ธรรมชาติบำบัด... กับอาหารตามฤดู

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
3,597    6    -4    30 ม.ค. 2563 13:30 น.
แบ่งปัน
         ธรรมชาติได้สร้างสรรค์อาหารสารพัดมาให้เราได้ดื่มกิน... อาหารที่เกิดจากธรรมชาติส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่ความสดใหม่อยู่เสมอ ฉะนั้นหากเรารู้จักเลือกกินแต่ของดี ๆ ก็ย่อมเป็นการเพิ่มพลังให้ชีวิตสดใสและอายุยืนยาว เป็นการดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตโดยอาศัยกระบวนการตามธรรมชาติให้มีความสมดุลของการพักผ่อน การออกกำลังกาย และการกินอาหาร โดยที่ไม่ใช้ยาและสารเคมีในการบำบัดรักษา ซึ่งก็คือการใช้ “ธรรมชาติบำบัด” นั่นเอง
 

การจะมีสุขภาพกายและใจที่ดีต้องประกอบด้วยการมีสมดุลของการพักผ่อน การออกกำลังกายและการกิน ซึ่งเป็นการเยียวยารักษาตัวเองอย่างดี นอกจากนั้นแล้วยังต้องความควบคุมจิตใจ ไม่ปล่อยมีความวิตกกังวล หรือความเครียดมากเกินไป สิ่งที่เราควรรู้อย่างแรกของธรรมชาติบำบัดคือ การพักผ่อนร่างกาย ซึ่งก็คือการนอนหลับ โดยทั่วไปร่างกายของคนเราต้องการการนอนหลับพักผ่อนประมาณ 7-9 ชั่วโมง ขณะนอนหลับนั้น ร่างกายและสมองจะมีการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ที่สึกหรอ เมื่อตื่นมาเราจึงรู้สึกสดชื่น มีเรี่ยวแรงกำลังในการดำเนินชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม ดังนั้นคนที่มีปัญหาในการนอนไม่หลับ หรือนอนน้อยจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย สมองล้า ไม่ค่อยมีสมาธิ แต่ที่น่ากลัว คือ จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมาได้อย่างมากมาย

นอกจากการพักผ่อนร่างกายแล้วเราควรต้อง พักผ่อนจิตใจ ด้วยเช่นกัน นั่นคือ การทำจิตใจให้สงบ ผ่อนคลาย ละความเครียดและความวิตกกังวลต่าง ๆ ลง หรืออาจหากิจกรรมที่ชอบทำ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง จัดสวน เย็บปักถักร้อย หรือทำงานศิลปะ นอกจากนั้นแล้ว การท่องเที่ยว ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็นับเป็นธรรมชาติบำบัดอีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ทะเล ภูเขา ไร่สวน สวนสาธารณะ เพราะสถานที่เหล่านั้นจะทำให้จิตใจสบาย ผ่อนคลายความเครียดได้ดี

การออกกำลังกาย ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งเช่นกัน เพราะนอกจากจะช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้จิตใจสดชื่น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และทำให้กล้ามเนื้อเข็งแรงแล้ว ยังช่วยทำให้ระบบไหลเวียนเลือด หัวใจ ปอดและระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น โดยเราสามารถทำได้ง่าย ๆ อาทิ เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ ซึ่งอาจใช้เวลาครั้งละประมาณ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง และสิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นคือ การรับประทานอาหารตามหลักของธรรมชาติบำบัด เน้นการรับประทานพืชผักผลไม้ โดยเลือกรับประทานอย่างสอดคล้องกับฤดูกาลเพื่อปรับสมดุลในร่างกายให้คงที่ เพราะในร่างกายของคนเรานั้นประกอบด้วย ธาตุ 4 ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุน้ำ และธาตุไฟ ซึ่งธาตุแต่ละอย่างมีลักษณะและธรรมชาติที่แตกต่างกัน และธาตุทั้ง 4 ยังเป็นแหล่งกำเนิดของโรค โรคจะเกิดกับธาตุใดธาตุหนึ่ง จะต้องมีธรรมชาติภายนอกมากระทบหรือมูลเหตุอื่น ๆ (เช่น อาหาร อิริยาบถ อารมณ์ ฯลฯ) ทำให้เสียสมดุลจึงเกิดโรค ฉะนั้นการเลือกรับประทานอาหารควรให้สอดคล้องกับทั้ง 3 ฤดูกาล
 

ฤดูร้อน (เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม) ด้วยความร้อนที่อบอ้าวอาจส่งผลให้ร่างกายมีอาการตัวร้อน ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย ปากแห้ง กระหายน้ำ ร้อนใน ท้องผูก ปัสสาวะน้อย หรืออาจเกิดผื่นเป็นเม็ดขึ้นตามร่างกาย อาการดังกล่าวสามารถป้องกันและบรรเทาได้ด้วยอาหารรสขมเย็น รสเปรี้ยว รสจืด อาหารเหล่านี้จะช่วยลดความร้อนได้ ผักพื้นบ้านที่ควรรับประทานในฤดูร้อน เช่น มะระขี้นก ฮ้วนหมู ผักเฮือด ส้มป่อย ผักกูด ผักปลัง ตำลึง ชะอม มะขาม ผักหวาน สำหรับเครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับฤดูร้อน คือ น้ำผลไม้รสเปรี้ยวจะช่วยคลายร้อนได้ เช่น แตงโม ส้ม สับปะรด

ฤดูฝน (เดือนมิถุนายน - เดือนกันยายน) เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนความเย็นจากธรรมชาติจะเพิ่มมากขึ้น แต่อาจทำให้ร่างกายมีการเจ็บป่วยได้ง่ายเพราะความเย็นที่มากเกินไป ทำให้ร่างกายมักเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นไข้หวัด อาการดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยอาหารรสขม รสเผ็ดร้อน ผักพื้นบ้านที่มีรสเผ็ดร้อน คือ ยอดพริก โหระพา ยี่หร่า แมงลัก กะเพรา หูเสือ พลูคาว ขิง ข่า กะทือ กระเจียว ผักแพว เอื้อง เป็นต้น

ฤดูหนาว (เดือนตุลาคม - เดือนมกราคม) ความหนาวเย็นของธรรมชาติส่งผลกระทบต่อร่างกายโดยตรง หากร่างกายไม่อาจต้านทานได้จะทำให้เกิดการเจ็บป่วย และจะทำให้มีอาการผิวแห้ง มึนศีรษะ น้ำมูกไหล ขัดยอก ขยับเขยื้อนร่างกายไม่สะดวก ท้องอืด อาหารที่เหมาะกับอากาศในฤดูหนาว คือ อาหารรสขมร้อน รสร้อน และรสเปรี้ยว ผักพื้นบ้านที่เหมาะสมกับการรับประทานในหน้าหนาว คล้ายกับผักพื้นบ้านที่รับประทานในหน้าฝน ตัวอย่างเช่น ข่าอ่อน กระชาย พริกไทย ยอดพริก ขมิ้น ผักแพว และผักที่มีรสเผ็ดร้อนทุกชนิด

       สำหรับอาหารจากธรรมชาตินั้นมีรสชาติที่ส่งผลโดยตรงกับร่างกาย ซึ่งแต่ละรสจะมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกายอยู่แล้ว อาทิ รสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ช่วยรักษาแผล แก้ท้องเสีย แต่ถ้ารับประทานมากจะทำให้ท้องอืดเฟ้อและท้องเดิน รสเปรี้ยว ช่วยกัดเสมหะ และกระตุ้นต่อมน้ำลาย ทำให้เจริญอาหาร แต่ถ้ารับประทานมากจะทำให้ท้องอืด ร้อนใน และแผลหายช้า รสหวานอ่อน ๆ มีสรรพคุณช่วยให้ชุ่มชื่น บำรุงกำลัง แต่ถ้ารับประทานมากจะทำให้ลมขึ้น ท้องอืดเฟ้อ และง่วงเหงาหาวนอน รสขม สรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ลดไข้ แก้เลือดเป็นพิษ ถอนพิษเบื่อเมา แต่ว่าไม่ควรรับประทานมาก เพราะอาจทำให้อ่อนเพลียได้ รสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร แก้ปวดท้อง ท้องอืดเฟ้อ ถ้ารับประทานมากเกินไปจะทำให้อ่อนเพลียได้เช่นกัน รสหอมเย็น ช่วยบำรุงหัวใจ แก้ลม หน้ามืด ตาลาย และสุดท้ายคือ รสมัน ใช้แก้อาการเส้นเอ็นพิการ ปวดเสียว เคล็ดขัดยอก อาการกระตุก หากรับประทานมากไปอาจเป็นพิษได้

หลังจากที่ได้รู้จักธรรมชาติบำบัดกันไปแล้ว ลองเลือกวิธีที่เหมาะกับตัวคุณเอง เพื่อช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อน การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งเราได้จัดทำเมนูจากธรรมชาติที่ปราศจากเนื้อสัตว์มาให้คุณ ๆ ได้ลองทำตามกัน โดยทั้ง 5 เมนูนี้จะแบ่งตามฤดูเพื่อให้เหมาะสมกับการรับประทานอย่างถูกต้องตามวิถีของ “ธรรมชาติบำบัด”
 

แกงกะทิรวมผักรับร้อน
แกงกะทินับเป็นอาหารที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ครั้งนี้เราใช้วัตถุดิบหลักเป็นพืชผักชนิดต่าง ๆ เพื่อทำให้แกงกะทิครั้งนี้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น
 

ส่วนผสม
เห็ดฟางผ่าครึ่งออก 100 กรัม
บวบเหลี่ยมหั่นชิ้น 100 กรัม
มันฝรั่งหั่นชิ้น 100 กรัม
แคร์รอตหั่นชิ้น 100 กรัม
พริกหยวกหั่นท่อน 50 กรัม
กะทิความเข้มข้นปานกลาง 3 ถ้วยตวง
กะปิเจ 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่นหยาบ 1/2 ช้อนชา
พริกไทยดำเม็ด 1 ช้อนชา

วิธีทำ
1. โขลกกะปิเจและพริกไทยดำให้ละเอียด
2. ใส่กะทิลงในหม้อตั้งไฟให้เดือด ใส่กะปิที่โขลกไว้ คนให้ละลาย
3. ใส่มันฝรั่ง แคร์รอต บวบเหลี่ยม เห็ดฟาง และพริกหยวก ต้มจนเดือด ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บและเกลือป่น ชิมรสให้ได้หวาน มัน เค็ม ยกลงตักใส่ภาชนะ จัดเสิร์ฟ
 

ต้มยำสามสหาย
ผลไม้ในช่วงฤดูร้อนออกมาก ไม่ว่าจะเป็น เงาะ ลิ้นจี่ รวมไปถึงผลไม้รสเปรี้ยวอย่างสละ เมนูต้มยำชามนี้จึงมีรสเปรี้ยวเจือหวานหน่อย ๆ จากผลไม้รสอร่อยของไทย
 

ส่วนผสม
เงาะคว้านเมล็ดออก 3 ลูก
ลิ้นจี่คว้านเมล็ดออก 3 ลูก
สละคว้านเมล็ดออก 4 ชิ้น
ไข่ไก่ 3 ฟอง
ข่าแก่หั่นแว่น 5 แว่น
ตะไคร้หั่นท่อนทุบพอแตก 2 ต้น
ใบมะกรูดฉีก 3 ใบ
น้ำซุปผัก 4 ถ้วยตวง
ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่นหยาบ 1 1/2 ช้อนชา
น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
พริกขี้หนูสีแดงโขลกหยาบ 10 เม็ด
ผักชีสำหรับโรย  
น้ำมันพืชสำหรับทอด  

วิธีทำ
1. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชพอร้อน ตีไข่ไก่ให้ขึ้นฟู ใส่ลงทอดจนสุกเหลืองทั้ง 2 ด้าน ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน หั่นเป็นชิ้นพอคำ พักไว้
2. ต้มน้ำซุปผัก พอร้อนใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พอเดือด ใส่เงาะ ลิ้นจี่ สละ รอให้เดือด
3. ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว  เกลือป่น คนให้เข้ากัน ปิดไฟ ใส่น้ำมะนาว พริกขี้หนู
4. ใส่ไข่ทอดลงในภาชนะ ตักน้ำต้มยำราด โรยผักชี จัดเสิร์ฟ
 

แกงผักปลังใส่มะม่วงดิบ
ผักปลังหารับประทานได้ง่ายในช่วงฤดูฝน อีกทั้งยังมีรสชาติอร่อยกว่าฤดูอื่น ๆ เนื่องจากได้รับน้ำเต็มที่ โดยจะนำมาแกงร่วมกับมะม่วงดิบ ได้เป็นแกงรสเปรี้ยวอ่อน ๆ ไว้ซดให้คล่องคอ
 

ส่วนผสม
ยอดผักปลังแดงเด็ดเป็นท่อน 150 กรัม
มะม่วงเปรี้ยวหั่นชิ้น 250 กรัม
มะเขือเทศสีดาผ่าครึ่ง  5 ลูก
น้ำซุปผัก 2 1/2 ถ้วยตวง
พริกชี้ฟ้าแห้งปิ้งไฟพอหอม 2 เม็ด
พริกชี้ฟ้าสีแดงสดหั่นชิ้น 1 ช้อนโต๊ะ
หอมแดงหั่นหยาบ 2 ช้อนโต๊ะ
กระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่นหยาบ 1 1/2 ช้อนชา
กะปิเจ 1 ช้อนชา

วิธีทำ
1. โขลกพริกชี้ฟ้าแห้ง พริกชี้ฟ้าสด หอมแดง กระเทียม กะปิเจ และเกลือป่น ½ ช้อนชา รวมกันให้ละเอียด
2. ต้มน้ำซุปผักพอเดือด ใส่น้ำพริกแกงในข้อที่ 1 คนให้เข้ากัน
3. ใส่มะม่วงเปรี้ยว รอให้เดือด ใส่มะเขือเทศ ผักปลัง และเกลือป่นที่เหลือ คนให้เข้ากัน รอให้เดือดอีกครั้ง ยกลงตักใส่ภาชนะ จัดเสิร์ฟ
 

พะแนงเต้าหู้ใส่ลำไยผัดแห้ง
พะแนงรสเข้มข้นนำมาผัดรวมกับเต้าหู้ทอดกรอบ เพิ่มความอร่อยด้วยลำไยเนื้อกรอบที่ออกมากในช่วงฤดูฝน เจือรสหวานจากธรรมชาติ แนะนำให้รับประทานกับข้าวกล้องร้อน ๆ
 

ส่วนผสม
เต้าหู้สีขาวชนิดแข็งหั่นชิ้น 200 กรัม
ลำไยคว้านเมล็ดออก 100 กรัม
น้ำพริกแกงพะแนงเจ 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
หัวกะทิ 1/2 ถ้วยตวง
หางกะทิ 1/4 ถ้วยตวง
น้ำตาลปี๊บ 1 1/2 ช้อนชา
น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น 1/8 ช้อนชา
ใบมะกรูดซอย  
พริกชี้ฟ้าสีแดงซอย  
น้ำมันพืชสำหรับทอดเต้าหู้  

วิธีทำ
1. ใส่น้ำมันพืชลงในกระทะเล็กน้อย พอร้อนใส่เต้าหู้ลงทอดจนมีสีเหลืองน่ารับประทาน ตักขึ้น
2. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชและน้ำพริกแกงพะแนงเจ ผัดพอหอมค่อย ๆ ใส่หัวกะทิ ผัดพอแตกมัน เติมหางกะทิ พอเดือดปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บและเกลือป่น
3. ใส่เต้าหู้ที่ทอดไว้และลำไย เคี่ยวสักครู่ ตักใส่ภาชนะ โรยใบมะกรูดและพริกชี้ฟ้า จัดเสิร์ฟ
 

ส้มตำถั่วแขกกรอบ
ช่วงฤดูหนาวผลผลิตที่ออกมากคือพืชตระกูลถั่ว และที่เราเห็นบ่อย ๆ หนีไม่พ้นถั่วแขกสีเขียวสวย เมื่อนำมาทอดจนกรอบจะได้รสหวานอ่อน ๆ นำมารับประทานกับส้มตำไทย เข้ากันได้ดีอย่าบอกใครเชียว
 

ส่วนผสม
ถั่วแขก 150 กรัม
ถั่วฝักยาวหั่นท่อน 50 กรัม
มะเขือเทศราชินีผ่าครึ่งลูก 5 ลูก
แคร์รอตขูดเป็นเส้น  50 กรัม
พริกขี้หนูสวน 10 เม็ด
กระเทียมกลีบเล็ก 5 กลีบ
น้ำตาลปี๊บ 3 1/2 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่นหยาบ 2 ช้อนชา
น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำมะขามเปียก 1 ช้อนโต๊ะ
แป้งทอดกรอบสำเร็จรูป 100 กรัม
น้ำเย็นจัด 150 กรัม
ถั่วลิสงคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ
เกล็ดขนมปังสำหรับคลุก  
น้ำมันพืชสำหรับทอด  
                 
วิธีทำ
1. ผสมแป้งทอดกรอบกับน้ำเย็นจัด คนให้เข้ากัน
2. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชพอร้อน นำถั่วแขกลงชุบน้ำแป้ง แล้วคลุกกับเกล็ดขนมปัง ใส่ลงทอดในน้ำมันพืชจนสุกเหลือง ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน
3. โขลกพริกขี้หนู กระเทียม พอหยาบ ใส่ถั่วฝักยาว ถั่วลิสงคั่ว บุบพอแตก
4. ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ เกลือป่น น้ำมะนาว และน้ำมะขามเปียก คนให้เข้ากัน ใส่มะเขือเทศราชินี และแคร์รอต คนให้เข้ากันอีกครั้ง
5. ใส่ถั่วแขกทอดลงในภาชนะ ราดส่วนผสมในข้อที่ 4 จัดเสิร์ฟ



เรื่อง / TONGTA
ภาพ / ชุลีภรณ์
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด