“เส้น” มาจากไหน

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
5,069    5    -4    28 พ.ย. 2562 15:16 น.
แบ่งปัน
       ตอนนี้เห็นว่าทางแม่บ้านเขาจะมีงาน NOOD&Street Food Fest เลยลองหาข้อมูลเกี่ยวกับ “เส้น” มาให้ลองอ่านกัน

       ถ้าให้เอาความคิดของตัวเองฉันว่าอาหารจำพวกเส้นนี้คงมาจากประเทศจีนเป็นแน่แท้... เนื่องจากประเทศนี้มีประศาสตร์ที่ยาวนาน และจากผลสรุปเขาก็ว่าเป็นเช่นนั้นจริงเมื่อมีหลักฐานกล่าวอ้างว่าเมื่อ พ.ศ.2548 นักโบราณคดีชาวจีนได้ขุดพบซากเส้นหมี่ที่หลงเหลือในไหดินเผา โดยไหดังกล่าวถูกค้นพบที่หมู่บ้านล่าเจียใกล้แม่น้ำฮวงโห มณฑลชิงไห่ ประเทศจีน ไหเหล่านั้นฝังอยู่ใต้ดินลึก 3 เมตร การวัดอายุของไหและดินตะกอนในบริเวณแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นแหล่งอาศัยของคนเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน สันนิษฐานว่าเมื่อหมู่บ้านถูกน้ำท่วมและถูกแผ่นดินไหวถล่ม ผู้คนจึงอพยพทิ้งหมู่บ้านไปอย่างถาวร เส้นหมี่ที่ค้นพบนั้นมีสีเหลือง ทำจากข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี และข้าวฟ่างซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของชาวจีนในเวลานั้น เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.3 เซนติเมตรยาว 50 เซนติเมตร สาเหตุที่เส้นยาวถึงเกือบ 2 ฟุตนั้นเชื่อว่าสมัยก่อนคนจีนมักทำเส้นหมี่สดและนำมาปรุงเป็นกองใหญ่ๆ เพราะมีความความเชื่อว่าถ้าตัดเส้นให้ขาดจะโชคร้าย โดยหลักฐานดังนี้เป็นการยืนยันได้ว่าเป็นอย่างดีว่าคนจีนรู้จักการทำนาข้าวเมื่อ 4,000 ปีก่อน จากหลักฐานอ้างอิงนี้ทำให้หลายฝ่ายสรุปว่าอาหารประเภทเส้นนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน แต่ที่ฉันเฉลียวใจและแอบสงสัยอยู่เป็นนัยๆ ก็คือ เส้นที่ถูกฝังอยู่นานกว่า 4,000 ปี นั้นจะคงอยู่ในสภาพเดิมซึ่งสามารถมองเห็นสีสันได้จริงเหรอ อันนี้คงต้องรอการพิสูจย์แบบจะๆ กันอีกที...
 

       มาต่อกันที่เรื่องสนุกๆ อีกเรื่องเกี่ยวกับเส้นพาสต้าหรือสปาเก็ตตี้จากฝั่งตะวันตกกันบ้าง... หลายแหล่งเชื่อว่านักเดินทางที่ยิ่งใหญ่อย่าง มาร์โค โปโล เป็นผู้นำเส้นบะหมี่จากเมืองจีนมาเผยแพร่ให้ฝั่งตะวันตกได้รู้จักกัน เนื่องจากเขาเดินทางไปไกลถึงมองโกลในยุคจักรวรรดิ์มองโกลของกุบไลข่าน (กุบไลข่านเป็นลูกชายของเจงกีสข่าน) เพื่อสำรวจพื้นที่ฝั่งตะวันออกและค้าขาย มาร์โค โปโล เดินทางไปได้อย่างไรนะเหรอ เขาตามรอยเท้าพ่อและลุงของเขาไปต่างถิ่นตั้งแต่อายุ 17 ปี นับว่าเป็นหนุ่มนักเดินทางที่อายุน้อยมาก บวกกับการเดินทางที่เขาเล่าให้ฟังนั้นมันดูยากลำบากแสนสาหัสเหลือเกิน โดยเฉพาะช่วงที่ต้องผ่านขุมนรกอย่างการข้ามทะเลทรายโกบี เขาต้องทนต่อภาพหลอน เสียงทรายครวญ และการอดน้ำ กว่าจะผ่านมาได้เล่นเอาสะบักสะบอมอย่างหนัก จากนั้นเขากับพ่อและลุงก็ใช้เวลาอยู่ในมองโกลนานกว่า 17 ปี ถึงเดินกลับบ้านเกิดที่เวนิสอีกครั้ง และนำความรุ่งเรืองจากฝั่งตะวันออกมาบอกเล่าเป็นเรื่องราวให้กับชาวฝั่งตะวันตกได้ฟัง รวมถึงเขาได้นำเส้นบะหมี่กลับมายังบ้านเกิดด้วยและนั่นก็คือหลักฐานที่ทำให้รู้ว่าคนอิตาเลียนคิดทำพาสต้าหลังคนจีนคิดทำก๋วยเตี๋ยวหรือบะหมี่...

แล้วสิ่งที่คุณอ่านอยู่นี้เชื่อได้จริงหรือ... มีอีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า “มาร์โค โปโล” อาจจะไม่มีอยู่จริงตามที่ตำนานเล่าขาน เพราะผลจากการตรวจสอบของนักวิชาการรุ่นหลัง ได้เริ่มสั่นคลอนความเชื่อดังกล่าวลงไปมาก ดังปรากฏในสารคดีเรื่อง The True Story of Marco Polo จากประวัติบอกเล่าว่าหลังจากที่เขากลับมาถึงเวนิสในปี 1295 (พ.ศ.1838) ปรากฎว่าญาติๆ จำพวกเขาไม่ได้เลย และคิดว่าพวกเขาตายไปแล้ว จากนั้นนครรัฐเวนิซได้แพ้สงครามแก่รัฐเจนัว มาร์โค โปโล ได้ถูกขังคุกรวมอยู่กับ รัสติเชลโล (Rustichello da Pisa) นักเขียนเรื่องราวเพ้อฝัน ณ ที่คุมขังนี้เองรัสติเชลโลได้บันทึกเรื่องราวการเดินทางของมาร์โค โปโล ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามคำบอกเล่าของเขา จนเป็นหนังสือชื่อว่า Il Milione ซึ่งนักอ่านมองว่าเป็นเพียงเรื่องแต่ง หนังสือเล่มนี้จัดได้ว่ามีทั้งส่วนที่เป็นประโยชน์และส่วนที่สร้างความสับสนให้กับคนรุ่นหลัง เนื่องจากเส้นทางการเดินทางที่อ้างถึงคลุมเครือ แต่ความคลุมเครือนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส พยายามหาเส้นทางไปจีนทางอื่น คือทางทะเล จนเป็นเหตุให้มีการค้นพบทวีปอเมริกา...

ไม่มีเอกสารหรือวรรณกรรมใดๆ ของจีนหรือมองโกลกล่าวถึงมาร์โค โปโลเลย... ฝ่ายที่ไม่เชื่อการเดินทางของ มาร์โค โปโล แสดงความแปลกใจที่กุบไลข่านทรงแต่งตั้งชาวต่างประเทศที่อายุน้อยอย่างมาร์โค โปโลเป็นข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ หนังสือของมาร์โค โปโลมักเรียกชื่อต่างๆ เป็นภาษาเปอร์เซีย หรือตุรกี ทำให้เกิดความสงสัยว่า เรื่องของเขาอาจเป็นเพียงการปะติดปะต่อคำบอกเล่าต่อกันมาของบรรดาพ่อค้าชาติต่างๆ รวมถึงความเชื่อที่ว่ามาร์โค โปโลเป็นผู้นำให้กำเนิดพาสต้า ซึ่งความจริงแล้วชาวอาหรับเป็นผู้นำข้าวสาลีและพาสต้าเข้ามายังยุโรปหลายร้อยปีก่อนที่มาร์โค โปโลเกิดด้วยซ้ำ ทั้งนี้ฝ่ายที่ไม่เชื่อว่ามาร์โค โปโลเดินทางไปเมืองจีนจริงๆ เช่น Frances Wood ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Did Marco Polo Go to China? ก็ไม่ได้ประณามว่าเขาโกหกซะทีเดียว ในสารคดี Wood ได้อธิบายว่าหนังสือของมาร์โค โปโลกำเนิดโดยรัสติเชลโลนั้น ในระยะแรกการเผยแพร่หนังสือดังกล่าวกระทำโดยการคัดลอกต่อๆ กันมา ซึ่งอาจเกิดความผิดเพี้ยนแต่งเติมขึ้นได้ และมีความเป็นไปได้ด้วยว่ามาร์โค โปโลอาจไม่มีตัวตนจริงเป็นเพียงตัวละครที่รัสติเชลโลสมมติขึ้นมาในหนังสือ ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ารัสติเชลโลจะเป็นคนปลิ้นปล้อนหลอกลวง แต่ว่าเป็นการเขียนหนังสือภูมิศาสตร์โลกหรือหนังสือท่องเที่ยวโดยการแต่งเติมสีสันเท่านั้นเอง... 
 

       มาถึงเส้นก๋วยเตี๋ยวของพี่ไทยกันบ้าง... ก็คงจะมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมืองไทยเราได้ทำการค้าขายกับชาวต่างชาติมากมายหลายชาติรวมถึงชาวจีน ในยุคนี้นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเกี่ยวกับอาหารอยู่มากพอควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ พริก หรือเครื่องเทศต่างๆ เนื่องจากมีการค้าขายผ่านเรือสำเภาจนทำให้มีสินค้าแปลกตามาค้าขายในยุคนี้รวมถึงเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยเช่นกัน สำหรับเส้นก๋วยเตี๋ยวนั้นจะถูกนำมาปรุงเป็นอาหารกินกันในเรืออย่างธรรมดา โดยต้มในน้ำซุปใส่หมูใส่ผักบางอย่าง แต่คนไทยเห็นเป็นของแปลกตาในยุคนั้นอย่างที่สุด แต่เมื่อเห็นบ่อยเข้าก็มีการเอาเส้นก๋วยเตี๋ยวมาประกอบเป็นอาหารอื่นด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นคนจีนก็เริ่มมีการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวเองในเมืองไทย โดยการนำเอาแป้งข้าวเจ้ามาทำเส้นก๋วยเตี๋ยว และหลังจากสิ้นยุคกรุงศรีอยุธยามาถึงสมัยกรุงธนบุรี ก็ยิ่งมีคนจีนเดินทางมาค้าขายมากขึ้น การทำเส้นก๋วยเตี๋ยวจึงมากไปด้วยเช่นกัน...  

เมื่อถึงสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี... คนไทยได้รู้จักเส้นก๋วยเตี๋ยวมากขึ้น เพราะมีนโยบายรัฐนิยมที่สนับสนุนให้ประชาชนรับประทานก๋วยเตี๋ยว เนื่องจากเห็นว่าสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติในตอนนั้นได้ เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียนในประเทศ ดังคำกล่าวของท่าน นายกฯ ในสมัยนั้นว่า “อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาทนั้น ก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกันไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยขน์เต็มที่ในค่าของเงิน” และตั้งแต่นั้นมาการรับประทานก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทยก็เริ่มขยายไปทั่วจนถึงทุกวันนี้...   


เรื่อง : TONGTA
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด