ส่วนประกอบในใบกัญชา
กัญชาที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้คือ ใบกัญชาสด เช่น ใบกัญชาอ่อน หรือใบเพสลาด (ไม่อ่อนไม่แก่) ซึ่งในใบกัญชาสดจะมีสาร CBD และ THCA ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่สาร THCA สามารถเปลี่ยนเป็นสาร THC หรือสารเมาได้ ด้วยกระบวนการความร้อน ในใบกัญชามีกรดกลูตามิก ช่วยทำให้อาหารอร่อยขึ้น และสาร THC จะเพิ่มกลิ่นหอมของอาหาร จึงมักนำมาปรุงอาหารให้คนไข้ที่มีอาการเบื่ออาหาร
ปริมาณที่กินได้
เราสามารถกินใบสดได้แบบผักสดเนื่องจากไม่ค่อยมีสารเมา เลือกกินใบสด ยำ หรือนำไปคั้นน้ำดื่ม น้ำปั่น แต่หากนำไปผ่านความร้อนไม่ควรกินเกิน 5-8 ใบต่อวัน หากกินเมนูต้ม ตุ๋น แกง ควรกินแต่น้ำ ไม่กินใบที่ใส่ลงไป ส่วนใบแห้งของกัญชาจะมีสาร THC อยู่ในตัว ประมาณ 1-2 มิลลิกรัมต่อใบ หากนำมาปรุงอาหารด้วยการใช้ความร้อนหรือไขมันอีก ปริมาณสาร THC จะยิ่งสูงขึ้นด้วย กรมอนามัยจึงแนะนำปริมาณใบกัญชาต่อเมนูไว้ดังนี้
- อาหารประเภททอด : ใช้ใบกัญชา 1-2 ใบสด กรณีทำไข่เจียว แนะนำครึ่งใบ-1 ใบสด เนื่องจากสาร THC และ CBD ละลายได้ดีในน้ำมัน
- อาหารประเภทผัด : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด
- อาหารประเภทแกง : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด
- อาหารประเภทต้ม : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด
- ผสมในเครื่องดื่ม ขนาด 200 มิลลิลิตร : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด
อาการ วิธีแก้
อาการข้างเคียงเมื่อกินใบกัญชาคือ ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน รู้สึกมึนงง ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว เนื่องจากใบกัญชาที่กินอาจมีสาร THC มากเกินไป โดยอาการจะแสดงผลหลังกิน 30-60 นาที และจะแสดงอาการเด่นชัดที่เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง-3 ชั่วโมง หลังกินแล้ว แก้อาการด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ หากมีอาการมึนเมาให้ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือดื่มชารางจืด เพื่อบรรเทาอาการ และควรกินเมนูกัญชาจากร้านที่ซื้อใบกัญชาจากแหล่งปลูก และแหล่งจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว
ข้อควรระวัง
- ไม่กินร่วมกับแอลกอฮอล์
- เด็ก เยาวชน ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ไม่ควรกิน เพราะอาจเกิดภาวะเสพติด
- ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร รวมทั้งผู้หญิงที่วางแผนกำลังจะมีบุตร ไม่ควรกิน
- ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ที่ตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ควรกิน
- ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน หรือยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ ไม่ควรกิน
- ผู้ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยารักษาอาการจิตเวช ไม่ควรกิน
ข้อมูลจาก : คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข