โครงการหลวง... โครงการที่ช่วยพลิกทุกชีวิตบนยอดดอย

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
26,334    62    -4    15 ต.ค. 2559 14:02 น.
แบ่งปัน
เมื่อปีก่อนเราได้แอบไปเที่ยวกับเขาเหมือนกันที่ โครงการหลวงอินทนนท์ นอกจากได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศเย็นสบายในช่วงฤดูหนาวแล้ว ยังได้ชิมอาหารอร่อย ๆ ที่นำผลผลิตจากโครงการหลวงมาปรุงด้วย อาทิ เมนูปลาเทราต์ย่าง หรือแม้แต่เครื่องดื่มหอมกรุ่นอย่างกาแฟอาราบิก้า ซึ่งเราคิดว่าทุกอย่างน่าสนใจมากจนต้องหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกัน รวมถึงทางทีมงานต้องการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการหลวงให้กับผู้อ่านได้ทราบด้วยเช่นกัน สำหรับโครงการหลวงในประเทศไทยนั้นมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขา ที่บ้านดอยปุย (ใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์) จึงทรงทราบว่าชาวเขาโดยส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกฝิ่น และเก็บผลไม้ขาย แต่กลับมีฐานะยากจน เนื่องจากไม่รู้วิธีการปลูกและเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง
        
จึงดำริให้จัดตั้ง “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” จนในปี พ.ศ. 2535 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิโครงการหลวง” โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย สำหรับเป็นงบประมาณดำเนินงานต่าง ๆ ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายช่วยฟื้นฟูชีวิตของชาวเขาให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กำจัดการปลูกฝิ่น รักษาดิน และใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวน ในส่วนที่ควรเพาะปลูก ซึ่งในระยะแรกเป็นโครงการอาสาสมัคร โดยมีอาสาสมัครจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกองทัพอากาศ ปัจจุบันโครงการหลวงดำเนินงานใน 5 จังหวัดทางภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอน มีสถานีวิจัย 4 สถานี และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง รวม 38 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน และพะเยา ประชากรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 288 กลุ่ม บ้าน 39,277 ครัวเรือน รวม 168,445 คน

       
หลังจากมีการจัดตั้งโครงการฯ ได้ไม่นานนักก็เริ่มเป็นที่สนใจจากต่างชาติ เริ่มจากสหประชาชาติ โดยจัดตั้งโครงการ UN/Thai Program for Drug Abuse Control ซึ่งได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือเป็นครั้งคราว ต่อจากนั้นคือ กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA/ARS) ที่ร่วมจัดตั้งโครงการวิจัยและพัฒนาภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ทำให้มีองค์ความรู้ด้านการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยเพื่อหาชนิดและพันธุ์พืชที่เหมาะสมต่อการปลูกบนพื้นที่สูง การศึกษาวิธีการปลูกและการปฏิบัติรักษา รวมทั้งงานวิจัยด้านอื่น ๆ เช่น ไม้ผลเขตหนาว เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ทำให้เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชเมืองหนาว
ส่วนผลผลิต อาทิ สาลี่ ท้อ บ๊วย พลัม พลับ วอลนัท เห็ดหอม เห็ดหูหนู  ตังกุย เก็กฮวย ดอกไม้จีน ไม้โตเร็ว และเมล็ดพันธุ์ผักอีกหลายชนิด ทางโครงการหลวงได้นำพันธุ์พืชมาจากประเทศไต้หวัน ทำให้ผลผลิตของโครงการหลวงมีมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน สำหรับงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาอาชีพของชาวเขามีหลายอย่าง ได้แก่ ถั่วแดงหลวง ซึ่งปัจจุบันมีการปลูกกันอย่างกว้างขวางทางภาคเหนือของประเทศไทย ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน เป็นต้น สตรอว์เบอร์รี โครงการหลวงได้นำพันธุ์สตรอว์เบอร์รีจากต่างประเทศมาทดลองปลูกประมาณ 40 พันธุ์ คัดไว้ได้ 2 พันธุ์ และให้ชาวบ้านนำไปปลูกทดลอง ปรากฏว่ามีพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่เกษตรกรนิยม 1 พันธุ์ คือ พันธุ์พระราชทานเบอร์ 16 จึงนำไปส่งเสริมให้แก่ราษฎรพื้นราบของเมืองเชียงใหม่ปลูกจำหน่ายสู่ตลาด ซึ่งเป็นที่นิยมของคนไทยทั่วไป ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย รวมถึงการศึกษาการปฏิบัติรักษาที่ดีขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรในโครงการหลวงได้ปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค 

       
กาแฟอาราบิก้า หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้มอบให้นักวิจัยศึกษาการปลูกกาแฟอาราบิก้าในพื้นที่โครงการหลวงซึ่งเป็นพื้นที่สูง พบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีจึงได้มีการศึกษาพันธุ์กาแฟอาราบิก้า ต้านทานโรคราสนิม รวมถึงการศึกษาด้านการปฏิบัติรักษาการปลูกกาแฟอาราบิก้าด้านต่าง ๆ โดยทุนการวิจัยจาก USDA/ARS นอกจากนั้นยังมีพืชผักเขตหนาว เป็นพืชที่มีระยะเวลาปลูกสั้น สามารถนำไปเป็นอาหาร และจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว อาทิ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหางหงส์ และแคร์รอต ส่วนผลไม้เขตหนาวนั้นได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐจีนไต้หวัน และทุนการวิจัยจาก USDA/ARS หลายชนิด เช่น พีช สาลี พลับ พลัม บ๊วย อะโวคาโด กีวีฟรุต เสาวรส ฯลฯ

       
ปัจจุบันโครงการหลวงยังมีการวิจัยกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพืชผลเมืองหนาวไปจนถึงการเลี้ยงสัตว์อีกหลายชนิดที่สามารถเลี้ยงได้ดีในภูมิอากาศหนาวเย็น อาทิ ปูขน ปลาเทราต์ ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการนำผลิตผลมาดัดแปลงให้เป็นอาหารสำเร็จรูปอีกหลายชนิด อาทิ ชาชนิดต่าง ๆ  น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง ข้าวกล้องดอย แยมชนิดต่าง ๆ หรือแม้แต่ของขบเคี้ยว ซึ่งของเหล่านี้มีจำหน่ายที่ ร้านโครงการหลวง ร้านดอยคำ หรือห้างสรรพสินค้าชั้นนำบางแห่ง ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถหาซื้อได้ไม่ยากนัก ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าอาหารมื้อต่อไปของคุณจะนำผลผลิตของโครงการหลวงมาปรุงเป็นอาหารเมนูไหน หรือถ้ายังไม่มีไอเดียดี ๆ ก็สามารถเลือกเมนูจากเราได้เลย
 
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด