ช่วงนี้ใคร ๆ ก็รักษ์โลก… เราเป็นคนหนึ่งที่เดินพกถุงผ้าแบบไม่อายใครมานานหลายปี ในกระเป๋าทุกใบจะมีถุงผ้าใบเล็กแอบซ่อนไว้เสมอ เผื่อยามฉุกเฉินที่ต้องเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ จะได้หยิบมาใช้ได้ทันท่วงที ส่วนบนโต๊ะจะมีถุงกระดาษขนาดย่อม ที่พับมาจากกระดาษเหลือใช้เอาไว้ใส่ขยะชิ้นเล็ก จะได้ไม่ต้องใช้ถุงพลาสติกให้วุ่นวาย
ถ้าคิดจะรักษ์โลกคงต้องเริ่มจากอะไรที่ใกล้ตัวก่อน ครั้งนี้เราได้รู้จักกับสาวตัวเล็ก
คุณบัว-วรรณปภา ตุงคะสมิต เจ้าของแบรนด์ Triple BEEs Wrap สาวรักษ์โลกผู้ชื่นชอบงาน DIY จนได้ทดลองทำ Wrap ห่ออาหารปราศจากพลาสติก 100% หรือที่เรียกกันว่า “Beeswax Wrap” ซึ่งสิ่งที่ทำนั้นคุณบัวบอกว่ามันเป็นของใกล้ตัวนั่นเอง
“Beeswax Wrap คือทางเลือกในการห่อถนอมอาหารที่มีอายุยาวนานหลายเดือน ทำมาจากไขผึ้งธรรมชาติเคลือบลงบนผ้า ไม่เหมาะกับการห่อของร้อน แต่ใช้ได้ดีกับการเก็บอาหารในตู้เย็น สามารถนำมาล้างด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ ตากให้แห้ง แล้วนำมาใช้ซ้ำได้ไม่จำกัด”
เริ่มต้นจากความชอบและสิ่งใกล้ตัว “คือที่บ้านเราจะอยู่กันหลายคนค่ะ ดังนั้นจึงทำอาหารค่อนข้างเยอะ ในเดือนหนึ่งเนี่ยจะใช้พลาสติกแรปประมาณ 2-3 อันเลย ทีนี้บัวเป็นคนชอบ search โน้นนี่ แล้วก็ชอบทำงาน DIY พอหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ก็ไปเจอเจ้า Wrap นี่เข้าในเว็บไซต์ของฝรั่ง คิดว่ามันน่าสนใจ ขั้นตอนไม่ยาก ดูแล้วเราน่าจะทำเองได้ เลยลองทำดู แต่ต้องยอมรับว่ารุ่นแรกมันยังไม่ดี แค่รู้สึกว่ามันพอใช้ได้ ก็เลยเอามาให้คุณแม่ลองใช้ก่อน ซึ่งคุณแม่ก็ตินะช่วงแรก เพราะมันใช้ไม่ถนัดไง มันทึบมองไม่เห็นอาหารด้านใน ที่สำคัญคือโดนความร้อนไม่ได้ เราก็เลยลองหาวิธีใหม่ทำยังไงให้ใช้ง่ายกว่าเดิม”
ดัดแปลงวิธีใช้หน่อยทำให้สนุกขึ้นมันก็ไม่ยาก “จริง ๆ การเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ คนเรามักจะไม่ชิน อย่างการใช้ถุงผ้าช่วงแรกอาจรู้สึกว่าลำบาก ต้องพกถุงไปไหนมาไหน แต่พอใช้ไปนานเข้ามันเกิดความเคยชิน จนทำให้รู้สึกสนุก บัวเองก็เลยลองบ้าง โดยการหาลายผ้าที่เข้ากับเมนูอาหาร อย่างถ้าเป็นผ้าสีส้มจะเอาไว้ห่อแกง ผ้าสีเขียวเอาไว้ห่อผัก ผ้าสีขาวเอาไว้ห่อข้าวสวย แล้วพอลองให้คุณแม่ทำบ้าง ท่านก็เริ่มสนุกไปกับการห่อ รวมถึงเวลาห่อด้วย Beeswax Wrap มันจะไม่เหมือนกับการใช้พลาสติกห่อนะคะ มันต้องปรtณีต ต้องค่อย ๆ หมุนแล้วกดลงไป Texture มันก็หนึบ ๆ นุ่ม ๆ เขาก็เลยรู้สึกได้จับได้นวดมือไปด้วยในตัว”
เมื่อต้องนำของที่ทำไว้ใช้เองมาจำหน่าย “ช่วงแรกไม่ขายนะ แจกก่อน (หัวเราะ) ให้เพื่อนลองใช้บ้าง รวมถึงทำแจกช่วงปีใหม่ให้เพื่อน ๆ คุณแม่ บัวว่ามันน่ารักดีนะ ได้ช่วยกันเลือกลายผ้า ทำโน่นนี่ด้วยกัน ช่วงแรกที่ทำสูตรมันก็ยังไม่ได้ดีอะไร แล้วค่อย ๆ ปรับมาเรื่อย ๆ จนเริ่มเข้าที่ พี่สาวกับน้องสาวก็คิดว่าน่าลองทำขายดู เราไม่ได้คิดว่าเป็นธุรกิจแบบใหญ่โตอะไร แค่อยากทำใหhคนอื่นลองใช้บ้าง และถ้าเขาโอเคเราก็แฮปปี้ไง บัวว่าการใช้ Beeswax Wrap มันช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมเราได้ด้วย ต้องยอมรับว่าเมื่อก่อนไม่ใช่คนสายกรีน มีอะไรก็ใชhเน้นความสะดวก แต่เหมือนอันนี้มันเป็นจุดเริ่มต้น มาช่วยให้เราลดการใช้พลาสติกไปได้ จนตอนนี้ที่บ้านใช้พลาสติกน้อยมาก หรือแบบไม่ได้ใช้เลยก็มี แต่ก็ปฏิเสธพลาสติกไม่ได้ 100% บางอย่างจำเป็นต้องใช้เราก็ใช้ เพียงแต่ใช้ให้น้อยที่สุดเท่านั้น ไม่อยากซีเรียสถึงขั้นหักดิบเลย เพราะต้องยอมรับว่ารอบ ๆ ตัวเราเขาก็ยังใช้กันอยู่”
ประโยชน์สำคัญช่วยตอบโจทย์คุณแม่บ้าน “ถ้าเป็นเรื่องของการใช้งานแน่นอนมันก็เอามาแทนตัวพลาสติกแรปได้ดีในระดับหนึ่ง ข้อเสียมันก็มีอย่างที่บอกโดนของร้อนไม่ได้ มันไม่สามารถแรปอาหารสดบางอย่างได้ อะไรที่มันดิบ อะไรที่มันมีน้ำเยอะ แต่ว่าโดยรวมแล้วมันก็มีประโยชน์มาก และที่ค้นพบอีกอย่างคือเราสนุกเลือกสีนี้เอามาใส่ให้มันเข้ากับอาหารที่เราจะแรป แล้วมันก็ทำให้โต๊ะอาหารเราตู้เย็นเรามันน่ารักขึ้น ส่วนคุณสมบัติอื่นที่เห็นคือมันไม่ทำให้อาหารแห้งเกินไป ช่วยรักษาความชุ่มชื่นให้ด้วย อย่างเราแรปพวกผักหรือว่าขนมปัง ตัวผักค่อนข้างสดได้นาน ยืดระยะได้ค่อนข้างดีกว่าพลาสติกแร็พ อย่างพวกมะนาวผ่าซีกดีมากเลย หรือว่าผลไม้อย่างแอปเปิลเราแบบแรปใส่ตู้เย็นก็ไม่ได้ดำเร็ว”
“การทำ Beeswax Wrap แบบง่ายที่สุดคือการนำไขผึ้งมาขูดให้เป็นเส้นเล็ก ๆ จากนั้นวางลงบนผ้าที่ต้องการทำ ใช้กระดาษไขรอง แล้วรีดให้ไขผึ้งละลายติดไปกับผ้า ผึ่งไว้ให้แห้งก็สามารถนำมาใช้งานได้ทันที นอกจากนั้นยังสามารถนำผ้าลงไปต้มกับไขผึ้งได้เช่นกัน”
ผ้าอะไรก็สามารถทำ Beeswax Wrap ได้ “ก็ได้นะ แต่ที่ดีสุดต้องใช้ผ้าคอตตอน 100% ผ้าฝ้าย เพราะว่าหนึ่งคือส่วนผสมเราเป็นออร์แกนิคใช่ไหมคะ มาจากธรรมชาติ ธรรมชาติอยู่กับธรรมชาติเนี่ย มันจะไปด้วยกันได้ดี แต่ว่าก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคอตตอน 100% เสมอไป คอตตอนผสมก็ได้ เพียงแต่ว่าเราจะไม่ใช้กับผ้าบางอย่างเช่น ผ้าที่เป็นชีฟองบาง ๆ หรือลินิน หรือว่าผ้ายีนส์ที่มันหนา ผ้ายืดอะไรแบบนี้ อย่างเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วเราก็นำมาทำได้นะ ไม่จำเป็นต้องซื้อผ้าใหม่สำหรับทำ เพียงแต่ว่าเราดูเนื้อผ้าให้เหมาะเท่านั้นเอง”
ไม่ได้ใช้กับอาหารเพียงอย่างเดียว “ปกติที่บ้านบัวจะใช้เกือบทุกอย่างนะ ยกเว้นของร้อน ซึ่งบัวคิดว่ามันไม่ได้เป็นข้อเสียที่ใช้กับของร้อนไม่ได้ เรียกว่าเป็นข้อจำกัดมากกว่า อย่างเวลาไปต่างจังหวัดก็จะใช้ห่อสบู่ หรือห่อของใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเวลาปอกผลไม้ก็ใช้เป็นตัวรองเอาไว้ ปอกเสร็จก็นำเปลือกไปทิ้งได้สะดวกดี บางทีก็นำมาพับเป็นกล่องเอาไว้ใส่ขนมหรือเศษอาหารได้ อ่อ อีกอย่างที่ใช้ดีเลยคือ เอาไว้ปิดพวกขวดโซดา หรือน้ำอัดลมเวลาเราดื่มไม่หมด มันเก็บความซ่าไว้ได้ดีเลยนะ บัวไม่ได้มองว่ามันใช้งานสะดวกอย่างเดียว แต่มองว่ามันช่วยลดปริมาณพลาสติก ถ้าวัดจากตัวเองบัวว่ามันดีมากทีเดียว แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเราต้องใช้ Beeswax Wrap อย่างเดียว เพราะเดี๋ยวนี้เขาก็มีซิลิโคน หรือสินค้าอื่นที่มาใช้แทนพลาสติกได้เช่นกัน ซึ่งในอนาคตอาจจะมีเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เราไม่ใช้พลาสติกเลยก็ได้”
มองอย่างไรเกี่ยวกับการใช้พลาสติกของคนปัจจุบัน “ต้องบอกว่าเราเคยชินกับการใช้แล้วมันก็หาง่าย ผลิตก็ง่าย ราคาก็ถูก ทำให้เราชิน ใช้แล้วก็ทิ้ง แล้วก็จบ แต่ตอนนี้คนเริ่มตื่นตัวมากขึ้น ด้วยเหตุการณ์อะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น พะยูนมาเรียม หรือพบไมโครพลาสติกในปลาทู อะไรแบบนี้ แปลว่านี่คือสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่มันอยู่กับเราตลอดเวลา คนก็เริ่มตื่นตัวมากขึ้น ก็ดีใจที่ตามห้างร้านเริ่มที่จะทำแล้ว แต่ก็เข้าใจในแง่ของผู้ผลิตเพราะเขาต้องเปลี่ยนหลายอย่าง คือเขาก็ต้องยอมที่จะต้องเปลี่ยนจริง ๆ แต่ก็นั่นแหละชีวิตประจำวันของเราตื่นมาไม่ได้อยู่แค่ในบ้าน ถ้าเรามีชีวิตแค่ในบ้านมันก็จบ มันง่าย แต่ว่าเราก็ต้องออกมาข้างนอก ทีนี้ถ้าเราปรับตัวเองได้มันไม่ยากหรอกที่จะพกถุง พกอะไรไปได้ หรือถ้าจำเป็นต้องใช้พลาสติกจริง ๆ ก็ควรใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุดเท่านั้นเอง”
เราไม่ต้องตื่นขึ้นมาแล้วบอกว่าพรุ่งนี้ฉันจะไม่ใช้พลาสติกแล้ว เพราะว่ามันยาก แต่ว่าเราเริ่มง่าย ๆ เริ่มจากตัวเองพกถุง พกขวด ค่อย ๆ ทำไป ถ้าสนใจตัว Beeswax Wrap ก็อยากให้ลองใช้ดู ลองทำเองก็ได้ หรือถ้าอยากจะซื้อเดี๋ยวนี้ก็มีช่องทางให้หาซื้อได้ คือไม่ได้มีแค่ของแบรนด์บัวอย่างเดียว สะดวกที่ไหนซื้อที่นั่น เพราะบัวเชื่อว่าทุกคนที่ทำผลิตภัณฑ์ Green ทุกคนมีจิตใจที่แบบอยากให้คนใช้อะไรที่ช่วยต่อลมหายใจให้โลกเราน่าอยู่ขึ้นค่ะ
Triple BEEs Wrap https://www.facebook.com/TripleBEEsWrap/
เรื่อง / ภาพ : TONGTA