“พี่คิดว่าบอนไซคืออะไรคะ?”... คำถามแรกเมื่อตอนที่เราเจอหน้ากับ
คุณเฟรม–รัตมา เกล้านพรัตน์ พวกเรายืนหน้าตาเด๋อกันไปสักพัก เพราะไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับบอนไซเลย เคยเห็นแต่ในการ์ตูนอิกคิวซัง ที่ท่านโชกุนยืนตัด ๆ แต่ง ๆ เจ้าต้นไม้เล็ก ๆ ที่อยู่ในกระถาง จึงตอบกลับแบบไม่ลังเลว่า “เป็นต้นไม้ของญี่ปุ่น ขนาดเล็ก ๆ ที่อยู่ในกระถาง” คุณเฟรม ยิ้มแก้มตุ่ย แล้วบอกว่าเกือบถูกล่ะ แต่ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว ดังนั้นครั้งนี้คุณเฟรมจึงขอจัดเต็ม พาพวกเราทุกคนมารู้จักกับ
“บอนไซสายย่อ” ในมุมมองที่ไม่เหมือนเดิม
ลองไปหาข้อมูลดูจึงได้รู้ว่า บอนไซ คือศาสตร์การจับต้นไม้ใหญ่ใส่กระถางเล็ก คำว่าบอนไซ 盆栽 เป็นการนำคำว่า 盆 ซึ่งแปลว่ากระถาง และคำว่า 栽 ซึ่งแปลว่าการปลูก มาประกอบเข้าด้วยกัน ความหมายของบอนไซ ไม่ใช่แค่ตัวต้นไม้อย่างเดียว แต่ยังรวมถึง การปลูก การชื่นชม การพินิจพิจารณาความงาม รวมถึงการเฝ้าดูความเจริญเติบโตของกิ่งก้าน รูปทรงของใบไม้ของต้นบอนไซ จึงนับเป็นงานอดิเรกกึ่งงานศิลปะชนิดหนึ่งของชาวญี่ปุ่นนั่นเอง ส่วนต้นไม้สายย่อของ miNATURE_c นั้นเกิดขึ้นจาก
คุณบอส–ชัยพร เวชไพรัตน์ (สามีคุณเฟรม) ที่ต้องการเพิ่มสีเขียวให้ชีวิต “บอส เขาเรียนจบด้านการออกแบบ Media Arts เขารู้สึกว่าชีวิตที่จะต้องมานั่งทำกราฟิกมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส บวกกับตอนเด็ก ๆ เขาเป็นคนที่ตอนเรียนชอบธรรมชาติ เก็บหิน ดูน้ำ และคุณพ่อก็เลี้ยงบอนไซใหญ่ เลยรู้สึกว่าอยากลองทำกระถางต้นไม้ดู ซึ่งกระถางต้นไม้รุ่นแรกที่ทำเป็นกระถางทรงหิน ที่เราเลียนแบบมาจากก้อนหินจริง ๆ แต่ว่าตัววัสดุจะเป็นคอนกรีต พอทำกระถางได้สักพักก็มีคนอยากได้ต้นไม้ เพราะว่าคนทำกระถางก็ต้องหาต้นไม้มาใส่ ก็เริ่มจากการถ่ายรูปลง Facebook ตัวเอง ก็มีคนให้ความสนใจ ในยุคแรกของ Minature_C ก็เลยเป็นกระบองเพชรเป็นหลัก”
คุณเฟรมเล่าต่อว่าหลังจากขายมาได้สักระยะ คุณบอสก็รู้สึกว่า “ทำไมแคคตัสมันเยอะจัง” หรือในบางครั้งลูกค้าก็บอกว่า “ชอบแคคตัสนะ แต่อยากได้ความสดชื่นมากกว่านี้” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่า “ทำไมบอนไซต้องเป็นต้นใหญ่ ทำไมมันถึงเป็นต้นเล็กไม่ได้”
“คือบอนไซจริง ๆ แล้วเป็นของที่จีน ก่อนจะถูกแพร่เข้ามาที่ญี่ปุ่น เป็นเรื่องของการนำไม้ยืนต้นมาทำ ส่วนเราก็อยากฉีกกฎเดิม ๆ เลยว่าทำไมต้องเป็นไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุกทั่วไปทำไม่ได้เหรอ จึงเกิดเป็นที่มาของ Minature_C ในปัจจุบัน ส่วนเฟรมก็เข้ามาช่วยบอสในปีที่ 2 เพราะว่าเฟรมก็ชอบต้นไม้อยู่แล้ว เนื่องจากบ้านอยู่ตะกั่วป่า ก็อยู่กับธรรมชาติมาตลอด โดยเฟรมเข้ามาช่วยเรื่อง Marketing พอเราเริ่มเข้ามาขายใน Social คนเลยรู้จักเรามากขึ้น รวมถึงการที่ไปออกบูธ และการได้ออกสื่อต่าง ๆ ตอนที่เฟรมเข้ามาช่วยใหม่ ๆ ก็รู้สึกว่าทำไมไม่มีไม้ดอกบ้าง เพราะบอสเขาเป็นผู้ชายเขาก็ไม่ได้รู้สึกว้าวกับไม้ดอกเท่าไหร่นัก อย่างว่านนี้เฟรมก็รู้สึกว่าทำไมไม่ทำเป็นต้นเล็ก ๆ มันก็มีดอก ก็ปรากฏว่ากระแสตอบรับดี เพราะต่างคนต่างมุมมอง เราก็เอามาเสริมกัน”
แล้วคำว่าบอนไซจริง ๆ แปลว่าอะไร “บอนไซเป็นภาษาญี่ปุ่น มันคือศิลปะของการจัดไม้ลงในกระถาง และที่ญี่ปุ่นบอนไซเขาจะไม่จำกัดความเลย วัชพืชที่ถูกเอามาจัดลงในกระถางเขาจะเรียกบอนไซ เพียงแต่เราจะให้คำนิยามว่าบอนไซพวกนี้แตกแขนงออกเป็นกี่พาร์ท กี่ส่วน เฟรมรู้สึกว่ามันเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง คือคุณจะทำอะไรก็ได้ สมมติเราวาดสีน้ำ บางคนก็รู้สึกว่าต้องเป็นสีน้ำเฉพาะเท่านั้น สีจากธรรมชาติเราไม่ได้เรียกว่าสีน้ำ มันแล้วแต่มุมมองคน เราเลยรู้สึกว่า
มันไม่ได้มีกรอบตายตัวทางด้านความคิด แต่มันคืองานศิลปะที่อยู่ในกระถางหิน ที่เรานำมาย่อให้คุณ แทนที่คุณจะเอาไปลงพื้นดิน พื้นดินคุณไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนได้ เท่ากับว่ากระถางไซส์ไหนก็คือบอนไซ อะไรก็ตามที่อยู่ในกระถาง นี่คือนิยามของร้านเรา”
คุณเฟรมหยิบต้นไม้ออกมาให้เราดูหลายชนิดพร้อมกับแนะนำว่าแต่ละต้นมีลักษณะยังไง “ต้องเกริ่นแบบนี้ก่อนว่าเมื่อพูดถึงบอนไซเราจะคิดถึงกิจกรรมของคนแก่ เราเลยรู้สึกว่าการที่จะให้เด็กรุ่นใหม่เขาหันมาสนใจต้นไม้ ถ้าเป็นบอนไซมันเป็นเรื่องที่ยากมากที่คนจะเข้าใจ เราเลยเปลี่ยนมาใช้คำว่าต้นไม้สายย่อให้คนรู้สึกสนุกมากขึ้น ไม่ว่าต้นไม้ต้นไหนก็ย่อลงมาได้ มันก็เลยเป็นการสร้างสิ่งเล็ก ๆ สีเขียวในใจเขา ให้เขากล้าลอง”
ต้นแรกคือ
หมากเล็กหมากน้อย เป็นไม้ยืนต้น เป็นไม้ป่า คนไม่ค่อยเห็น ในรุ่นเก่าแก่เขามีการทำต้นนี้กันมาอยู่แล้ว เราก็นำตัวนี้มาทดลองทำดูว่าถ้าเอามาทำเป็นต้นเล็กมันเป็นอย่างไรบ้าง มีสเกลที่โอเคไหม เพราะเดิมทีต้นนี้ใบเขาจะใหญ่อยู่แล้ว ต้นไม้ยิ่งย่อยิ่งเจอแสงจัด ๆ เขาก็จะยิ่งเล็กกระชับขึ้น ต่อด้วย
ว่านมหารวย เป็นต้นที่ขายดีที่สุดในร้าน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยคนก็ยังชอบอยู่ เดิมทีมันเป็นว่านที่มีมาเนิ่นนานแล้วในไทยเรา แต่คนจะไม่รู้ว่ามันเอามาทำแบบนี้ได้ด้วย เราก็เลยเอามาย่อลงในกระถาง ต้นที่ 3 คือ
ต้นข้าวตอกพระร่วงไทย เป็นไม้ที่ค่อนข้างใหญ่ และจะเห็นตัวนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างเยอะ เพราะมันจะมีสายพันธุ์ญี่ปุ่นด้วย ชอบความเย็น ความพิเศษของตัวนี้คือ มีดอกสีขาวคล้ายระฆัง ตัวนี้ก็ใบใหญ่เหมือนกัน
ต้นปลาหมอแคระ ความน่ารักของเขาจะอยู่ที่ใบค่อนข้างเล็ก แต่ว่าเขาค่อนข้างที่จะเซนซิทีฟกับสภาพอากาศ เช่น ช่วงไหนที่แดดร้อน ใบเขาจะเปลี่ยนสี
ต้นโพธิ์ ต้นนี้เริ่มต้นจากเมล็ดที่นกคาบมาจากไหนไม่รู้ แล้วมาทิ้งไว้ในสวนเรา เราก็รู้สึกว่าทิ้งไว้แบบนี้ไม่โตแน่ อาจจะตายไปด้วยซ้ำ เราเลยหยิบมันมาลงในกระถาง คือจริง ๆ แล้วบอสเขามีความคิดหนึ่งที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” เราเห็นภาพชัด ๆ เลยว่า ต้นพิกุลตอนที่มันโตเม็ดมันร่วงเยอะมาก และพวกที่ร่วงหล่นลงมามันก็จะแตกยอดออก แต่มันจะไม่สามารถโตได้เต็มที่ เพราะมันจะแย่งอาหารกัน การที่เราทำบอนไซมันคือสร้างชีวิตเขาให้เติบโต วันหนึ่งที่เรามีที่ที่พร้อม เราค่อยเอาเขาไปลง ต้นโพธิ์ก็เช่นกัน วันหนึ่งที่เราอยากให้เขาลงดิน เราก็เอาไปลง เขาสามารถโตได้
หลังจากที่เริ่มทำต้นไม้สายย่อ คุณเฟรมก็ได้รู้จักกับ กุซาโมโนะ “เวลาไปเที่ยวต่างประเทศหรือที่ไหน เราจะชอบก้มมองพื้นดินเพื่อดูว่ามีต้นอะไรเล็ก ๆ อีกไหม พวกนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กุซาโมโนะ” เป็นการจัดไม้กระถางที่เป็นการนำวัชพืชมาจัดร่วมกับมอส อันนี้จะแยกย่อยออกมาจากบอนไซอีกทีหนึ่ง นี่ก็คือความน่ารักของเขา ในประเทศญี่ปุ่นเขามีการทำหนังสือที่เป็นหนังสือเกี่ยวกับวัชพืชที่เป็นพืชเล็ก ๆ และเขาก็มีวิชาเปิดสอน คือเป็นการเปลี่ยนมุมมองคนจากการที่เราไม่เคยเห็นคุณค่าพืชที่อยู่ตามพื้นดิน ก็ทำให้เขามีความหมาย มีความสำคัญขึ้นมาได้ สิ่งที่หลายคนมักจะถามกันคือเลี้ยงยากหรือเปล่า เฟรมบอกเลยว่ายากนะ คือเราต้องเอาใจใส่มาก ต้องรดน้ำเช้า-เย็น ต้นไม้เล็กเปรียบง่าย ๆ เหมือนเด็กอ่อน ต้นไม้ใหญ่เหมือนผู้ใหญ่ที่โตแล้ว แต่เด็กเล็กเวลาที่เขาเจอแดดแรงเกินไป เขาจะบอบบางเป็นพิเศษ”
ต้นไม้อะไรก็เป็นสายย่อได้อย่างนั้นหรือ “ตอนที่ลองก็คิดว่าทำได้ แต่มันจะมีข้อจำกัด เช่น เราเอาต้นกล้วยมาทำมันก็จะไม่ได้เล็กจิ๋ว ต้นไม้ใหญ่มันก็จะมีสเกลความเล็กของเขาอยู่ อย่างเช่นต้นมะม่วงเราจะเอามาย่อให้มันเหลือเท่านี้ก็ไม่ได้ เพราะโดยนิสัยเขาไม่ได้มีความเล็กจิ๋วขนาดนั้น ก็จะได้สักประมาณ 1 เมตร แต่ต้นมะม่วงยังไม่เคยลอง เคยลองแค่ต้นมะขาม คือจริง ๆ มันเริ่มจากเล็กได้เพียงแต่ว่า เล็ก ๆ เรายังไม่ได้เห็นสรีระชัดเจนมาก ส่วนเวลาที่เราตัดกิ่งเราก็ไม่ได้ตัดมั่ว คือคิดแล้วว่ากิ่งนี้จะให้แตกข้างไหน เป็นการบังคับทรงเขาโดยธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องใช้ลวดดัด ต้องดูให้เป็นว่าต้นไม้มีการแตกใบยังไง แตกกิ่งยังไง เพื่อที่จะตัดแต่งเขาให้สวยตามต้องการ”
จากที่คุณเฟรมเล่าก็ทราบได้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนเมืองและพนักงานออฟฟิศ อายุช่วงประมาณ 20-45 ปี “
เฟรมจะถาม ว่าต้องถามตัวเองก่อนว่าต้องการที่จะเลี้ยงจริง ๆ หรือเปล่า เพราะว่าต้นไม้ต้นเล็ก ถ้าลืมรดน้ำ 1 วันก็อาจจะตายได้เลย เพราะความชื้นในกระถางเขาน้อยมาก หลัก ๆ ต้องรู้จักตัวเองให้มากก่อน สำหรับเฟรม เฟรมรู้สึกว่าต้นไม้มันเป็นตัวบ่งบอกชีวิตเราได้ วันที่ต้นไม้ดี วันที่ต้นไม้โทรมก็บอกได้ว่าเราเป็นคนแบบไหน ถ้าคิดจะเลี้ยงก็ต้องมีเวลา หมั่นดูแล และเรื่องต้นไม้ตายเป็นเรื่องเบสิกปกติมากที่จะต้องเจอ ถ้ามีใจรักจริง ๆ ต้องไม่ท้อ เพราะการที่เขาตายไปทีละต้น เรารู้แล้วว่าเขาตายเพราะอะไรแล้วเราจะไม่ทำสิ่งนั้นซ้ำอีก”
เราปิดท้ายโดยการให้คุณเฟรมเลือกต้นไม้สายย่อให้เราสัก 1 ต้น ซึ่งคุณเฟรมแนะนำเป็น ว่านมหารวย เนื่องจากเลี้ยงง่ายที่สุด สามารถเลี้ยงในห้องก็ได้ ข้างนอกก็ได้ และที่สำคัญคือชื่อมันเป็นมงคลด้วย
https://www.facebook.com/minaturec/
เรื่อง : TONGTA
ภาพ : ศุภกร บุญส่ง