พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
33,727    56    -4    2 ธ.ค. 2559 10:41 น.
แบ่งปัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2559
 

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ  พระองค์มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐาภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
 

เสด็จพระราชสมภพ วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เมื่อเวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต  พระนามเมื่อแรกประสูติว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร
 
  
 
  
 
  


ขณะเมื่อทรงพระราชสมภพนั้น ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยพระประสูติการต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัส แซ่ซ้องในพระบุญญาธิการ ดังที่ ศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้บรรยายถึงบรรยากาศก่อนเวลาเสด็จพระราชสมภพ ตราบจนถึงนาทีอันเป็นมงคลฤกษ์ว่า “...วันนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า ฝนไม่ได้ตกมานาน นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา 17 นาฬิกา กับ 45 นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยปรายละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้ อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุกๆ ดวง นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ ซึ่งพร้อมที่จะบอกแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถานว่า พระราชโอรส หรือ พระราชธิดา กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่า พระราชโอรส ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบาร มีปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว...ดวงใจทุกดวงมีความสุข...” นับแต่นั้นมา ประชาชนชาวไทยต่างเฝ้าติดตามข่าวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ด้วยความจงรักภักดี และต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัสยิ่งขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษา มีพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เพียบพร้อมด้วยพระราชจริยวัตรและพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ปวงชนชาวไทยต่างปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฎว่า

“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

ในมงคลวาระนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นจะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อชาติบ้านเมือง และประชาชนชาวไทย เป็นที่ซาบซึ้งประทับใจพสกนิกรยิ่ง ดังความว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยเฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ท่ามกลางสันนิบาตนี้ว่า ข้าพเจ้าผู้เป็น สยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”
 

การศึกษา
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงได้รับการศึกษาระดับอนุบาลศึกษาที่พระที่นั่งอุดรภาค พระราชวังดุสิต และทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนจิตรลดา ระหว่าง พ.ศ. 2499-2505 ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2509-2513 หลังจากนั้นได้ทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

พ.ศ. 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี โดยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์รับผิดชอบวางหลักสูตร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2519

สำหรับการศึกษาทางการทหาร พ.ศ. 2519 ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย

นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรประจำชุดที่ 5-6 ระหว่าง พ.ศ. 2520-2521 และทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2531 ครั้นถึง พ.ศ.2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักรด้วย
 

 

 

ทรงผนวช
วันที่ 6 พ.ย.2521 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราช วาสนมหาเถร วัดราชบพิธ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ถวายพระสมณนามว่า วชิราลงฺกรโณ ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครบ 15 วัน ทรงลาผนวช


พระราชโอรส-พระราชธิดา

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ประสูติเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548
 
  


พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์มาโดยตลอด เพื่อแบ่งเบาพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งในการพระราชพิธีสำคัญ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรไทย และพระราชพิธีทางศาสนาต่างๆ

นอกจากนี้ได้โดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปแปรพระราชฐานประทับแรมตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยทรงติดตามความก้าวหน้าด้านการชลประทาน การสร้างเขื่อนต่างๆ และพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านกราบทูล ส่งให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคล จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกณียกิจ เช่น เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ พระองค์ก็ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย

ด้านการศึกษา ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสนับสนุนให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิดีทัศน์ และในด้านการอุดมศึกษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ แทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ

ทรงจัดตั้งโครงการทุนการศึกษาพระราชทานด้วยทรงมีพระราชปณิธานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทย และในปี 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารขึ้น โดยทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนทุนพระราชทานทุกรุ่นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มีอัตราสูงกว่าร้อยละ 97 โดยผู้ได้รับทุนพระราชทานไม่มีภาระผูกพันที่ต้องใช้ทุนคืน และเมื่อจบการศึกษา ทรงเปิดโอกาสให้สมัครเข้าถวายงานเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ได้ตามความสมัครใจ

ด้านสังคมสงเคราะห์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงพระกรุณาห่วงใยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาส ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติด

ด้านการต่างประเทศ ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีป เช่น ประเทศอิตาลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น อิหร่าน เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐเปรู ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นอกจากจะมุ่งเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและศึกษากิจการต่างๆ ที่จะทรงนำประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาประเทศไทย เช่น เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร ศิลปวัฒนธรรม อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน
 

    


ด้านเกษตรกรรม ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมกิจการด้านเกษตรกรรม เช่น เสด็จฯ แทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล

ด้านพระศาสนา ทรงเสด็จฯ แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านระดับประเทศ

ด้านการกีฬา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งในผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง เช่น พระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม

ด้านการทหาร ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระวิริยะอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2518 และทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พล.อ. พล.ร.อ. พล.อ.อ. โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จ.ตราด อีกทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการด้านทหาร อาทิ งานวันราชวัลลภ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานับประการด้วยความวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นตั้งใจอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์และทรงปฏิบัติในส่วนพระองค์เองล้วนเป็นไปเพื่อประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้ามั่นคงและเพื่อประชาชนชาวไทยได้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

16 สิงหาคม 2558 ทรงนำปั่นจักรยานกิจกรรม Bike for Mom “ปั่นเพื่อแม่” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

11 ธันวาคม 2558 ทรงนำปั่นจักรยานกิจกรรม Bike for Dad “ปั่นเพื่อพ่อ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

1 ธันวาคม 2559 เสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  รัชกาลที่ 10

 
 

 

บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว