ซีพีเอฟ จับมือภาครัฐ-ชุมชนสานต่อโครงการปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ประสานความร่วมมือภาครัฐและชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศแล้วมากกว่า 10,000 ไร่ ร่วมบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจควบคู่กับให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน อนุรักษ์ ฟื้นฟู ปลูกป่าเพิ่มเติม ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศได้มากกว่า 10,000 ไร่ ผ่านการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง อนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก 5,971 ไร่ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน 2,388 ไร่ และโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการไปแล้วรวม 1,720 ไร่
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง และจิตอาสาซีพีเอฟรวม 300 คน จะร่วมแรงกันซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำ รักษาความชุ่มชื้นของดินและผืนป่า เป็นกิจกรรมที่ซีพีเอฟติดตามและดูแลป่าอย่างต่อเนื่อง ในโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ระยะเวลาของโครงการ 5 ปี(ปี 2559-2563) และปีนี้เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว เป็นต้นแบบการปลูกป่าให้กับผืนป่าอื่นๆของประเทศ ในรูปแบบ “ปลูกป่าแบบย่นระยะเวลาในการปลูก”เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 38,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นายวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟเตรียมขยายผลการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ที่จะดำเนินระยะที่ 2 (ปี 2564-2568) โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ระยะที่ 2 ซึ่งจะขยายพื้นที่ฟื้นฟูและอนุรักษ์ในพื้นที่อ่าวไทยตัว ก พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงงานและฟาร์มของบริษัททั่วประเทศ ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2558 โดยโรงงานและฟาร์มของซีพีเอฟได้เข้าร่วมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือโครงการ LESS (Low Emission Support Scheme) ที่ดำเนินการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ด้วยการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากการปลูกต้นไม้
“ซีพีเอฟดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นมีส่วนร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ และให้ความสำคัญต่อเป้าหมายด้านความยั่งยืน อาทิ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs)” นายวุฒิชัยกล่าว
นอกจากนี้ ซีพีเอฟต่อยอดโครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เช่น โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน ซึ่งซีพีเอฟร่วมกับ บ.โลคอล อไลค์ ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และที่ ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง ช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งร่วมดูแลป่าชายเลนให้ยั่งยืนต่อไป รวมทั้งล่าสุด ได้ทำโครงการส่งเสริมการปลูกผักปลอดสาร เพื่อให้ชุมชนที่อาศัยในหมู่บ้านต่างๆรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี ปลูกผักปลอดสารไว้บริโภค หรือหากผลผลิตมีจำนวนมากก็สามารถนำมาแบ่งปัน หรือขายในตลาดของชุมชน เป็นการสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืนของชุมชน
ลุงน้อย สลุงอยู่ วัย 63 ปี ชาวบ้านหมู่ 9 ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ซึ่งมีอาชีพทำการเกษตรและปลูกผักสวนครัว เข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดสาร เล่าว่า ซีพีเอฟสนับสนุนถังเก็บน้ำและอุปกรณ์น้ำหยดให้ ซึ่งช่วยในเรื่องการเพาะปลูกได้มากโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ลุงน้อยบอกด้วยว่า การเข้าร่วมกิจกรรมซ่อมแซมฝายชะลอน้ำในครั้งนี้ เป็นการร่วมกิจกรรมกับซีพีเอฟเป็นครั้งแรก แต่รู้สึกประทับใจ เพราะรู้ว่าซีพีเอฟเข้ามาช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ รู้สึกดีใจที่ผืนป่าแห่งนี้กลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ได้จริงอีกครั้ง และอยากเห็นพื้นที่ป่าในประเทศของเราเยอะๆ
น้ำเพชร กรตุ้ม วัย 27 ปี ชาวบ้านหมู่ 11 ต.โคกสลุง เล่าว่า บ้านของเธออยู่ห่างจากพื้นที่เขาพระยาเดินธงประมาณ 2 กิโลเมตร ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าเพราะไม่มีเวลา แต่ได้ทราบว่าซีพีเอฟมาช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าเขาพระยาเดินธง หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดสาร ทางซีพีเอฟพาไปดูป่าที่ได้รับการฟื้นฟู ดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าจากสภาพที่เราเห็นแต่โขดหิน ป่าแห้งแล้ง ตอนนี้เป็นป่าเขียวชะอุ่ม ดีใจที่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ป่าซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ