การนึ่งปลา
อันดับแรกขอแนะนำการล้างปลาให้สะอาดจนหมดเมือกเสียก่อน ขอดเกล็ดปลาออกให้หมด ล้างด้วยน้ำเปล่า ขัดด้วยส้มมะขามเปียก (มะขามเปียกแกะเมล็ด) จนไม่เหลือเมือกปลา จากนั้นเข้าสู่วิธีการนึ่ง ใส่น้ำ 1/4 ของหม้อนึ่ง รอให้น้ำเดือด จึงนำปลาใส่ลังถึงที่รองก้นด้วยใบแมงลัก เพื่อดับกลิ่นคาวและหากกลัวเนื้อปลาแตกให้ผสมน้ำมะนาวกับเกลือบาง ๆ ทาให้ทั่วตัวปลาก่อนนำไปนึ่ง เท่านี้ก็จะได้ปลานึ่งที่อร่อยเลิศปราศจากกลิ่นคาวและดูน่ารับประทาน
การนึ่งไข่ตุ๋น
เมื่อน้ำเดือดให้วางชามไข่ตุ๋นลงในลังถึง นำผ้าขาวบางพันฝาลังถึง โดยใช้หนังยางผูกไว้ เพื่อกันไอน้ำลงไปในไข่ตุ๋น ปิดฝาแล้วหรี่ไฟให้เหลือไฟอ่อน นึ่งประมาณ 15 นาที เพื่อให้ไข่ตุ๋นมีเนื้อเนียนสวย หรือจะกรองไข่หลังตีเสร็จด้วยกระชอนก่อนนำไปนึ่งก็ได้ ถ้าอยากได้รสชาติกลมกล่อม เปลี่ยนจากการใช้น้ำเปล่าเป็นนมสดหรือน้ำข้าว ก็จะได้ไข่ตุ๋นหอมอร่อยยิ่งขึ้นค่ะ
การนึ่งผัก
ผักหลายชนิดมีสารกลูโคซิโนเลต (Glucosinolates) เช่น บรอกโคลี กะหล่ำดอก มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง แต่การต้มผักจะทำลายสารตัวนี้ลงถึง 75% การนำผักไปนึ่งแทนจะช่วยรักษาสารอาหารต่าง ๆ ในผักไว้ได้มากกว่า แม้จะเป็นวิธีที่ดีกว่า แต่ก็ไม่ควรนึ่งผักเกิน 20 นาที เพราะจะทำให้สูญเสียสารอาหารในผักได้เช่นกัน
การนึ่งข้าวเหนียว
วิธีในการนึ่งข้าวเหนียวมี 2 วิธี คือการนึ่งโดยใช้ลังถึงและการนึ่งโดยใช้หวด ก่อนอื่นต้องแช่ข้าวเหนียวอย่างน้อย 30 นาที หากใช้ลังถึงในการนึ่ง ให้ใช้ผ้าขาวบางรองและเกลี่ยข้าวให้ทั่วลังถึง โดยเว้นบริเวณรูของลังถึงให้ไอน้ำสามารถผ่านขึ้นมาได้ นำลังถึงขึ้นตั้งบนหม้อที่ใส่น้ำไว้แล้ว วัดง่าย ๆ หากใช้ลังถึง ให้ใส่น้ำไม่เกินครึ่งหม้อก็พอ ใช้เวลาในการนึ่งประมาณ 20 นาที จากนั้นกลับอีกด้านของข้าวเหนียวขึ้นมา กรณีใช้หวดนึ่ง เติมน้ำในหม้ออย่าให้ถึงก้นหวด ไม่อย่างนั้นข้าวเหนียวจะลงไปจุ่มในน้ำ จากข้าวเหนียวอาจกลายเป็นข้าวต้มได้ ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเช่นกัน แต่จะใช้การกระดกหวดในการพลิกให้ข้าวกลับด้าน แล้วนึ่งต่ออีกประมาณ 15 - 20 นาที เมื่อข้าวเหนียวสุก นำมาเทลงภาชนะ ใช้ช้อนหรือทัพพีคลุกข้าวให้ทั่ว ข้าวเหนียวจะนุ่มเสมอกัน ไม่แฉะด้านใดด้านหนึ่ง หากกลัวข้าวเหนียวสุกไม่ทั่วถึง ก่อนนำข้าวเหนียวไปนึ่ง อย่าอัดข้าวแน่นจนเกินไป
การนึ่งข้าวสวย
เคล็ดลับนี้สำหรับคนที่ไม่อยากใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เพราะการกะตวงสัดส่วนน้ำกับข้าวที่ไม่พอดีเสียที ทำให้ข้าวเกาะตัวกันเป็นก้อนแข็งอย่างกับหิน แค่นั้นยังไม่พอหม้อเจ้ากรรมยังทำข้าวไหม้ รับประทานไม่ได้ไปกว่าครึ่ง เสียดายเปล่า แต่การนึ่งข้าวนั้นไม่ยากเลยตวงง่าย ๆ ตามนี้ค่ะ หากเป็นข้าวใหม่หรือข้าวหอมมะลิ (ข้าวจำพวกนิ่ม ๆ ) ใช้อัตราส่วน ข้าว 1 ถ้วยตวงต่อน้ำ 1 ถ้วยตวง แต่ถ้าหากเป็นข้าวเก่าหรือข้าวเสาไห้ (ข้าวจำพวกแข็ง ๆ ) ใช้อัตราส่วน ข้าว 1 ถ้วยตวงต่อน้ำ 1 1/2 ถ้วยตวง ยิ่งข้าวเก่า ยิ่งต้องใช้น้ำเยอะ เมื่อกะสัดส่วนเสร็จแล้ว ใส่ข้าวกับน้ำไว้ในถ้วยชามที่ทนความร้อนได้ เช่น ชามเซรามิกไม่เคลือบขอบทองหรือพิมพ์ลายนูน ถ้วยอะลูมิเนียมเหมือนข้าวที่ขายเป็นถ้วยตามตลาดนัด นำไปนึ่งในลังถึง ประมาณ 45 นาที ก็จะได้ข้าวสวยร้อน ๆ เม็ดงาม น่ารับประทาน ไม่มีข้าวไหม้ติดก้นหม้อให้รำคาญใจแล้วค่ะ
ข้าวใหม่ หรือ ข้าวเก่า ?
ขอแถมวิธีการสังเกตข้าวใหม่ - ข้าวเก่าให้แม่บ้านมือใหม่เสียหน่อยค่ะ ข้าวใหม่เม็ดจะขาวใส จมูกข้าวไม่แตกหักมาก เมื่อนำไปซาวน้ำ น้ำก็จะค่อนข้างใส ข้าวใหม่ที่หุงสุกจะนิ่มและเหนียวกว่า มีกลิ่นหอมของข้าว เพราะยังมียางอยู่มาก ส่วนข้าวเก่าสีจะออกเหลืองขุ่น มีร่องรอยการแตกหักมาก น้ำที่ซาวข้าวออกมาจะขุ่น ข้าวเก่าที่หุงสุกจะเป็นเม็ดสวย แต่ไม่ค่อยนิ่ม เหมาะแก่การทำข้าวผัด หรือข้าวหมก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนว่าชอบรับประทานข้าวแบบไหนค่ะ