เมื่อเดือนก่อนในช่วงเทศกาลกินเจร้านอาหารต่าง ๆ ต่างก็งัดเมนูอาหารออกมาแข่งกันมากมาย โดยเฉพาะเมนูอร่อยจาก
“เต้าหู้ยี้” ที่เห็นมีมากจนไม่คิดว่าไอ้เจ้าก้อนเต้าหู้สีแดง ๆ นี่จะสามารถทำเมนูอาหารได้หลายชนิดขนาดนี้ เต้าหู้ยี้ นับเป็นอาหารจีนอีกชนิดหนึ่ง ที่ได้มาจากการนำเต้าหู้ขาวไปหมักกับเกลือและเครื่องเทศต่าง ๆ มีรสเค็ม และสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด
จุดกำเนิดของเต้าหูยี้ตามตำนานจีนเล่าว่ามาจากหนุ่มชาวจีนที่ชื่อว่า หวังจื้อเหอ ที่เดินทางไปยังเมืองหลวงเพื่อไปสอบเข้ารับราชการ แต่ไม่สามารถสอบเข้ารับราชการได้ จึงตัดสินใจขายเต้าหู้เพื่อเป็นการหาเงินเลี้ยงตัวเอง และรอเพื่อที่จะสอบในครั้งต่อไป และในฤดูร้อนของวันหนึ่งเต้าหู้ที่ขายเกิดเหลือ จะนำไปทิ้งก็เสียดายของ จึงได้หาวัตถุดิบง่าย ๆ อย่างเกลือและพริกมาหมักเต้าหู้ไว้ในไห จนกระทั่งถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วงเขาพึ่งนึกขึ้นได้ว่าได้หมักเต้าหู้ไว้ เมื่อเปิดออกดูจึงพบว่าเต้าหู้เหล่านั้นมีราขึ้นเต็มไปหมด จะทิ้งก็เสียดายอีกเลยลองชิมดู ปรากฎว่ารสชาติเต้าหู้นั้นดีอย่างไม่น่าเชื่อ เขาจึงนำไปให้เพื่อนบ้านได้ลองชิม ทุกคนต่างก็ชื่นชมว่ารสชาติดีเช่นเดียวกัน หวังจื้อเหอจึงล้มเลิกความตั้งใจสอบเข้ารับราชการ แล้วหันมาทำเต้าหู้หลากหลายชนิดขายแทน จนกระทั่งกลายเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศจีนนั่นเอง
สำหรับการทำเต้าหู้ยี้นั้นมีหลายวิธีด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดเต้าหู้ยี้ที่มีสี กลิ่น และชนิดต่างกันออกไป อาทิ เต้าหู้ยี้ข้าวหมัก (Drunk Sufu) เกิดจากการเติมไวน์หรือข้าวหมัก เต้าหู้ยี้สีแดง (Red Sufu) เกิดจากการเติมข้าวแดง เต้าหู้ยี้เผ็ด (Kwantung Sufu) เกิดจากการเติมพริกแดง ข้าวแดง และยี่หร่า เต้าหู้ยี้หอม (Tsao Sufu) เกิดจากการเติมกานพลูและเปลือกส้ม สุดท้ายคือ เต้าหู้ยี้เหลือง ที่เกิดจากการเติมเต้าเจี้ยว
ใครจะรู้บ้างว่าในเต้าหู้ยี้อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย อาทิ โปรตีนที่มีกรดอะมิโนที่จำเป็นครบทุกชนิด มีไขมันที่ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวและยังมีเกลือแร่ เหล็ก และโพแทสเซียม ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูก มีธาตุเหล็กช่วยบำรุงโลหิต และมีวิตามิน A, B1, B2, D, E, K และไนอะซิน ซึ่งประโยชน์เหล่านี้จึงทำให้เต้าหู้ยี้กลายเป็นอาหารที่ชาวจีนนิยมมาตั้งแต่ยุคโบราณ
สำหรับที่บ้านเราเมนูจากเต้าหู้ยี้ที่รับประทานเป็นประจำคือ ยำเต้าหู้ยี้ โดยการนำเต้าหู้ยี้มาทอดจนกรอบ จากนั้นซอยหอมแดงและพริกขี้หนูให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ โรยลงบนเต้าหู้ยี้ ปิดท้ายด้วยการบีบมะนาวลงไปเล็กน้อย รับประทานพร้อมกับข้าวสวยหรือข้าวต้มเท่านี้ก็อร่อยแล้ว แต่บางครั้งเต้าหู้ยี้ก็ถูกนำมาปรุงอาหารตามใจอยากของคุณยาย โดยการนำเนื้อหมูสามชั้นมาหั่นชิ้นโต แล้วรวนกับกระทะจนน้ำมันแตก จากนั้นจึงใส่เต้าหู้ยี้ลงไปผัดด้วย ได้เป็นหมูสามชั้นรวนเต้าหู้ยี้ รสชาติเค็ม ๆ มัน ๆ อร่อยไปอีกแบบ ส่วนที่ฉันชอบมากที่สุดคือการนำเต้าหู้ยี้มาผัดรวมกับข้าว หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว ใส่ผักได้ตามใจชอบ รสชาติจะออกเค็มหน่อย ๆ และมีกลิ่นหอมยั่วน้ำลายดีแท้
รากบัวตุ๋นไก่ใส่เต้าหู้ยี้
ส่วนผสม
สะโพกไก่ติดน่อง 2 ชิ้น
เต้าหู้ยี้สีน้ำตาลอ่อน 3 ก้อน
น้ำเต้าหู้ยี้ 2 ช้อนโต๊ะ
พริกขี้หนูแห้ง 3 เม็ด
ต้นหอมหั่นท่อนยาว 3 ต้น
กระเทียมจีนทุบพอแตก 3 กลีบ
ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนชา
รากบัวปอกเปลือกหั่นชิ้น 150 กรัม
น้ำเปล่า 4 ถ้วยตวง
น้ำมันพืช
วิธีทำ
1. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชพอร้อน ใส่สะโพกไก่ลงทอดพอเหลือง ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมันและเย็นสนิท
2. ต้มน้ำเปล่าพอเดือด ใส่ไก่ที่ทอดไว้ ตามด้วยรากบัว เต้าหู้ยี้ น้ำเต้าหู้ยี้ ซอสเห็ดหอม พริกขี้หนูแห้ง ต้นหอม และกระเทียมจีน
3. พอเดือดอีกครั้งเบาไฟ ตุ๋นจนไก่นุ่ม รสชาติกลมกล่อม ตักใส่ภาชนะ จัดเสิร์ฟ
กุ้งลวกยำเต้าหู้ยี้
ส่วนผสม
กุ้งสด 8-10 ตัว
เต้าหู้ยี้สีน้ำตาลอ่อน 3 ก้อน
เต้าหู้ยี้สีแดง 2 ก้อน
ตะไคร้ซอย 2 ช้อนโต๊ะ
หอมแดงซอย 2 ช้อนโต๊ะ
ใบมะกรูดซอย 1 ช้อนชา
ขิงซอย 1 ช้อนโต๊ะ
พริกขี้หนูสวนซอย 2 ช้อนชา
น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา
ใบสะระแหน่
น้ำเปล่า
วิธีทำ
1. ต้มน้ำเปล่าพอเดือด ใส่กุ้งลงลวกพอสุก ตักขึ้น
2. ผสมน้ำมะนาว น้ำตาลทราย คนให้ละลาย
3. จัดกุ้งลวกและเต้าหู้ยี้ใส่จาน โรยตะไคร้ หอมแดง ใบมะกรูด ขิง พริกขี้หนู และใบสะระแหน่
4. ราดน้ำยำในข้อที่ 2 จัดเสิร์ฟ
โซบะผัดเบคอนเต้าหู้ยี้
ส่วนผสม
เส้นโซเมงชนิดแห้ง 100 กรัม
เบคอนหั่นชิ้น 100 กรัม
กะหล่ำปลีหั่นชิ้น 100 กรัม
เต้าหู้ยี้สีแดง 3 ก้อน
น้ำตาลทราย 1 1/2 ช้อนชา
กระเทียมหั่นชิ้นบาง 5 กลีบ
พริกชี้ฟ้าแห้งหั่นแฉลบ 2 เม็ด
ไข่ไก่ 1 ฟอง
น้ำเปล่า 3-4 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันพืชเล็กน้อย
วิธีทำ
1. ต้มน้ำเปล่าพอเดือด ใส่เส้นโซเมงลงต้มประมาณ 4-5 นาที เทใส่ตะแกรง ล้างผ่านน้ำเย็น ใส่ตะแกรงพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
2. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชพอร้อน ใส่เบคอนลงผัดพอเหลือง ตักเบคอนขึ้น
3. ใส่กระเทียมลงผัดพอเหลือง ใส่เต้าหู้ยี้ น้ำตาลทราย และน้ำเปล่า ผัดพอเดือด
4. ใส่ไข่ไก่ ผัดพอเริ่มสุก ใส่กะหล่ำปลีและเส้นโซเมงลงผัดให้เข้ากัน
5. โรยเบคอนและพริกชี้ฟ้าแห้ง ผัดให้เข้ากันอีกครั้ง จัดเสิร์ฟ
เรื่อง / เด็กหลังเตา
ภาพ / ชุลีภรณ์