กระทรวงดิจิทัลฯ จับมือหัวเว่ย เสริมแกร่งโรงพยาบาลสนาม ด้วยนวัตกรรมการติดต่อสื่อสาร
ช่วยบุคลากรทางการแพทย์รับมือโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมกำลังภาคสาธารณสุขประเทศไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาลสนามที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พร้อมเพิ่มความปลอดภัยในแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ให้แก่โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ประกอบด้วย นวัตกรรมการสื่อสารทางไกล 5G เพื่อการแพทย์ (5G Telemedicine) ระบบบริหารจัดการผู้ป่วยอัจฉริยะ (Inpatient area Intelligent Management) และระบบโครงข่ายวิทยุสื่อสารไร้สายบรอดแบนด์ eLTE (eLTE broadband trunking) โดยใช้ Idea Hub เป็นศูนย์กลางการดำเนินการโซลูชันทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6 ล้านบาท โดยนวัตกรรมเหล่านี้จะเพิ่มศักยภาพในการจัดการโครงข่ายการสื่อสารของบุคลากรในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ยกระดับประสิทธิภาพในการรับมือกับโรคระบาดอย่างเต็มที่ ตอกย้ำหนึ่งในพันธกิจของหัวเว่ยในการมีส่วนร่วมสร้างคุณค่าให้แก่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์ที่ยังคงมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องทำงานกันอย่างเต็มที่ รวมไปถึงระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานซึ่งรวมถึงสถานพยาบาลในประเทศไทยที่ต้องถูกนำมาใช้งานเพื่อรักษาผู้ป่วยในขณะนี้จนใกล้ถึงขีดจำกัด ทางภาครัฐและภาคสาธารณสุขจึงร่วมมือกันจัดตั้งโรงพยาบาลสนามอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 ทั่วประเทศไทย รวมถึงโรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน จังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่สามารถรองรับจำนวนคนไข้ได้เป็นจำนวนถึง 1000 เตียง ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับภาคสาธารณสุขในประเทศไทย เพื่อรับมือกับความท้าทายจากเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรด้านเครื่องมือแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และสถานพยาบาล เพราะสถานการณ์โรคระบาด กระทรวงดิจิทัลฯ จึงเร่งรุดหน้านำนวัตกรรมจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่างหัวเว่ย เพื่อใช้ในภารกิจรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวถึงความร่วมมือกับหัวเว่ยประเทศไทย ในครั้งนี้ว่า “ภาครัฐได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานในด้านการบริหารประเทศและการบริการประชาชน ซึ่งรวมไปถึงการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ตามนโยบายเร่งด่วนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยทางกระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนทั้งในด้านสุขภาพและการติดต่อสื่อสารในช่วงสถานการณ์แพร่กระจายของโควิด-19 ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากกระทรวงฯ และบมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มอบระบบสื่อสารให้กับโรงพยาบาลสนามบางขุนเทียนแล้ว ทางกระทรวงฯ ยังได้เล็งเห็นศักยภาพของการนำเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกของหัวเว่ย ที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและทีมงานเข้ามาสนับสนุน นำนวัตกรรมโซลูชันด้านการแพทย์ระดับโลกมาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานและอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ไทยและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องขอบคุณ หัวเว่ยเทคโนโลยี่ ประเทศไทย เป็นอย่างมากที่ให้ความร่วมมือเต็มที่และสามารถติดตั้งโซลูชันทั้งหมดได้ในระยะเวลาเพียง 2 วันเท่านั้น”
นายแพทย์ศุภรัช สุวัฒนพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี เพื่อช่วยในงานของโรงพยาบาลสนามว่า “ทางโรงพยาบาลต้องขอขอบคุณกระทรวงดิจิทัลและบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย ที่ได้ร่วมนำนวัตกรรมเทคโนโลยีและโครงข่ายด้านการติดต่อสื่อสารเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ สถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาด ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมสำหรับการช่วยคัดกรองอาการไข้ การบริหารจัดการและควบคุมพื้นที่ เนื่องจากโรงพยาบาลสนามมีภารกิจที่ต้องดูแลผู้ป่วยมากถึง 1,000 เตียง ซึ่งถือว่ามากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการในเรื่องเหล่านี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ผมมั่นใจว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนทางการแพทย์ จะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้”
ด้านนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในขณะนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นตัวช่วยสำคัญของ
ภาคสาธารณสุขในการรับมือกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนทางการแพทย์ และในฐานะที่บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่
(ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เป็นพาร์ทเนอร์ด้าน ICT ที่ได้รับความไว้วางใจในประเทศไทย หัวเว่ยมี
ความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ สถานพยาบาล และทีมบุคลาการทางการแพทย์ในการรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โดยเราได้ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าติดตั้งระบบโซลูชันที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรภาพของการสื่อสาร เช่น
นวัตกรรมการสื่อสารทางไกล 5G เพื่อการแพทย์ (5G Telemedicine) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมทั้งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับบุคลากรการแพทย์
ระบบโครงข่ายวิทยุสื่อสารไร้สายบรอดแบนด์ eLTE (eLTE broadband trunking) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรภาพของการสื่อสารในด้านการประสานงานในช่วงเวลาสำคัญผ่านโครงข่ายไร้สายแบบบรอดแบนด์แบบเฉพาะ (Private network) ที่สามารถทำการสื่อสารผ่าน ภาพ เสียง วีดีโอ และแสดงพิกัด (Location service) ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ผ่านโครงข่ายวิทยุไร้สาย eLTE ซึ่งสามารถทำงานโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายของผู้ให้บริการ (Public network) หลีกเลี่ยงความแออัดจากการใช้งานโครงข่าย (traffic congestion) ของประชาชน นอกจากนี้เรายังติดตั้ง
ระบบบริหารจัดการผู้ป่วยอัจฉริยะ (Inpatient area Intelligent Management) เพื่อส่งเสริมการจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที และลดภาระการทำงานให้แก่บุคลากรในพื้นที่ นวัตกรรมเหล่านี้ทำงานบนเครือข่าย 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แพทย์ ช่วยป้องกันให้กับบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาลสนาม และช่วยทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันของไทยดีขึ้น”
ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการช่วยรับมือสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยด้วยนวัตกรรมชั้นนำต่าง ๆ ของบริษัท โดยหัวเว่ยได้มอบหน้ากากอนามัยจำนวน 500,000 ชิ้น เพื่อร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19ในไทย ส่งมอบระบบวิดีโอ เทเลคอนเฟอเรนซ์แบบเรียลไทม์เพื่อการแพทย์ (Huawei Telemedicine Video Conferencing Solution) ให้แก่กรมควบคุมโรคและโรงพยาบาลในประเทศไทย รวม 7 ชุด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่บุคลากรการแพทย์ รวมทั้งส่งมอบโซลูชันผู้ช่วย AI วิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณสำหรับรายงานผลตรวจภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) โควิด-19 ซึ่งทำงานบนเทคโนโลยี Cloud และ 5G ของหัวเว่ยให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานให้แก่บุคลากรในเวลานั้นอีกด้วย