กลิ่นกาแฟหอมกรุ่นในช่วงบ่ายของวันทำให้ร่างกายรู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้น และถ้าวันไหนมีของว่างขบเคี้ยวด้วยแล้วยิ่งช่วยให้ร่างกายมีแรงทำงานขึ้นไปอีก ดังนั้นในช่วงบ่ายแก่ ๆ จึงเป็นเหมือนเวลาพักผ่อนของพนักงานออฟฟิศ และใช้เวลาเพียงแค่ 10-15 นาทีเท่านั้น เพื่อจิบกาแฟ ดื่มชา พร้อมกับรับประทานของว่าง ในระหว่างนี้อาจพูดคุยกันเรื่องสนุก ๆ ระหว่างกลุ่มเพื่อนในที่ทำงาน เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยลดอาการเครียดหลังจากทำงานมาเกือบทั้งวันได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว
กันบ้าง อาหารว่าง หมายถึง อาหารระหว่างมื้อ เป็นอาหารประเภทเบา ๆ มีปริมาณอาหารน้อยกว่าอาหารประจำมื้อ อาจจะเป็นอาหารน้ำหรืออาหารแห้ง มีทั้งคาวและหวาน หรือเป็นอาหารชิ้นเล็ก ๆ ขนาดพอดีคำหยิบรับประทานได้ง่าย มักนิยมรับประทานกันในระหว่างมื้อเช้ากับมื้อกลางวัน หรือระหว่างมื้อกลางวันกับมื้อเย็นแบ่งออกเป็น 3 ระยะเวลา คือ 10.00-11.00 น., 14.00-15.00 น. และ 22.00-23.00 น. ในยุคนี้อาหารว่างโดยส่วนใหญ่มักเป็นขนมหรืออาหารที่หาซื้อได้ง่าย อาทิ ขนมปังกรอบ ผลไม้ เค้กชิ้นเล็ก ฯลฯ ซึ่งหลายคนคงลืมไปแล้วว่าจริง ๆ แล้วอาหารว่างของไทยเราก็มีเช่นกัน
อาหารว่างของไทยมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณ แม่บ้านสมัยก่อนใช้เวลาว่างในการทำอาหารว่างเก็บไว้ โดยใช้วัสดุที่เหลือจากอาหารมื้อหลักให้เป็นประโยชน์ และใช้วัสดุที่มีมากในฤดูกาลมาประกอบเป็นอาหารว่าง เช่น ข้าวตังหน้าตั้ง เมี่ยงลาว เมี่ยงส้ม ข้าวตู ข้าวตอกตั้ง ข้าวเม่าหมี่ ขนมจีบ หรือปั้นสิบทอด เป็นต้น อีกหมวดหนึ่งคือ
ในปัจจุบันอาหารว่างมีความจำเป็นโดยเฉพาะคนที่ต้องเดินทางไกลระหว่างบ้านกับที่ทำงาน รวมทั้งเด็ก ๆ ที่ต้องไปโรงเรียน จึงควรรับประทานอาหารระหว่างมื้อ อาหารว่างควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ทำง่าย รับประทานแล้วไม่อิ่มจนเกินไป และสะดวกที่จะรับประทาน อาทิ แซนด์วิช ขนมปังไส้ต่าง ๆ หรือผลไม้ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังสามารถแบ่งตามลักษณะได้ 6 ประเภท ได้แก่ ของนึ่ง (สาคูไส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อ ช่อม่วง ปั้นสิบ) ของต้ม (เกี๊ยวกุ้ง กระเพาะปลา) ของทอด (ขนมปังหน้าหมู เปาะเปี๊ยะทอด ขนมเบื้อง หมูโสร่ง) ของปิ้ง (หมูสะเต๊ะ ข้าวเหนียวปิ้ง ไส้กรอก) ของคลุก (ปลาแนม ข้าวเม่าหมี่ หมี่กรอบ หมี่กะทิ) และของเบ็ดเตล็ด (ข้าวตังหน้าตั้ง เมี่ยงลาว เมี่ยงคำ)
วัฒนธรรมการรับประทานอาหารว่างเริ่มมีตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มต้นมาจากดินแดนตะวันตกเมื่อหลายศตวรรษมาแล้วโดยชนชั้นสูง เช่น กษัตริย์ และขุนนาง จากนั้นจึงค่อย ๆ แพร่หลายมาสู่คนสามัญ โดยมีมูลเหตุก็เพื่อใช้ฆ่าเวลาขณะพักจากการทำงาน หรือชมมหรสพ การหาของมารับประทานจึงเป็นตัวช่วยได้ดี ธรรมเนียมการเสิร์ฟอาหารว่างจะนิยมกัน 2 ช่วงเวลา คือช่วงบ่ายต่อจากมื้อเที่ยงประมาณ 2 ชั่วโมง และตอนกลางคืนราว 3 ทุ่มเป็นต้นไป โดยที่อาหารว่างในยามบ่ายนั้นจะได้รับความนิยมมากกว่าตอนกลางคืน โดยมากมักเป็นอาหารเบา ๆ ไม่หนักท้องเกินไป เป็นชิ้นพอดีคำ รับประทานได้เรื่อย ๆ ซึ่งรวมไปถึงฟิงเกอร์ฟู้ดที่สามารถใช้มือหยิบจับรับประทานได้ โดยไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมายนัก ที่สำคัญยังนิยมเสิร์ฟคู่กับเครื่องดื่มที่สามารถเรียกความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าระหว่างวันให้พร้อมลุยงานอีกครั้ง เช่น ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มประจำถิ่นที่แต่ละชนชาติได้คิดค้นขึ้นมา เพื่อเพิ่มให้การรับประทานอาหารว่างเต็มไปด้วยความสุขมากยิ่งขึ้น
อาหารว่างมีอยู่ทั่วโลก แต่ละพื้นที่มีวัฒนธรรมต่างกันออกไป โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน ดังนั้นอาหารว่างของแต่ละพื้นที่นั้นก็ต่างออกไปเช่นกัน เริ่มจาก ติ่มซำ จัดเป็นอาหารว่างของจีนที่เราคุ้นตากันอยู่แล้ว ซึ่งที่มาของเมนูนี้เริ่มมาจากวัฒนธรรมการดื่มชาหรือหยำฉาของชาวกวางตุ้ง พร้อมกับอาหารชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นค่อยกลายมาเป็นติ่มซำในรูปแบบต่าง ๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งของต้ม ของนึ่ง ของทอด จัดมาในเข่งไม้ไผ่ขนาดเล็ก และต้องรับประทานขณะที่ยังร้อน ส่วนประเทศญี่ปุ่นนั้นก็มีของว่างที่เรียกว่า โดรายากิ (Dorayaki) เป็นแป้งทอด 2 แผ่นประกบกันสอดไส้ถั่วแดง รสหวานนุ่มนวล ส่วนอีกเมนูหนึ่งคือ โอนิงิริ (Onigiri) เป็นข้าวปั้นรูปสามเหลี่ยม สอดไส้ได้หลายชนิด แล้วห่อด้วยสาหร่ายชิ้นเล็ก ๆ บางครั้งอาจนำไปทอดหรือย่างจนเหลือง นอกจากนั้นยังมี เซ็มเบ (Senbei) แป้งข้าวเหนียวย่างซีอิ๊วห่อด้วยสาหร่าย และอาจสอดไส้กุ้ง งาดำ ถั่วแดง มาถึงอาหารว่างที่รับประทานพร้อมกับชาแบบชาวอังกฤษกันบ้าง สำหรับการดื่มชาแบบชาวอังกฤษนี้เรียกว่า อิงลิช ไฮที (English High Tea) เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยต้นศตวรรษที่ 19 ถือเป็นธรรมเนียมการรับประทานอาหารว่างในหมู่ชาวตะวันตก การเสิร์ฟอิงลิช ไฮที นิยมจัดเสิร์ฟในลักษณะบุฟเฟ่ต์ หรือเป็นชุดเล็ก ๆ โดยขนมที่เป็นไฮไลท์และขาดไม่ได้เลยก็คือ สโคน (Scone) บิสกิต (Biscuit) ครัมเป็ต (Crumpet) แพนเค้ก (Pancake) รวมไปถึง ทาร์ต (Tart)
อีกชนชาติหนึ่งที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติอาหารมายาวนาน ฝรั่งเศส นับเป็นประเทศที่มากไปด้วยทรัพยากรมากมาย ส่วนอาหารว่างของชาวฝรั่งเศสนั้นมีหลายชนิด เริ่มจาก คีช (Quiche) เป็นอาหารจานอบชนิดหนึ่งโดยมีส่วนประกอบหลักคือ ไข่ นม หรือ ครีม ต่อด้วย กอร์ดงเบลอ (Cordon Bleu) เป็นอาหารฝรั่งเศสที่นำเนื้อสัตว์มาแล่ให้เป็นชิ้นบาง ๆ ใส่แฮมและชีสเป็นไส้ แล้วนำเนื้อไก่มาหุ้มให้มิด นำไปชุบไข่และเกล็ดขนมปังทอดให้สุก รวมไปถึงขนมหวานที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาอย่าง มาการอง และเอแคลร์ เป็นต้น ส่วนชาวสเปน ดินแดนกระทิงดุ มีอาหารว่างเป็นอันดับหนึ่งที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดีในนาม ทาปาส ซึ่งเป็นอาหารเบา ๆ รับประทานง่าย โดยมีทั้งของแห้ง ของทอด และของย่าง ชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ สะดวกในการหยิบรับประทาน โดยนิยมเสิร์ฟกับแซงเกรีย (Sangria) เครื่องดื่มรสชาติดีสีแดงสด ทำจากไวน์แดงผสมกับน้ำผลไม้และโซดา ลอยหน้าด้วยผลไม้หั่นชิ้นเล็ก อาจเพิ่มดีกรีแอลกอฮอล์ด้วยการเติมเหล้าหวาน บรั่นดี หรือคอนญัก ปิดท้ายด้วยอาหารว่างของชาวอิตาเลียนกันบ้าง ชาวอิตาเลียนรู้จักสรรหาของว่างมากำนัลให้นักกินได้ลิ้มลองมากมาย แต่จานไหนก็ไม่เทียบเท่า แอนติพาสตี (Antipasti) ที่นิยมเสิร์ฟเป็นจานใหญ่ มีหลายอย่างให้เลือกรับประทานอย่างจุใจ เช่น ซาลามี่ ผักดอง เปปเปอโรนี พริกหวานย่างในน้ำมันมะกอก ผลมะเดื่อสุก เมลอนกับพาร์มาแฮม มะเขือม่วงย่าง ชีส ผลไม้แห้ง หน่อไม้ฝรั่งลวก และกริสซินี ส่วนอีกเมนูหนึ่งคือ บิสกอตติ (Biscotti) เป็นคุกกี้แท่งยาว เนื้อแน่นอบจนกรอบ รสหวานมันเพราะมีถั่วเฮเซลนัท โดยจะเสิร์ฟกับเครื่องดื่มสุดฮอตอย่าง เอสเปรสโซ รสเข้ม
ส่วนในครั้งนี้เราเลือกที่จะทำอาหารว่างแบบไทยที่หารับประทานได้ไม่ง่ายนักในปัจจุบัน เนื่องจากขั้นตอนและวิธีการทำค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น ค้างคาวเผือก ไส้กรอก ปลาแนม หรือแม้แต่ชักเปี๊ยะ แต่ด้วยความที่เป็นอาหารว่างหายากในปัจจุบัน เราจึงต้องการนำเสนอเพื่อให้คุณแม่บ้านรุ่นใหม่ ๆ ได้รู้จักกัน ก่อนที่อาหารเหล่านี้จะหายไปจากใจ รับรองว่ารสชาติแบบไทย ๆ นี้ ต้องถูกปากคุณอย่างแน่นอน
ค้างคาวเผือก
อาหารว่างไทยโบราณอีกหนึ่งชนิดที่หลาย ๆ คนไม่น่าจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ ที่มาของชื่อมาจากลักษณะของขนมที่คล้ายกับค้างคาว โดยมีส่วนผสมหลักคือเผือกนวดกับแป้งใช้เป็นตัวห่อ ส่วนไส้นั้นทำจากกุ้งกับมะพร้าวทึนทึกผัดให้เข้ากัน แล้วปรุงรส เมื่อห่อเสร็จจึงนำไปทอดจนกรอบ รับประทานพร้อมน้ำอาจาด
ส่วนผสมตัวเผือก
เผือกนึ่งสุกบดละเอียด |
500 กรัม |
แป้งสาลีอเนกประสงค์ |
6 ช้อนโต๊ะ |
วิธีทำ
1. ผสมเผือกนึ่งกับแป้งสาลี นวดจนเข้ากันดี
2. แบ่งเผือกที่ได้เป็นก้อน หนักก้อนละ 15 กรัม เตรียมไว้
3. นำตัวเผือกแผ่ออกใส่ไส้กุ้งลงตรงกลางจับเผือก 3 มุม หุ้มประกบกันให้เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมพีระมิด
4. นำตัวค้างคาวเผือกลงชุบน้ำแป้งบาง ๆ ใส่ลงทอดในน้ำมันพืชไฟปานกลางทอดจนสุกเหลือง ตักขึ้น รับประทานคู่กับน้ำอาจาด
ส่วนผสมตัวไส้กุ้ง
เนื้อกุ้งสดสับละเอียด |
100 กรัม |
มะพร้าวขูดขาว |
200 กรัม |
รากผักชีหั่นหยาบ |
1 ช้อนโต๊ะ |
กระเทียมไทยกลีบเล็ก |
1 ช้อนโต๊ะ |
พริกไทยเม็ด |
1/2 ช้อนชา |
น้ำมันพืช |
2-3 ช้อนโต๊ะ |
น้ำตาลทราย |
100 กรัม |
เกลือป่นหยาบ |
1 1/2 ช้อนชา |
ใบมะกรูดซอย |
1 ช้อนโต๊ะ |
สีผสมอาหารสีส้ม |
|
น้ำมันพืชสำหรับทอด |
|
วิธีทำ
1. โขลกรากผักชี กระเทียม พริกไทยเม็ด เข้าด้วยกันให้ละเอียด
2. ผสมมะพร้าวขูดขาวกับสีผสมอาหารเข้าด้วยกัน ใส่เนื้อกุ้งสับขยำให้เข้ากันดี
3. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชพอร้อน ใส่ส่วนผสมในข้อที่ 1 ลงผัดพอมีกลิ่นหอม ใส่ส่วนผสมในข้อที่ 2 ลงผัดพอสุก
4. ปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย เกลือป่น ผัดต่อจนเข้ากันดี โรยใบมะกรูด ผัดให้เข้ากันอีกครั้ง ยกลง พักไว้ให้เย็นสนิท
ส่วนผสมน้ำแป้งสำหรับชุบ
แป้งสาลีอเนกประสงค์ |
150 กรัม |
แป้งข้าวเจ้า |
50 กรัม |
ไข่ไก่ (เฉพาะไข่แดง) |
1 ฟอง |
เกลือป่นหยาบ |
1 ช้อนชา |
น้ำมันพืช |
2 ช้อนโต๊ะ |
น้ำปูนใส |
1/2 ถ้วยตวง |
น้ำเปล่า |
1 ถ้วยตวง |
วิธีทำ
1. ผสมแป้งสาลีกับแป้งข้าวเจ้าเข้าด้วยกัน พักไว้
2. ผสมไข่แดง เกลือป่น น้ำมันพืช น้ำปูนใส และน้ำเปล่าคนจนเข้ากันดี แล้วเทลงในส่วนผสมในข้อที่ 1 คนจนเข้ากันดี กรองด้วยกระชอน จึงนำไปใช้สำหรับชุบตัวค้างคาวเผือก
ส่วนผสมน้ำอาจาด
น้ำส้มสายชู |
1 ถ้วยตวง |
น้ำตาลทราย |
1/2 ถ้วยตวง |
เกลือป่นหยาบ |
1 ช้อนโต๊ะ |
แตงกวาหั่นชิ้น |
|
พริกชี้ฟ้าสีแดงหั่นชิ้น |
|
หอมแดงซอย |
|
ใบผักชี |
|
วิธีทำ
1. ใส่น้ำส้มสายชู น้ำตาลทราย เกลือป่น ลงในหม้อ ตั้งไฟเคี่ยวด้วยไฟปานกลางจนเดือด และมีลักษณะข้นเล็กน้อย ยกลงพักไว้ให้เย็นสนิท
2. ใส่แตงกวา พริกชี้ฟ้า หอมแดง ลงในภาชนะ ตักส่วนผสมในข้อที่ 1 ลงไป ตกแต่งด้วยใบผักชี จัดเสิร์ฟพร้อมค้างคาวเผือก
ไส้กรอก ปลาแนม
เป็นอาหารว่างของคนภาคกลาง มีสามรส เปรี้ยวปนหวาน และเผ็ดเล็ก ๆ ของปลาแนม นิยมรับประทานคู่กับไส้กรอกหมู หรือไส้กรอกข้าวเหนียว รับประทานพร้อมกับใบทองหลาง พริกสด กระเทียมดอง และหอมแดง
ส่วนผสมไส้กรอก
เนื้อหมูบดแช่เย็นจัด |
500 กรัม |
มันหมูแข็ง (หั่นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเล็กแช่เย็นจัด) |
100 กรัม |
น้ำพริกแกงคั่ว |
1/4 ถ้วยตวง |
หัวกะทิ |
1 ถ้วยตวง |
ถั่วลิสงคั่วบดละเอียด |
2 ถ้วยตวง |
ไข่ไก่ |
2 ฟอง |
น้ำปลา |
3 ช้อนโต๊ะ |
น้ำตาลปี๊บ |
7 ช้อนโต๊ะ |
ผักชีซอย |
1/2 ถ้วยตวง |
ไส้หมูขม (สำหรับทำไส้กรอก) |
1 พวง |
เกลือป่นหยาบสำหรับล้างไส้ |
|
น้ำส้มสายชูสำหรับล้างไส้ |
|
กากมะพร้าวสำหรับโรย |
|
วิธีทำ
1. ล้างไส้หมู ขูดสิ่งสกปรกออกให้หมดกลับด้านในออก ล้างน้ำเปล่า แล้วขยำกับเกลือป่น ทำซ้ำกันประมาณ 3-4 ครั้ง แล้วนำไส้หมูแช่น้ำส้มสายชูเล็กน้อยประมาณ 10 นาที ล้างออกให้สะอาด กลับด้านไส้พักไว้
2. ผสมเนื้อหมูบด มันหมูแข็ง น้ำพริกแกงคั่ว นวดให้เข้ากัน ใส่ไข่ไก่ ค่อย ๆ เติมหัวกะทิจนหมด นวดให้เข้ากัน
3. ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ นวดพอเข้ากันดี ใส่ถั่วลิสงคั่ว ผักชี นวดต่อจนส่วนผสมเข้ากันดี
4. นำส่วนผสมที่ได้ยัดใส่ในไส้หมู มัดให้แน่น ใช้เข็มแทงไส้กรอก (เพื่อไม่ให้แตก) จากนั้นนำขึ้นปิ้งบนเตาไฟ โรยกากมะพร้าว ปิ้งต่อจนสุกเหลือง
ส่วนผสมปลาแนม
ข้าวสารหอมมะลิ |
500 กรัม |
หนังหมูต้มสุก (หั่นเป็นเส้นบาง ๆ) |
1 ถ้วยตวง |
ปลาช่อนย่าง (แกะเอาแต่เนื้อโขลกให้ฟู) |
1/2 ถ้วยตวง |
หอมแดงซอย |
1/3 ถ้วยตวง |
กระเทียมดองซอย |
1/3 ถ้วยตวง |
หัวกะทิ |
1/4 ถ้วยตวง |
ถั่วลิสงคั่วซอย |
1/2 ถ้วยตวง |
น้ำส้มซ่า |
3 ช้อนโต๊ะ |
น้ำมะนาว |
6 ช้อนโต๊ะ |
น้ำตาลทราย |
3/4 ถ้วยตวง |
เกลือป่นหยาบ |
2 1/4 ช้อนชา |
ผิวส้มซ่าซอย |
1 ช้อนโต๊ะ |
น้ำเปล่าสำหรับแช่ข้าว |
|
ผักกาดหอม ใบทองหลาง,ใบชะพลู,หอมแดงซอย,
กระเทียมดองซอย,พริกขี้หนูสวนซอย |
วิธีทำ
1. ซาวข้าวสารหอมมะลิให้สะอาด จากนั้นนำข้าวสารแช่น้ำไว้ประมาณ 30 นาที แล้วเทใส่กระชอนพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
2. ใส่ข้าวสารลงในกระทะตั้งไฟ คั่วด้วยไฟอ่อนจนสุกเหลือง ตักขึ้นพักไว้ให้เย็นสนิท
3. นำข้าวสารบดให้ละเอียดร่อนในกระชอนตาถี่ จนได้ข้าวคั่วป่นละเอียด 2 1/4 ถ้วยตวง
4. ผสมน้ำส้มซ่า ตามด้วยหัวกะทิ น้ำมะนาว น้ำตาลทราย และเกลือป่น คนให้ละลาย พักไว้
5. ใส่ข้าวคั่วป่น เนื้อปลาช่อน ถั่วลิสง ลงในอ่างผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่หนังหมู หอมแดง กระเทียมดอง ผิวส้มซ่า และส่วนผสมในข้อที่ 4 คลุกเคล้าจนเข้ากันดี
6. วิธีรับประทาน ตักปลาแนมใส่ลงในใบผักกาดหอม ใบทองหลาง หรือใบชะพลู โรยหอมแดง กระเทียมดอง พริกขี้หนู รับประทานเป็นคำ ๆ คู่กับไส้กรอก
ชักเปี๊ยะ
มีลักษณะคล้ายเปาะเปี๊ยะ เพียงแต่ห่อต่างกัน คือ ห่อเป็นแท่งคล้ายห่อทอฟฟี่แต่ยาวกว่า โดยเลียนแบบมาจากของเล่นเสี่ยงทายชนิดหนึ่ง เล่นวิธีการเล่น คือ ดึงหรือกระตุกห่อของที่รูปร่างเหมือนทอฟฟี่ ถ้าดึงหรือกระตุกแล้วมีเสียงดังเปี๊ยะจะได้รางวัลไป
ส่วนผสม
เนื้ออกไก่ |
250 กรัม |
กุนเชียง (หั่นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเล็ก) |
50 กรัม |
แคร์รอตหั่นเส้น |
70 กรัม |
กะหล่ำปลีซอย |
100 กรัม |
เห็ดหอมแห้ง (แช่น้ำพอนิ่ม หั่นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก) |
50 กรัม |
กระเทียมสับ |
1 1/2 ช้อนโต๊ะ |
ซอสเห็ดหอม |
1 ช้อนโต๊ะ |
ซีอิ๊วขาว |
2 ข้อนชา |
น้ำตาลทราย |
1 1/2 ช้อนชา |
เกลือป่นหยาบ |
1/2 ช้อนชา |
พริกไทยป่น |
1/ 2 ช้อนชา |
เนยสดชนิดเค็ม |
2 ช้อนโต๊ะ |
ใบกุยช่ายลวกสำหรับมัด |
|
น้ำเปล่า |
|
แผ่นแป้งเปาะเปี๊ยะตัดขนาด 5x5 นิ้ว สำหรับห่อ |
|
น้ำมันพืชสำหรับผัดและทอด |
|
น้ำอาจาด จากสูตรค้างคาวเผือก |
|
วิธีทำ
1. นำเนื้ออกไก่ซับน้ำให้แห้ง โรยเกลือป่น พริกไทยป่น ใส่เนยสดคลุกเคล้ากันจนทั่ว หมักไว้ประมาณ 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง
2. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชเล็กน้อยพอร้อน นำไก่ลงกริลล์จนผิวสุกเหลืองทั่ว แล้วนำไก่ใส่หม้อเติมน้ำเปล่าพอท่วม ตั้งไฟต้มจนไก่สุก ตักขึ้นพักไว้ให้เย็น ฉีกเนื้อไก่เป็นเส้นฝอย
3. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะพอร้อน ใส่กระเทียมลงผัดพอเหลือง ใส่กุนเชียง เห็ดหอม ลงผัดพอมีกลิ่นหอม
4. ใส่กะหล่ำปลี แคร์รอต ผัดพอผักสลด ใส่ไก่ฉีก ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว ซอสเห็ดหอม น้ำตาลทราย ผัดต่อจนเข้ากันดี ยกลง พักไว้ให้เย็นสนิท
5. วางแผ่นแป้งเปาะเปี๊ยะลงบนภาชนะเรียบ ตักไส้ในข้อที่ 4 ลงบนแผ่นแป้ง และม้วนให้แน่น มัดด้านหัวและท้ายด้วยใบกุยช่ายลวกจนแน่น
6. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชพอร้อน นำส่วนผสมในข้อที่ 5 ลงทอดจนสุกเหลือง ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน จัดเสิร์ฟพร้อมน้ำอาจาด
ข้าวเม่าหมี่
ข้าวเม่าจัดเป็นขนมไทยที่นิยมรับประทานกันมานาน ได้มาจากรวงข้าวสีเขียวไล่มาจนถึงสีเขียวตกน้ำตาล ส่วนข้าวเม่าหมี่นั้นเป็นการนำข้าวเม่าไปทอดจนกรอบ รับประทานพร้อมกับ กุ้งแห้ง เต้าหู้ทอด ถั่วลิสง หรือใส่น้ำตาลทรายถ้าเป็นแบบหวานก็ได้เช่นกัน
ส่วนผสม
ข้าวเม่าสีเขียว |
1 1/2 ถ้วยตวง |
เต้าหู้ขาวชนิดแข็ง |
75 กรัม |
กุ้งแห้งอย่างดี |
3/4 ถ้วยตวง |
กระเทียมกลีบใหญ่เจียว |
1/2 ถ้วยตวง |
น้ำตาลทราย |
1/4 ถ้วยตวง |
เกลือป่นหยาบ |
1 ช้อนชา |
น้ำมันพืชสำหรับทอด |
|
วิธีทำ
1. หั่นเต้าหู้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก วางเรียงใส่ตะแกรง นำตากแดดจนแห้ง
2. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชพอร้อน ใส่เต้าหู้ตากแห้งลงทอดจนเหลืองกรอบ ตักขึ้นพักไว้บนตะแกรง
3. ใส่ข้าวเม่าลงทอดต่อจนฟูเหลืองกรอบ ตักขึ้นพักไว้บนตะแกรง
4. ใส่กุ้งแห้งลงทอดต่อจนเหลืองกรอบ ตักขึ้นพักไว้บนตะแกรง
5. ใส่ข้าวเม่าทอด เต้าหู้ทอด กุ้งแห้งทอด และกระเทียมเจียว ลงในกระทะตั้งไฟอ่อน
6. ใส่น้ำตาลทราย เกลือป่น คั่วเบา ๆ จนน้ำตาลทรายเคลือบส่วนผสมจนทั่ว ยกลง พักไว้ให้เย็น เก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิท
มะปรางคาบแก้ว
ของหวานอาหารว่างแบบไทย ๆ ที่นำเอามะปรางรสเปรี้ยวอมหวาน มาผสานให้เข้ากับรสหวานฉ่ำของข้าวเหนียวมูนได้เป็นอย่างดี ปิดท้ายด้วยการราดน้ำกะทิรสเค็ม เพื่อช่วยตัดรสเลี่ยน
ส่วนผสม
ข้าวเหนียวเขี้ยวงู |
500 กรัม |
หัวกะทิ |
1 1/4 ถ้วยตวง |
น้ำตาลทราย |
3/4 ถ้วยตวง |
เกลือป่นหยาบ |
2 ช้อนชา |
ใบเตย |
3 ใบ |
มะปรางสุก |
1 กิโลกรัม |
สารส้มสำหรับขัดข้าวเหนียว |
|
น้ำเปล่าสำหรับแช่ข้าว |
|
วิธีทำ
1. นำข้าวเหนียวขัดกับสารส้มจนทั่ว แล้วแช่ข้าวเหนียวไว้ประมาณ 3-5 ชั่วโมง จากนั้นเทออกใส่ตะแกรงพักไว้ ให้สะเด็ดน้ำ
2. เทข้าวเหนียวใส่ผ้าขาวบาง วางใส่ลังถึง นำขึ้นนึ่งบนน้ำเดือดประมาณ 30-45 นาทีหรือจนสุก
3. ระหว่างรอนึ่งข้าวเหนียว เตรียมน้ำมูนโดยใส่หัวกะทิ น้ำตาลทราย เกลือป่น และใบเตย ลงในหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟ คนจนส่วนผสมละลายและเดือด ยกลง
4. เทข้าวเหนียวนึ่งสุกร้อน ๆ ลงในอ่างผสม เทน้ำมูนในข้อที่ 3 ลงไป คนจนเข้ากันดี ปิดฝาให้สนิท พักไว้ประมาณ 20 นาที เปิดฝาใช้ไม้พายคนอีกครั้ง ตักใบเตยออก
5. ปอกเปลือกมะปราง จากนั้นคว้านเม็ดออก แล้วตักข้าวเหนียวมูนใส่ในลูกมะปราง ราดกะทิสำหรับราดหน้า จัดเสิร์ฟ
ส่วนผสมกะทิสำหรับราดหน้า
หัวกะทิ |
1 ถ้วยตวง |
แป้งข้าวเจ้า |
1 1/2 ช้อนชา |
เกลือป่นหยาบ |
1/4 ช้อนชา |
น้ำตาลทราย |
1 1/2 ช้อนโต๊ะ |
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดใส่หม้อ ยกขึ้นตั้งไฟ คนจนส่วนผสมเดือด มีลักษณะข้นเล็กน้อย ยกลง พักไว้ให้เย็นสนิท
เรื่อง : TONGTA
ภาพ : ชุลีภรณ์