ดอง (Pickle) คือ การแช่อาหารสดในน้ำเกลือ น้ำส้มสายชู เพื่อให้รสเค็มหรือเปรี้ยวเข้าไปแทนที่รสจืดของอาหาร ไม่มีกระบวนการจุลินทรีย์ เป็นวิธีการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง เพื่อให้สามารถเก็บอาหารไว้กินได้นานขึ้น ไม่ใช่แต่บ้านเราที่มีของหมักดอง ชนชาติอื่น ๆ เขาก็มีเช่นกัน เคยได้อ่านบทความอาหารของประเทศจีน เขาว่าแต่ละภาค แต่ละฤดูจะมีอาหารหมักดองต่างกันไป ผักดองของจีนมีด้วยกัน 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
“เสียนไช่” เป็นผักดองที่ใช้เกลือเป็นหลัก คนไทยจะคุ้นตามากคือ ผักกาดดองเค็ม (เกี้ยมไฉ่) ผักกาดดองเปรี้ยว (ซึงไฉ่) และหัวไชโป๊ ประเภทที่ 2 คือ
“เผ้าไช่” จะเป็นการใส่เครื่องเทศ เหล้า พริก พริกหอม น้ำส้มสายชูหรือไวน์การ์ ลงไปหมักด้วย รสชาติที่ได้จะต่างกันไปตามแต่เครื่องเคราที่ใช้หมัก ซึ่งเผ้าไช่นี้ก็คือต้นตำรับของผักดองสไตล์เกาหลีที่เรารู้จักกันในนามของ
“กิมจิ” นั่นเอง ส่วนเผ้าไช่ที่ขึ้นชื่อมากที่สุดคือ
“จ้าไช่” หรือ
“ซี่ชวงฉ่าย” เป็นผักกาดชนิดหนึ่งที่มีลำต้นอวบใหญ่ โดยจะนำลำต้นมาดองกับเกลือจนนุ่มก่อน แล้วจึงบีบเอาน้ำเกลือออกจนหมด ก่อนหมักด้วยส่วนผสมอื่น ๆ ในไหที่ปิดสนิท ผักดองจึงมีกลิ่นเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ผักดองประเภทที่ 3 คือ
“เจี้ยงไช่” เป็นการนำผักสดมาหมักเกลือจนได้ที่ แล้วลดความเค็มลงด้วยการแช่น้ำสะอาด ปิดท้ายด้วยการหมักต่อด้วยซอสหรือซีอิ๊วที่เรียกว่า
“เจี้ยง” เพื่อให้กลิ่นและรสซึมเข้าไปในเนื้อผักอีกครั้ง เจี้ยงไช่จะมี 2 รสชาติคือ แบบหวานและเค็ม ในบ้านเราจะนิยมกินแบบหวานมากกว่า ที่คุ้นตาคือ แตงดองซีอิ๊ว เต้าหู้ยี้ ขิงดองซีอิ๊ว ขิงดองเต้าเจี้ยว รวมถึงเต้าเจี้ยว ด้วยเช่นกัน เจี้ยงไช่จึงนับว่าเป็นการดองที่สามารถใช้กับผักได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นแตงกวา ขิง ถั่ว หัวผักกาด ผักกาดขม ผักกาดหอม กระเทียม ข่า รากบัว หรือถั่วลิสง ซึ่งจะคล้ายกับผักดองของญี่ปุ่นที่เรียกว่า
“ซึเคโมโนะ”
หมัก (Fermentation) คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบอินทรีย์ในอาหารโดยเอนไซม์ ที่ผลิตจากแบคทีเรีย ยีสต์ และรา โดยอาศัยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์บางชนิด เป็นตัวช่วยในการย่อยสลาย อาจเติมเกลือหรือไม่ก็ได้ และอาจเติมส่วนประกอบอย่างอื่น เช่น ข้าวคั่ว เพื่อเสริมให้จุลินทรีย์มีบทบาทในการหมัก ทำให้เกิดรสชาติที่ต้องการ ซึ่งอาจต้องหมักทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน หรือหลายเดือน แล้วแต่ชนิดของวัตถุดิบ เช่น น้ำปลา ปลาร้า ปลาเจ่า หม่ำ ไส้กรอก (เปรี้ยว) หรือข้าวหมาก เป็นต้น สำหรับคนไทยเรามีผักดองมาตั้งแต่โบราณ เรียกว่า
“ผักเสี้ยนดอง” ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย เนื่องจากมีสรรพคุณเป็นยาร้อน กินแล้วเลือดลมดี มีกำลัง แก้ปวดเมื่อย กินแล้วสายตาดี ผิวสวย ในผักเสี้ยนมี วิตามิน A และ C สูงมาก ทั้งยังมีแคลเซียมและเหล็กอีกด้วย รวมถึงมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ของมนุษย์ ที่เรียกว่า
“โปรไบโอติกส์” ตัวช่วยต่อต้านเชื้อโรคที่จะเข้ามาในร่างกาย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยย่อยอาหารที่มนุษย์ย่อยไม่ได้ หรือย่อยได้ไม่หมด ดูดซึมสารอาหาร คอเลสเตอรอล และสร้างวิตามินที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย โปรไบโอติกส์ยังมีหน้าที่สำคัญ คือ ช่วยทำลายสารพิษในลำไส้ ช่วยย่อยอาหารพวกเส้นใย ทำให้การขับถ่ายดีขึ้น ช่วยสร้างและปรับระบบภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติ จึงช่วยลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ได้อีกด้วย
“อาหารหมักดอง เคยถูกมองว่าไม่มีประโยชน์ เพราะค่านิยมของคำว่า “อาหารดี” คืออาหารผ่านการฆ่าเชื้อ หมักดองจึงกลายเป็นอาหารไร้ประโยชน์ในสายตานักบริโภคทันทีที่รู้ขั้นตอนการผลิต ทั้ง ๆ ที่กระบวนการหมักดองนั้นพิถีพิถันมาก มีการคัดกรองแบคทีเรียตัวร้าย หรือแบคทีเรียก่อโรคออกไปแล้วตามกระบวนการทางธรรมชาติ จากเกลือหรือกรดเปรี้ยวที่ใส่ลงไปหมัก จึงมีเพียงแค่แบคทีเรียชนิดดีเท่านั้นที่ทนต่อกรดและความเค็มได้”
ประเภทของการหมักอาหารสามารถแบ่งได้เป็น 3 หัวข้อหลักคือ
“การหมักให้เกิดแอลกอฮอล์” (Alcoholic Fermentation) โดยใช้จุลินทรีย์ เช่น ยีสต์ (Yeast) เช่น Saccharomyces Cerevisiae เป็นการหมักน้ำตาลกลูโคสเพื่อให้ได้เอทิลแอลกอฮอล์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ เบียร์ ไวน์ วอดก้า วิสกี้ บรั่นดี รวมถึงใช้ในการหมักขนมปังเพื่อให้ขึ้นฟูด้วยเช่นกัน ประเภทที่ 2 คือ
“การหมักให้เกิดกรดแล็กติก" (Lactic Acid Fermentation) โดยใช้แบคทีเรียที่ผลิตกรดแล็กติก ได้แก่ Lactobacillus, Streptococcus, Lactococcus, Leuconostoc ที่สามารถหมักให้เกิดกรดแล็กติก โดยมีวัตถุดิบเป็นน้ำตาลแล็กโทส ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจน หรือมีออกซิเจนเล็กน้อย อาทิ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว แหนม ซาลามี่ ผักดอง กิมจิ ซาวเคราท์ ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว และมิโซะ เป็นต้น สุดท้ายคือ
“การหมักให้เกิดกรดแอซิติก” (Acetic Acid Fermentation) โดยใช้แบคทีเรียในกลุ่ม Acetic Acid Bacteria ซึ่งสามารถเปลี่ยนออกซิไดส์เอทิลแอลกอฮอล์ให้เป็นกรดแอซิติกในสภาวะที่มีอากาศ ซึ่งก็คือ น้ำส้มสายชู นั่นเอง
“กิมจิ” อาหารประจำชาติของชาวเกาหลี เรียกว่าถ้าไปนั่งร้านอาหารเกาหลีต้องได้กินอย่างน้อย 1 ถ้วยเล็ก ๆ แต่ถ้ากินแบบเต็มพิกัดเขาจะจัดกิมจิมาให้ได้ลองชิมหลายอย่างเชียวค่ะ การทำกิมจิในสมัยโบราณนั้นเขาใช้แค่ “เกลือ” กิมจิในสมัยแรกจึงถูกเรียกว่า “ชิมเช” ที่หมายถึง “ผักดองเค็ม” ต่อมาในต้นศตวรรษที่ 17 ก็ได้มีการนำ “ผงพริกแดง” เข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการดองกิมจิให้มีรสชาติเข้มข้นมากขึ้น ส่วนวัตถุดิบในการทำกิมจินั้นมีหลายประเภทต่างกันไปตามท้องถิ่น และจากการสำรวจพบว่าในประเทศเกาหลีมีกิมจิให้เลือกกินมากกว่า 300 ชนิดเลยทีเดียว
Bossam
อาหารเกาหลีที่กินกันได้ทั้งครอบครัว เป็นอาหารทำไม่ยากแต่เครื่องเคียงเพียบ ซึ่งเน้นไปทางผักสดที่กินเคียงกัน ส่วนกิมจินั้นสามารถกินได้หลายแบบ ทั้งแบบที่หมักด้วยพริกที่มีรสชาติเข้มข้น หรือหมักด้วยเกลืออย่างเดียวซึ่งรสชาติจะออกเค็มหน่อย ๆ ก็ได้
ส่วนผสม
หมูสามชั้น (ชิ้นใหญ่ไม่ต้องหั่น) 1 กิโลกรัม
หอมหัวใหญ่หั่นชิ้น 170 กรัม
มิโซะเกาหลี 2 ช้อนชา
ขิงหั่นชิ้น 50 กรัม
น้ำเปล่า 7 ถ้วยตวง
กิมจิ ผักสลัดใบใหญ่ ใบงา (ใบโอบะ) กระเทียมจีน พริกชี้ฟ้าสีเขียว และข้าวญี่ปุ่นหุงสุก
วิธีทำ
1. นำหมูสามชั้นใส่หม้อ เติมน้ำเปล่า หอมหัวใหญ่ ขิง และมิโซะเกาหลี ยกขึ้นตั้งไฟพอเดือดช้อนฟองออกให้หมด
2. เบาไฟปิดฝาหม้อ เคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง หรือจนหมูนุ่ม ตักขึ้น
3. หั่นหมูสามชั้นหนาประมาณ ½ เซนติเมตร จัดเสิร์ฟพร้อมกิมจิ ผักสลัดใบใหญ่ ใบงา (ใบโอบะ) กระเทียมจีน พริกชี้ฟ้าสีเขียว และข้าวญี่ปุ่นหุงสุก
ส่วนผสมกิมจิ
ผักกาดขาว 2 หัว
กระเทียม 1 กลีบ
ขิงแก่ปอกเปลือก 35 กรัม
กุ้งเค็มเกาหลี 2 ช้อนโต๊ะ
หัวไชเท้าขูด 300 กรัม
ต้นหอมหั่นท่อนยาว 1 นิ้ว 80 กรัม
พริกป่นเกาหลี 6 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย ½ ช้อนชา
เกลือป่นหยาบ 1 ½ ช้อนชา
วิธีทำ
1. แช่ผักกาดขาวลงในน้ำเกลือประมาณ 3-4 ชั่วโมง
2. ปั่นกระเทียม ขิง กุ้งเค็มจนละเอียดผสมหัวไชเท้าขูด พริกป่นเกาหลี เกลือป่น น้ำตาลทราย คนให้เข้ากัน ใส่ต้นหอมคนให้เข้ากันอีกครั้ง
3. ล้างผักกาดขาวให้หมดความเค็ม บีบน้ำออกให้มากที่สุด
4. ทาส่วนผสมข้อที่ 2 ลงบนผักกาดขาวทีละใบ ม้วนให้แน่น ใส่ภาชนะนำเข้าตู้เย็นแช่ไว้ 2-3 วัน จัดเสิร์ฟ
ส่วนผสมน้ำเกลือ
เกลือป่นหยาบ ½ ถ้วยตวง
น้ำเปล่า 4 ถ้วยตวง
วิธีทำ
ผสมเกลือป่น และน้ำเปล่า คนให้ละลาย
“ข้าวหมาก” เป็นอาหารหมักพื้นบ้านของไทย ทำจากข้าวเหนียวได้ทั้ง 2 ชนิด คือข้าวเหนียวธรรมดาและข้าวเหนียวดำ ในการทำข้าวหมากจะต้องใช้ลูกแป้งข้าวหมาก ลักษณะเป็นก้อนแป้งครึ่งวงกลม สีขาวนวล น้ำหนักเบา ในลูกแป้งข้าวหมากจะมีเชื้อราสกุล Mucor sp., Amylomyces sp. ซึ่งสามารถสร้างเอนไซม์อมิเลสออกมาย่อยแป้งในข้าวเหนียวให้เป็นน้ำตาล น้ำตาลหรือน้ำหวานที่ได้จากการย่อยข้าวเหนียวนี้เรียกว่า น้ำต้อย และน้ำต้อยที่ย่อยได้ในระยะแรกช่วงวันที่ 1 และ 2 ยังไม่ค่อยหวานจัด แต่จะเริ่มหวานจัดประมาณวันที่ 3 และถ้าหมักไว้นานเป็นสัปดาห์จะมีกลิ่นเหล้าอ่อน ๆ คนไทยจะนิยมกินข้าวหมากเป็นอาหารว่าง อาหารกินเล่น โดยเฉพาะเวลาที่อากาศร้อน เพราะข้าวหมากจะมีรสหวาน เมื่อนำไปแช่เย็นก่อนกินจะทำให้สดชื่นขึ้นมากทีเดียว
หลนปูเค็มข้าวหมาก
ข้าวหมากนอกจากนำมาแช่เย็นกินให้ชื่นใจแล้ว ยังสามารถนำมาทำเป็นเมนูอาหารได้ด้วย นับเป็นอีกเมนูหนึ่งที่ทำง่ายและให้รสชาติอร่อยจนต้องตะลึง เพราะรสของข้าวหมากที่แทรกอยู่ในเมนูหลนถ้วยนี้ทำให้รสกลมกล่อมขึ้นจากที่เคยกินมา
ส่วนผสม
เนื้อกุ้งสับละเอียด 100 กรัม
ปูนาดองเค็ม 8 ตัว
หัวกะทิ 2ถ้วยตวง
ข้าวหมาก 120 กรัม
หอมแดงซอย ½ ถ้วยตวง
พริกชี้ฟ้าสามสีหั่นแว่น ½ ถ้วยตวง
เกลือป่นหยาบเล็กน้อย
ใบมะกรูดซอยเล็กน้อย
ผักสด เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ
วิธีทำ
1. ล้างปูนาให้สะอาด แกะกระดองออก ดึงนมปูและปลายเล็บออก หักครึ่งตัว เตรียมไว้
2. เทหัวกะทิใส่หม้อ ใส่กุ้งสับ คนให้เข้ากัน ยกขึ้นตั้งไฟ พอส่วนผสมเริ่มเดือดใส่ปูนา ตามด้วยข้าวหมาก คนให้เข้ากัน
3. ปรุงรสด้วยเกลือป่นชิมรสตามชอบ ใส่หอมแดง พริกชี้ฟ้า และใบมะกรูด คนให้เข้ากันเดือดอีกครั้ง ตักใส่ภาชนะ จัดเสิร์ฟพร้อมผักสดตามชอบ
ส่วนผสมข้าวหมาก
แป้งข้าวหมาก 1 ลูก
ข้าวเหนียวนึ่งสุก 300 กรัม
น้ำเปล่า
วิธีทำ
1. นำข้าวเหนียวนึ่งสุกไปแช่น้ำ ใช้มือถูเบา ๆ เพื่อล้างยางข้าวออกจนหมด เทใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำ
2. บี้แป้งข้าวหมากให้ละเอียด นำไปคลุกข้าวเหนียวที่ล้างไว้
3. นำใส่กล่องหรือภาชนะที่ปิดฝาได้ (ปิดโดยไม่ต้องล็อค) วางที่อุณหภูมิห้องปกติประมาณ 3 วัน จากนั้นนำเข้าตู้เย็นเพื่อหยุดการทำงานของเชื้อ นำมารับประทานได้ทันที
“ผักกาดดอง” นับเป็นราชาแห่งผักดองทุกชนิด เรียกว่าเป็นผักดองยอดนิยมของคนเอเชียเลยก็ว่าได้ ผักกาดดองโดยส่วนใหญ่จะใช้ผักกาดเขียว มีให้เลือก 2 แบบ คือ ผักกาดดองเค็ม และผักกาดดองเปรี้ยว มีขั้นตอนในการทำคล้ายกัน แต่ผักกาดดองเปรี้ยวจะใส่น้ำซาวข้าวลงไปด้วยเท่านั้นเอง ผักกาดดองสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด ทั้งต้ม ผัด แกง ตุ๋น เรียกว่าครบเครื่องเรื่องอาหารอย่างแท้จริง และคาดว่าจะเป็นของติดบ้านสำหรับคนเอเชียแน่นอน
หมูสามชั้นตุ๋นผักกาดดอง
เมนูจีนที่นิยมกินกับข้าวสวยหรือข้าวต้ม เป็นการนำหมูสามชั้นมาตุ๋นจนนุ่มกับเครื่องเทศหลายชนิด เพิ่มรสเข้มข้นด้วยผักกาดดองได้ทั้งแบบเค็มและเปรี้ยว ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน และสามารถตัดรสเข้ม ๆ ได้ด้วยพริกขี้หนูและกระเทียมได้ตามแบบของไทย
ส่วนผสม
หมูสามชั้น 1 กิโลกรัม
ผักกาดดองหั่นชิ้น 300 กรัม
น้ำตาลทรายไม่ฟอกสี ½ ถ้วยตวง
น้ำเปล่า (1) 3 ช้อนโต๊ะ
ซอสเห็ดหอม 2 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วดำหวาน 2 ช้อนโต๊ะ
เหล้าจีน 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า (2) 4 ½ ถ้วยตวง
น้ำเปล่าสำหรับต้มหมู
วิธีทำ
1. นำหมูสามชั้นขูดขนล้างให้สะอาด พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
2. ตั้งกระทะพอร้อน นำหมูสามชั้นส่วนหนังนาบกับกระทะจนหนังตึงเหลืองเล็กน้อย
3. ต้มน้ำเปล่าพอเดือด ใส่หมูสามชั้นลงต้มประมาณ 10 นาที ตักขึ้นหั่นเป็นชิ้น
4. ใส่น้ำตาลทรายและน้ำเปล่า (1) ลงในกระทะเคี่ยวจนน้ำตาลละลาย มีกลิ่นหอม ยกลง
5. ใส่ผักกาดดองและหมูสามชั้นลงในหม้อ ใส่น้ำเปล่า (2) ซอสเห็ดหอม ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำหวาน เหล้าจีน และน้ำตาลที่เคี่ยวไว้ ยกขึ้นตั้งไฟพอเดือด ช้อนฟองออกให้หมด เคี่ยวด้วยไฟอ่อนประมาณ 1 ½ - 2 ชั่วโมง
หรือจนหมูสามชั้นนุ่ม ตักใส่ภาชนะ จัดเสิร์ฟ
ส่วนผสมผักกาดดอง
ผักกาดเขียวปลี 1 กิโลกรัม
เกลือป่นหยาบ 50 กรัม
วิธีทำ
1. ล้างผักกาดเขียวปลีให้สะอาด อาจจะใช้ทั้งต้นหรือผ่าซีกก็ได้
2. นำผักผึ่งแดดพอเหี่ยวเพื่อลดปริมาณน้ำในผัก นำมานวดกับเกลือให้ทั่ว ใส่ขวดโหลอัดให้แน่น หรือนำถุงพลาสติกใส่น้ำทับเพื่อไม่ให้ถูกอากาศ ทิ้งไว้ 2-3 วันเกลือจะละลาย และมีน้ำผักออกมา คนให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วหมักต่อ 4-5 วัน
“ขิงดอง” เป็นหนึ่งในวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ช่วยให้เก็บรักษาอาหารไว้ได้นานขึ้น ขิงดองมักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องเคียงอาหาร หรือที่เราพูดกันติดปากว่า “กินกันเลี่ยน” ซึ่งสามารถกินเคียงกับอาหารได้หลายชนิด ทั้งข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ซูชิ ซาชิมิ เป็นต้น ขิงดองจะมีให้เลือก 2 สี คือสีธรรมชาติ (เหลืองนวล) และสีชมพู ซึ่งเป็นขิงดองที่ใส่น้ำมะนาวลงไป เพราะเมื่อขิงทำปฏิกิริยากับน้ำมะนาวก็จะกลายเป็นสีชมพูอ่อน ๆ แต่สีชมพูที่เปลี่ยนไปนี้จะเป็นสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่สีชมพูเข้มอย่างที่เห็นในร้านอาหารบางร้าน
ข้าวหน้าเนื้อสไตล์โฮมเมด
จานเดียวสไตล์ญี่ปุ่นที่อยากให้ลองชิมกัน สามารถทำได้ทั้งเนื้อตุ๋นและเนื้อย่าง ซึ่งเดี๋ยวนี้มีให้เห็นเยอะมาตามร้านขายอาหารญี่ปุ่น โดยหั่นเนื้อเป็นชิ้นใหญ่ ๆ ใส่มาจนล้นจาน กินแกล้มกับขิงดองเพื่อตัดรสเลี่ยน และถ้าจะให้เด็ดแนะนำให้หย่อนวิซาบิลงไปหน่อยอร่อยเลย
ส่วนผสม
เนื้อวัวส่วนสะโพกสไลซ์บาง 150 กรัม
น้ำซุปไก่ ½ ถ้วยตวง
ซอสเทริยากิ 2 ช้อนโต๊ะ
โชยุ (ซีอิ๊วญี่ปุ่น) ½ ช้อนชา
หอมหัวใหญ่ซอย 40 กรัม
ต้นหอมซอยสำหรับโรย
ข้าวสวยญี่ปุ่น
ขิงดอง
ไข่ออนเซ็น
วิธีทำ
1. ใส่น้ำซุปไก่ ซอสเทริยากิ โชยุ ลงในหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟคนจนละลาย
2. ใส่หอมหัวใหญ่ลงไป เคี่ยวประมาณ 2-3 นาที หรือจนนิ่ม จึงใส่เนื้อวัวลงไปเคี่ยวต่อจนสุก และน้ำงวดลงเล็กน้อย
3. ตักราดบนข้าวสวย โรยต้นหอมซอย ไข่ออนเซ็น และขิงดอง
หมายเหตุ ถ้ารสหวานไปสามารถปรุงรสเพิ่มด้วยเกลือป่นได้เล็กน้อย
ส่วนผสมขิงดอง
ขิงอ่อน 250 กรัม
เกลือป่น 1 ½ ช้อนชา
น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า ¼ ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1 ½ ช้อนชา
น้ำมะนาว 1 ½ ช้อนชา
วิธีทำ
1. ปอกเปลือกขิงและฝานบาง ๆ ใส่ลงแช่ในน้ำเกลือประมาณ 15 นาที นำขิงขึ้นบีบให้แห้ง
2. ผสมน้ำตาลทราย น้ำส้มสายชู เกลือป่น และน้ำเปล่า คนให้เข้ากัน ยกขึ้นตั้งไฟ เคี่ยวจนน้ำตาลทรายละลาย ยกลงพักไว้พออุ่น เทใส่ลงในโหลแห้ง
3. ใส่ขิงลงในน้ำปรุงรสข้อที่ 2 ใส่น้ำมะนาว คนให้ทั่ว ขั้นตอนนี้จะทำให้ขิงเป็นสีชมพู
4. ปิดฝานำเข้าตู้เย็น แช่ไว้อย่างน้อย 48 ชั่วโมง
ส่วนผสมน้ำเกลือ
เกลือป่นหยาบ 1 ½ ช้อนชา
น้ำเปล่า 2 ถ้วยตวง
วิธีทำ
ผสมน้ำเปล่ากับเกลือป่นคนให้ละลาย เตรียมไว้
“โยเกิร์ต” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนมสด นมพร่องมันเนย หรือนมถั่วเหลือง โดยการใช้แบคทีเรีย แล็กโตบาซิลัส เอซิโดซิส และสเตรปโตคอคคัส เทอร์โมฟิลลัส เป็นหลักใส่ลงไปหมักผลิตภัณฑ์นมต่าง ๆ แบคทีเรียเหล่านี้ช่วยย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนมให้เป็นกรดแล็กติก ทำให้มีภาวะกรดและมีรสเปรี้ยว นักประวัติศาสตร์มีความเห็นว่า โยเกิร์ตเป็นอาหารยุคโบราณราวศตวรรษที่ 4 ถึง 6 ก่อนคริสตกาล ของชาวทราเซียนมีวิธีการเก็บรักษาน้ำนมไว้ในถุงที่ทำจากหนังแกะ เวลาเดินทางก็เอาถุงนี้คาดเอวไว้ ความอบอุ่นจากร่างกายรวมกับจุลชีพที่มีอยู่ในหนังแกะ ช่วยให้เกิดปฏิกิริยาการหมักขึ้น น้ำนมในถุงก็กลายสภาพเป็นโยเกิร์ตไป ปัจจุบันโยเกิร์ตมีให้เลือกหลากหลายรสชาติ อีกทั้งยังสามารถนำมาดัดแปลงเป็นอาหารได้มากมาย จึงกลายเป็นวัตถุดิบที่มากไปด้วยประโยชน์ในราคาที่ไม่แพงเลย
Frozen yogurt Bars
ขนมหวานเย็น ๆ สไตล์ฝรั่ง เหมาะกับเด็ก ๆ หรือแม้แต่สาว ๆ ที่อยากลดหุ่น รสที่ได้ไม่หวานมาก เนื่องจากส่วนผสมหลักคือโยเกิร์ตและผลไม้รสปรี้ยว สามารถกินกันได้ไม่เบื่อ โดยเฉพาะในประเทศที่อากาศร้อนอบอ้าวแบบบ้านเรา
ส่วนผสม
น้ำมะนาว ½ ช้อนโต๊ะ
วานิลลา 1 ช้อนชา
น้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ
กรีกโยเกิร์ต 2 ถ้วยตวง
กระดาษไข
บลูเบอร์รีสำหรับตกแต่ง
แบล็คเบอร์รีสำหรับตกแต่ง
วิธีทำ
1. ผสมกรีกโยเกิร์ต น้ำผึ้ง น้ำมะนาว และวานิลลาเข้าด้วยกัน เทใส่พิมพ์หรือถาดที่รองด้วยกระดาษไข
2. ตกแต่งด้วยบลูเบอร์รีและแบล็คเบอร์รีจนทั่ว นำเข้าช่องแช่แข็งประมาณ
4-6 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะแข็ง นำออกจากตู้เย็น จัดเสิร์ฟ
ส่วนผสมกรีกโยเกิร์ต
นมสด 1 ลิตร
นมผง ½ ถ้วยตวง
กรีกโยเกิร์ต 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. เทนมสดลงในหม้อ ใส่นมผง คนให้เข้ากัน ยกขึ้นตั้งไฟอ่อน พอเดือดยกลง
2. พักส่วนผสมนมให้เหลืออุณหภูมิ 95-115 องศาฟาเรนไฮต์ ตักส่วนผสมเล็กน้อยใส่ลงผสมกับกรีกโยเกิร์ต แล้วเทกลับลงไปคนผสมกับส่วนผสมนมคนให้เข้ากัน ตักใส่ภาชนะตามชอบ