เก็บขวดไว้แล้วเอาไปเติมของใช้ที่ ZeroMoment Refillery

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
2,800    5    -4    26 ต.ค. 2562 15:24 น.
แบ่งปัน
       คุณเริ่มต้นดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างไร สำหรับฉันเริ่มจากพกถุงผ้าไว้ในกระเป๋า เอาไว้ใส่ของที่ซื้อใหม่ในแต่ละวัน พกแก้วน้ำ สำหรับใส่เครื่องดื่มต่าง ๆ ที่ซื้อนอกบ้าน พกช้อน-ส้อมไว้ในกระเป๋า เพื่อกินอาหารที่ซื้อระหว่างทาง และที่กำลังทำอยู่ตอนนี้คือการแยกขยะในบ้าน เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ ซองบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง เพราะทุกอย่างไม่ควรใช้เพียงแค่ครั้งเดียว

เชื่อว่าคุณแม่บ้านหลายคนมี ขวด กระปุก หรือบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างแน่นอน เตรียมล้างให้สะอาดได้เลยค่ะ (รวมถึงของฉันเองด้วย) เพราะครั้งนี้เราพามาทำความรู้จักกับ ZeroMoment Refillery ที่ที่คุณสามารถนำบรรจุภัณฑ์มาใส่ของใช้ต่าง ๆ เองได้ในปริมาณตามต้องการ อย่าง น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ของใช้ส่วนตัว สบู่เหลว แชมพู ครีมนวด โลชั่น หรือจะเป็นเครื่องปรุงรส อาทิ ซอสต่าง ๆ น้ำปลา น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ รวมถึงอาหารแห้งจำพวก ข้าวสาร เส้นพาสต้า ถั่วต่าง ๆ ผลไม้อบแห้ง ฯลฯ โดยลูกค้าที่มาใช้บริการจะมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะบนโลก
 

ภายในร้านสีขาวสะอาดตาตัดกับสีฟ้าสดใสด้านนอก ช่วยเพิ่มจุดเด่นให้เห็นแต่ไกล “ร้านนี้เปิดมาได้เกือบ 1 ปีแล้วค่ะ” คุณเมี่ยว-ฤดีชนก จงเสถียร บอกกับฉันเมื่อเราเริ่มพูดคุยกัน “เราได้ไอเดียการเปิดร้านมาจากยุโรปค่ะ เขามีไลฟ์สไตล์แบบนี้กันอยู่แล้ว คือคนที่นั่นพกขวดหรือแก้วเป็นเรื่องปกติเลย แต่สำหรับบ้านเรายังไม่ค่อยมีร้านแบบนี้ เราก็เลยอยากลองทำดู ซึ่งเราต้องหาข้อมูลสินค้าที่จะนำมาขายค่อนข้างเยอะทีเดียว เราจะเลือกสินค้าที่เป็นของไทยก่อน และเป็นของที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน จากนั้นก็ติดต่อขอซื้อสินค้าในปริมาณที่มากกว่าปกติ ทำให้ได้ราคาต่ำกว่าท้องตลาด เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องบรรจุภัณฑ์”
 
 

สิ่งที่ยากไม่ใช่การเลือกของมาขาย แต่เป็นการอธิบายให้ผู้ซื้อเข้าใจถึงคอนเซ็ปต์ของร้าน “ช่วงแรกที่เปิดลูกค้าจะเข้ามาถามว่าตกลงเราขายอะไร (หัวเราะ) เราก็อธิบายให้ลูกค้าฟังทีละคนว่าสิ่งที่เราขายคืออะไรบ้าง รวมถึงวิธีการใช้บริการ และเมื่อเขาเข้าใจแล้วครั้งต่อไปก็จะนำบรรจุภัณฑ์มาใส่เอง แต่ทางร้านก็มีบรรจุภัณฑ์จำหน่ายเหมือนกันสำหรับผู้ที่ไม่ได้เตรียมมา แต่ใจจริงแล้วเราก็อยากให้นำมาเองมากกว่า จะเป็นขวดพลาสติกใส่น้ำที่ขายกันทั่วไปก็ได้ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ของใช้นั้น ๆ อยู่แล้ว อย่างขวดใส่แชมพู ครีมนวดผม แต่เราขออย่างเดียวคือต้องล้างมาให้สะอาดเท่านั้น สำหรับขั้นตอนก็ไม่ยากค่ะ แค่นำบรรจุภัณฑ์ (เปล่า) ไปชั่งน้ำหนักที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ จากนั้นก็ตักหรือตวงสินค้าตามต้องการ แล้วเขียนรหัสสินค้าลงบนบรรจุภัณฑ์ (ใช้ปากการของเราซึ่งจะลบได้ค่ะ ไม่ต้องกังวลว่าขวดจะเป็นรอย) แล้วนำไปชั่งอีกครั้งเคาน์เตอร์แคชเชียร์ เราจะทำการหักลบน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ แล้วคิดราคาสินค้าออกมาตามจริงค่ะ”
 

เราสามารถซื้อของได้ตั้งแต่ราคาไม่ถึง 1 บาท “มีลูกค้าหลายคนที่มาซื้อเครื่องปรุงในปริมาณที่เขาต้องการทำแต่ละมื้อเท่านั้น ซึ่งเราก็จะขายเป็นกรัม แล้วแต่ว่าสินค้านั้นจะกรัมละเท่าไร อย่างล่าสุดคือซีอิ๊วดำเค็ม ราคาไม่ถึง 2 บาท เรามองว่ามันไม่ได้ช่วยแค่ให้เรานำบรรจุภัณฑ์มาใช้ซ้ำเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการช่วยไม่ให้คนซื้อหรือใช้ของเกินความจำเป็นด้วย บางคนอยู่คนเดียว การทำอาหารแต่ละมื้อจึงปรุงไม่เยอะมาก จะให้ซื้อเครื่องปรุงแบบเต็มขวดก็คงใช้ไม่ทัน ทำให้เน่าเสียจนต้องทิ้งกันไปก็มี หรือบางคนอาจจแค่อยากลองก่อนว่าสินค้าตัวนี้เหมาะกับเราหรือเปล่า อย่าง แชมพูสระผม สามารถซื้อในปริมาณที่น้อยเพื่อทดลองใช้ก่อนก็ได้เช่นกัน”

การใช้ชีวิตแบบ Zero Waste ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่เส้นทางที่ทำได้ง่าย “ส่วนตัวก็มองว่ามันไม่ง่ายนะ เพราะบางอย่างเราก็ยังต้องใช้ แต่ถ้าช่วยอะไรได้ก็อยากทำดู เราไม่ได้บอกว่าคุณต้องไม่สร้างขยะเลยนะ เพราะมันยากที่จะทำ แต่ค่อย ๆ ทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าทำได้ คิดว่าง่ายและไม่ลำบากจนเกินไป แล้วมันจะเกิดความเคยชินจนกลายเป็นชีวิตประจำวันในที่สุด ตอนแรกที่เปิดร้านเรายังคิดเลยว่าลูกค้าที่มาคงต้องเป็นกลุ่มที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่กลับไม่ใช่เลย เพราะเมื่อลูกค้าเริ่มรู้แล้วว่าเราขายอะไร และวิธีการใช้บริการเป็นอย่างไร ลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ ก็เข้ามา อย่างคุณพ่อบ้านคุณแม่บ้าน นักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ รวมถึงกลุ่มที่ต้องการซื้อของในปริมาณตามต้องการจริง ๆ” 
 

ZeroMoment Refillery ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง “เราอยากให้ร้านตอบโจทย์ลูกค้าทุกคน ช่วงแรกที่เปิดเราไม่ได้มีสินค้ามากขนาดนี้ แต่ตอนนี้มีมากขึ้น จากคำบอกกล่าวของลูกค้า อย่าง “ลองเอาอันนี้มาขายซิ พี่ใช้อยู่ ดีนะ” แต่เราก็ไม่ได้ว่าจะนำของทุกอย่างมาขายในร้านได้ เพราะทุกอย่างมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเก็บรักษา การคงรูปของสินค้า หรืออัตราการเน่าเสีย ดังนั้นเราจึงเลือกของที่จำเป็นเพื่อทุกครัวเรือนมากกว่า ส่วนสิ่งสำคัญคือเราอยากให้ลูกค้ามีความสุข และสนุกกับการเข้ามาใช้บริการ พร้อมกับการช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วย”

นอกจากรายการสินค้าที่เราสามารถซื้อแบบตัก ตวง ได้เองแล้ว ทางร้านยังมีสินค้าอื่น ๆ จำหน่ายด้วย อาทิ หลอดชนิดต่าง ๆ ที่สามารถใช้ซ้ำได้ แปรงสีฟันไม้ คุกกี้โฮมเมด (มีไม่มากแต่อร่อยมาก) ไข่เป็ด ไข่ไก่ กระเป๋าผ้า Beewax Wrap (ที่ห่อถนอมอาหาร) ฯลฯ สามารถมาซื้อกันได้ตามชอบ ส่วนสิ่งที่ต้องเตรียมมานอกจากบรรจุภัณฑ์ก็คือ ถุงผ้าหรือกระเป๋าใส่ของ เพราะที่ร้านเขาไม่มีให้นะคะ 
 

ZeroMoment Refillery
ที่ตั้ง : @home residence ชั้น 1 พระรามเก้าซอย 41
เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 10.00-19.00 น. (วันอาทิตย์ปิด 16.00 น.)
facebook : ZeroMoment Refillery
IG : @zeromoment_refillery



เรื่อง : TONGTA

ภาพ : PG
  ETC,
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด