโรค โดยในต่างประเทศนิยมใช้ใบแมงลักแต่งกลิ่นอาหารเนื่องจากมีกลิ่นมะนาวจึงมักใช้แต่งกลิ่นอาหารจำพวกปลาและไก่ในอาหารฝรั่ง แต่ประเทศไทยนิยมใช้ใบแมงลักรับประทานเคียงกับขนมจีน และใช้ทำเมนูแกงเลียง ห่อหมก อ่อม แกงคั่ว เป็นต้น หากนำมารับประทานสดก็จะได้รสร้อนอ่อน ๆ สามารถช่วยแก้ลมวิงเวียน ขับลมในลำไส้ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องขึ้นท้องเฟ้อช่วยย่อยอาหาร แก้ซางชักในเด็ก สำหรับเมล็ดแมงลักนั้นได้มาจากส่วนดอกของต้นแมงลักที่ขึ้นเป็นช่อยาวสีขาว และมีเมล็ดสีดำด้านใน คนส่วนใหญ่ก็น่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะได้รับความนิยมมากในการรับประทานกับพวกขนมหวานหรือเครื่องดื่มเย็นต่าง ๆ ด้านคุณค่าทางโภชนาการโดยรวมของแมงลัก จะประกอบไปด้วยสารอาหารที่สำคัญมากมาย ทั้ง คาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไขมัน วิตามินA วิตามินC ไทอามีน (วิตามิน B1) ไรโบฟลาวิน (วิตามิน B2) ไนอาซิน (วิตามิน B2) และมีน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วยเมทิลซินนาเมต ซิตรัล และอีกหลายชนิด ส่วนของเปลือกผลหรือเมล็ดแมงลัก ยังมีสารเมือก ที่สามารถพองตัวเมื่อถูกน้ำได้ถึง 45 เท่า และไม่ถูกย่อยในระบบทางเดินอาหาร เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบรับประทานพืชผักที่มีกากอีกด้วย