10 วิธีจูงใจให้ลูกรักการอ่าน

หน้าแรก      สาระน่ารู้
ถูกใจ
0    10,817    2    27 ส.ค. 2559 : น.   
แบ่งปัน

ช่วงวันหยุดนี้ คุณลูก ๆ ของคุณพ่อคุณแม่มีกิจกรรมอะไรทำกันบ้าง การอ่านหนังสือหรือแม้แต่การอ่านสิ่งต่างๆ รอบตัวถือเป็นการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ แต่เด็กๆ หลายคนอาจจะยังงอแงโยเยไม่ค่อยชอบอ่าน วันนี้มีวิธีจูงใจให้ลูกรักการอ่านมาฝากกันค่ะ
 
1. เชื่อมโยงการอ่านกับการดำเนินชีวิต แสดงให้ลูกเห็นว่าการอ่านเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ชวนให้ลูกช่วยอ่านสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น รายการอาหาร ฉลากสินค้า ป้ายโฆษณา หนังสือพิมพ์
 
2. อ่านหนังสือให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง ถ้าอยากให้ลูกเริ่มสนใจและรู้จักกับการอ่าน แน่นอนว่าพ่อแม่ก็ต้องอ่านหนังสือให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างก่อนค่ะ อย่างน้อยวันละ 30 นาที
 
3. อ่านหนังสือให้ลูกฟัง  อาจเริ่มจากหนังสือที่มีภาพประกอบใหญ่ๆ เพื่อเปิดให้ลูกได้ดูไปด้วย แล้วค่อยพัฒนาเป็นหนังสือที่มีการผูกเรื่องราวมากขึ้น เนื้อเรื่องสนุกน่าติดตาม จะทำให้ลูกคุ้นเคยและมีความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับหนังสือ จนรู้สึกอยากอ่านหนังสือด้วยตัวเองบ้าง
 
4. จัดห้องสมุดในบ้าน  ลองนำหนังสือทั้งหมดของคนในบ้านมารวมกัน แล้วแบ่งเป็นหมวดหมู่ โดยจัดที่นั่งอ่านให้สบายและมีแสงสว่างเพียงพอ อาจทำป้ายห้องสมุดน่ารักๆ แขวนไว้ โดยต้องให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย เขาจะได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดนี้และอยากเข้ามาหยิบหนังสือไปอ่านมากขึ้น
 
5. พาลูกไปร้านหนังสือ ทำให้ลูกได้พบกับหนังสือมากมายหลายประเภท เพื่อกระตุ้นให้ลูกรู้สึกตื่นเต้นกับการอ่านและรู้สึกอยากอ่านหนังสือขึ้นมา โดยเปิดโอกาสให้ลูกเลือกหนังสือที่อยากอ่านเองก่อน แล้วคุณพ่อคุณแม่ค่อยแนะนำตามความเหมาะสม
 
6. ให้หนังสือเป็นของขวัญ เมื่อให้หนังสือเป็นของขวัญกับลูกในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น วันเกิด วันเด็ก หรือให้เป็นรางวัลเมื่อสอบได้คะแนนดีจะทำให้ลูกรู้สึกว่าหนังสือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและรู้สึกผูกพัน
 
7. เริ่มด้วยหนังสือที่อ่านง่าย เช่น หนังสือนิทานที่มีตัวอักษรใหญ่ มีภาพประกอบเรื่อง คำศัพท์ไม่ยากเกินไปสำหรับลูก เพื่อทำให้การอ่านเป็นเรื่องสนุก ไม่ยากลำบากจนเกินไป ทำให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน
 
8. ใช้เทคนิคการอ่านหลากหลายแบบ เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้กับลูกในการอ่านหนังสือ เช่น

• อ่านแบบนักแสดง : จินตนาการเหมือนว่าตัวเองเป็นตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องนั้น อยู่ในฉาก ในบรรยากาศเหล่านั้น ลูกจะมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับตัวละคร ทำให้ได้รับความคิดความรู้สึกของตัวละครที่ส่งผ่านมายังหนังสือด้วย

• อ่านแบบจิตรกร : ใช้การเชื่อมโยงตัวอักษรที่ได้อ่านให้เกิดเป็นภาพในหัว จะทำให้ลูกจดจำสิ่งที่อ่านได้ดียิ่งขึ้น อาจให้ลูกวาดภาพตัวละครที่ชอบหรือฉากสำคัญของเรื่องลงในกระดาษตามที่ลูกจินตนาการ
• อ่านแบบนักสืบ : ฝึกให้ลูกคิดตามเรื่องที่อ่านอยู่เสมอ จนเกิดความสงสัย อยากตั้งคำถาม เช่น เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไมตัวละครถึงทำแบบนั้น ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร ซึ่งพ่อแม่จะร่วมตั้งคำถามกับลูกด้วยก็ได้
 
9. ให้ลูกเล่าเรื่องที่อ่านให้ฟัง : คอยถามลูกเสมอ ๆ ว่าอ่านเรื่องอะไรไปบ้าง เรื่องราวเป็นอย่างไร หรือมอบหมายให้ลูกอ่านหนังสือแล้วมาเล่าให้น้องฟัง ให้คุณปู่คุณย่าฟัง จะทำให้ลูกมีเป้าหมายในการอ่าน อ่านอย่างมีสมาธิ ตั้งใจอ่าน อ่านอย่างละเอียดและพยายามจดจำเรื่องราวมากขึ้น
 
10. อ่านซ้ำเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญ : ถ้าลูกสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษก็พยายามให้ลูกอ่านเรื่องนั้นซ้ำ ๆ อ่านบ่อย ๆ จนมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นดีเป็นพิเศษ จะช่วยทำให้เขารู้สึกภูมิใจในตัวเองด้วย
 

 
สาระน่ารู้อื่นๆ