บ้านน้ำเชี่ยว ตั้งอยู่ใน อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เป็นหมู่บ้านที่ได้รับเลือกให้เป็น “หมู่บ้าน OVC” (OTOP Village Champion) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รวมถึงรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยดีเด่นจากากรท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่ติดทะเล และป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะเป็นแหล่งที่ตั้งของชุมชน
ก่อนหน้านี้ชาวน้ำเชี่ยวมีเพียงคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ต่อมามีพ่อค้าชาวจีนล่องเรือสำเภามาค้าขายสินค้าจนตั้งรกรากอยู่ที่นี่ ทำให้ชาวน้ำเชี่ยวส่วนหนึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีน มาถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีชาวมุสลิมซึ่งเรียกตัวเองว่า “แขกจาม หรือ จำปา” อพยพหนีสงครามมาจากประเทศเขมร มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ริมคลองน้ำเชี่ยว และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ปัจจุบันชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่อยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา นอกจากนั้นแล้วยังมีอาหารการกินค่อนข้างหลากหลาย จึงไม่แปลกนักที่จะมีเมนูพิเศษซึ่งเราไม่คุ้นตา
กิจกรรมน่าสนใจของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวคือ การนั่งเรือของชุมชนไปถึงปากอ่าว แล้วลงไปงม
“หอยปากเป็ด” หอยชนิดนี้พบเห็นได้ไม่บ่อยนักในบ้านเรา แต่จะมีมากที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว หอยปากเป็ดจะมีเปลือกสีน้ำตาล มีลักษณะแบนคล้ายปากเป็ด ลำตัวยาวใส ๆ สามารถนำมาทำอาหารได้หลายชนิด แต่ที่นิยมกันคือ
ผัดเผ็ดหอยปากเป็ด ถ้าใครได้มาบ้านน้ำเชี่ยวต้องไม่พลาดสำหรับเมนูนี้
นอกจากนั้นยังมีของว่างกินเพลินที่เรียกว่า
“ข้าวเกรียบยาหน้า” เป็นของโบราณของชาวมุสลิม ประกอบไปด้วย น้ำตาลอ้อย มะพร้าว กุ้ง และแผ่นแป้ง โดยแผ่นแป้งนี้จะทำจากแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน และน้ำผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำไปนึ่งเป็นแผ่น ๆ คล้ายกับข้าวเกรียบปากหม้อ แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง เมื่อจะรับประทานก็นำมาย่างบนเตาถ่านจนสุก แล้วทาด้วยน้ำตาลอ้อยที่เคี่ยวจนกลายเป็นคาราเมล ปิดท้ายด้วยการโรยไส้มะพร้าว ซึ่งทำจากกุ้ง มะพร้าวขูด แคร์รอต พริกไทย รากผักชี เกลือ ตำเข้ากันให้ละเอียด กลายเป็นเมนูของว่างกินเพลิน ๆ ของดีประจำชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว