ซื้อมาเผื่อ-ซื้อมาเก็บ-สุดท้ายทิ้ง! นักกำหนดอาหาร ชวนคนไทยตั้งเป้าหมาย เลิกสร้าง Food Waste ในปี 2025 ชี้แค่กินให้พออิ่ม คิดดี ๆ ก่อนซื้อ ได้ทั้งสุขภาพ-ช่วยโลกยั่งยืน

0    10    0    23 ธ.ค. 2567 17:58 น.   
แบ่งปัน
เคยเป็นกันไหม ซื้อของเข้าบ้านทุกอาทิตย์ สั่งอาหารอร่อย ๆ มาเผื่อไว้กินพรุ่งนี้ แต่สุดท้าย ของดี ๆ กลับต้องไปลงเอยในถังขยะ นี่คงเป็นปัญหาที่หลายคนรู้สึกผิดอยู่ในใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นการผลาญเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการสร้างขยะอาหาร (Food Waste) จำนวนมหาศาล ซึ่งปัจจุบัน Food Waste ถือเป็นวิกฤตอาหารที่กำลังทวีความรุนแรงในสังคมไทย วันนี้ นางสาวธารินี จันทร์คง นักกำหนดอาหารวิชาชีพ โรงพยาบาลวิมุต จะมาชวนคนไทยลด-ละ-เลิกพฤติกรรมสร้าง Food Waste พร้อมตั้งปณิธานที่จะเปลี่ยนตนเองเป็นคนใหม่ที่กินอาหารอย่างพอดี ใส่ใจสุขภาพ และดูแลโลกไปพร้อมกันในปีใหม่นี้

ตัวเลขช็อก! คนไทยทิ้งอาหารติดอันดับสองในอาเซียน
รายงานล่าสุดจาก Food Waste Index 2024 ของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (UNEP) เปิดเผยตัวเลขที่
น่าตกใจ โดยรายงานว่าคนไทยสร้างขยะอาหารเฉลี่ยถึง 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นประมาณวันละ 240 กรัม ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกประเทศลดปริมาณขยะอาหารลง 50% ภายในปี 2030
 
แก้ปัญหา Food Waste ต้องเริ่มที่ “ผู้บริโภค”
นางสาวธารินี จันทร์คง เผยว่าในห่วงโซ่อาหารทั้งหมด ผู้บริโภคคือผู้สร้างขยะอาหารมากที่สุด "ขยะอาหารเกิดจากทั้งในครัวเรือนและการกินอาหารนอกบ้าน ซึ่งพฤติกรรมที่พบบ่อยคือ การกินอาหารไม่หมดจาน การตักอาหารหรือสั่งอาหารมากเกินไปตอนหิว และการเตรียมอาหารเกินพอดีเวลามีแขกหรืองานเลี้ยง นอกจากนี้ การซื้อวัตถุดิบมากักตุนโดยไม่มีการวางแผนการใช้ที่ดี ก็ทำให้อาหารเน่าเสียและกลายเป็นขยะในที่สุด"
 
โภชนาการตามวัย กินอย่างไรให้พอดี-ไม่เกิดขยะอาหาร
การรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับวัยไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่ยังช่วยลดการทิ้งอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยสารอาหารหลักที่จำเป็น คืออาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ส่วนสารอาหารรอง ได้แก่ วิตามินและเกลือแร่ มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ โดยนักกำหนดอาหารวิชาชีพ รพ. วิมุต  อธิบายว่า “แต่ละช่วงวัยมีความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกัน สำหรับเด็กวัยเรียน ควรได้รับอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี โดยแนะนำข้าว-แป้ง 6-8 ทัพพี, ผัก 4 ทัพพี, ผลไม้ 3 ส่วน, เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว และนม 2-3 แก้วต่อวัน ส่วนวัยทำงานควรได้รับพลังงาน 1,600-2,400 กิโลแคลอรี
ต่อวัน แบ่งเป็นข้าว-แป้ง 8-12 ทัพพี, ผัก 6 ทัพพี, ผลไม้ 4-6 ส่วน, เนื้อสัตว์ 6-12 ช้อนกินข้าว และนม 1 แก้ว โดยควบคุมน้ำตาล น้ำมัน ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา ส่วนผู้สูงอายุ ควรเลือกอาหารที่ย่อยง่าย เน้นข้าวไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน โดยเฉพาะปลาและไข่ รวมถึงผักใบเขียวที่มีแมกนีเซียมสูง ดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน และควรได้รับพลังงาน 1,400-1,800 กิโลแคลอรี ตามระดับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน
 
วางแผนการกิน เรื่องง่ายๆ ที่ได้สุขภาพ-ช่วยโลก
การเลือกกินอย่างเหมาะสมและพอดี จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดขยะอาหารได้ โดยเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การวางแผนการเลือกซื้ออาหารและดูวันหมดอายุก่อนซื้อ ไม่ตุนอาหารมากเกินจำเป็น หากเราซื้อวัตถุดิบมากักตุนไว้นานและมากเกินไปจนกินไม่ทัน สุดท้ายวัตถุดิบเหล่านั้นก็หมดอายุและต้องทิ้งจนกลายเป็นขยะอาหาร และควรกินอาหารให้หมดจาน โดยเริ่มตั้งแต่ควบคุมปริมาณอาหาร อย่าตักมามากเกินไป หรือสั่งอาหารเกินที่จะกินไหว นอกจากนี้ การกินอย่างยั่งยืน (Sustainable Food) ก็ยังช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อีกทาง เช่น เปลี่ยนมาทานอาหารที่เน้นพืชหรือ Plant-based ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากการผลิตเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูปมีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูง ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากรในการเลี้ยงสัตว์
 
"แม้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจดูเหมือนยาก แต่เราสามารถเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ เช่น กินให้หมดจาน ซื้ออาหารแต่พอดี และเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย" นางสาวธารินี จันทร์คง กล่าว และเสริมว่า “1 ใน 3 ของอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันถูกทิ้งเสียไปโดยไม่จำเป็น หากทุกคนร่วมกันตระหนักในเรื่องนี้และหันมาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เราก็จะได้มีสุขภาพที่ดีและช่วยโลกลดขยะไปในตัวด้วย"
 
ผู้ที่สนใจปรึกษาเรื่องโภชนาการและการดูแลสุขภาพ สามารถปรึกษานักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลวิมุต โทรนัดหมายได้ที่ 02-079-0000 หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT App คลิก https://bit.ly/372qexX
 
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ