ยาแก้ช้ำ... กับเมนูไม่ซ้ำจากใบบัวบก

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
4,153    5    -4    17 ธ.ค. 2562 11:00 น.
แบ่งปัน
       “บัวบก” เป็นสมุนไพรที่เจริญเติบโตในแถบร้อนชื้นทั่วไป และเป็นผักพื้นบ้านที่ผู้คนในแถบนี้คุ้นเคยเป็นอย่างดี ในประเทศไทยนิยมใช้บัวบกเป็นผักแกล้มลาบ ส้มตำ ซุปหน่อไม้ กินกับน้ำพริก หรือรับประทานกับหมี่กรอบ ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ขณะเดียวกันก็มีการกล่าวถึงในตำรับยาไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า บัวบกมีฤทธิ์แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ ขับโลหิตเสีย รวมทั้งแก้ฟกช้ำ สอดคล้องกับความเชื่อของชาวจีน ที่นิยมดื่มน้ำจากใบบัวบกแก้ช้ำใน ช่วยลดการกระหายน้ำ บำรุงกำลัง 

คนไทยนิยมรับประทานบัวบกกันมานาน โดยเฉพาะกับน้ำพริก เครื่องจิ้มต่าง ๆ รวมทั้งนำมาคั้นเป็นเครื่องดื่มตามตำรับยาแผนโบราณที่เชื่อกันว่ามีสรรพคุณบำรุงร่างกาย บรรเทาอาการโรคลมชัก โรคผิวหนัง ท้องอืด ท้องเสีย และขับสารพิษออกจากร่างกายได้ ปัจจุบันความต้องการบัวบกมีเพิ่มสูงมากขึ้น เพราะมีการเผยแพร่สรรพคุณของบัวบกที่มีผลการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์รองรับ ครั้งนี้เราจึงมาไกลถึงจังหวัดพิษณุโลก เพื่อคุยกับ คุณสำรอง สนศิริ หรือ “ป้าสำรอง” ที่ใช้เวลาว่างจากการทำนา หันมาสร้างรายได้เสริมจากใบบัวบกง่าย ๆ ด้วยการปลูกใบบัวบก ที่สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำกว่า 300 บาทต่อวัน แม้ในช่วงที่ข้าวราคาตกต่ำหรือได้รับผลกระทบจากภัยแล้งก็ตาม

ป้าสำรองยึดอาชีพการทำนาควบคู่กับการมีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากการปลูกผักสวนครัวเรื่อยมาจนกระทั่งวันหนึ่งชักชวนครอบครัวกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างมื้ออาหารก็พูดคุยกันถึงเรื่องราวต่าง ๆ จนมาถึงเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งมี “ใบบัวบก” เป็นผักแนมเสริมรสชาติได้อย่างดี ป้าสำรองก็ต้องแปลกใจว่า บัวบกนี้ในตลาดพิษณุโลกขายกันถึงกิโลกรัมละ 10 บาท ต่างกับในแถบจังหวัดอุบลราชธานี ที่ขายเพียงแค่กิโลกรัมละ 5 บาท จึงมีความคิดที่จะปลูกบัวบกไว้รับประทานเอง แต่พอได้ผลผลิตและลองนำไปวางขายพร้อมกับสะระแหน่และโหระพาที่ปลูกอยู่ก่อนแล้ว ปรากฏว่าแม่ค้าที่มารับซื้อกลับถูกใจบัวบกมากกว่า จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้หันมาปลูกบัวบกเป็นอาชีพเสริม “ตอนแรกคิดแค่ว่าจะปลูกไว้กินเอง เพราะราคาขายในพิษณุโลกแพงจนซื้อไม่ลงจริง ๆ แต่พอลองปลูกเป็นแปลงเล็ก ๆ ขนาด 2 ตารางวา และเด็ดไปขายโดยมัดไปเป็นกำ ๆ พ่วงไปกับสะระแหน่และโหระพาปรากฏว่าขายได้และขายดี จึงกลับมาเพิ่มพื้นที่ปลูก จากเดิม 2 ตารางวา เป็น 50 ตารางวา และปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นเป็น 300 ตารางวา”
 

       มีบันทึกอยู่ในคัมภีร์อายุรเวทของอินเดียว่าเป็นบัวบกยาเย็น ยาระบาย ยาบำรุง ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายได้สารพัด ซึ่งไม่เพียงแค่จากมนุษย์อย่างเรา ๆ จะรู้จักนำบัวบกมาใช้บริโภคและสมุนไพรแล้ว แม้แต่สัตว์ เช่น “เสือ” เมื่อได้รับบาดเจ็บก็มักจะไปนอนกลิ้งเกลือกบนต้นบัวบกตามป่า เพื่อให้บาดแผลหายได้รวดเร็วขึ้น จนเป็นที่มาของชื่อสามัญของบัวบก คือ Tiger’s Herb ซึ่งภายหลังยังมีการศึกษาในห้องปฏิบัติการจนพบว่า สารจากใบบัวบกมีฤทธิ์สมานแผลได้จริง การศึกษาประโยชน์ของบัวบกด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังทำให้บัวบกกลายเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมจากชาวตะวันตกในเรื่องการช่วยการผ่อนคลายและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของความทรงจำได้เป็นอย่างดี เพราะในใบบัวบกจะมีสารไกลโคโซด์ (Glycosides) หลายชนิด ให้ผลต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) ส่งผลให้ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าสารไกลโคไซด์ที่ได้จากใบบัวบกยังส่งผลในการช่วยสร้างสารคอลลาเจน (Collagen) ที่เป็นโครงสร้างของผิว จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นให้แผลสมานตัวได้เร็วขึ้น

ใบบัวบก มีสารประกอบสำคัญหลายชนิด อย่างเช่น บราโมซัยด์ บรามิโนซัยด์ ไตรเตอพีนอยด์ มาดิแคสโซซัยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ และยังมีกรดมาดิแคสซิค วิตามิน B1, B2, B6, A, K ธาตุแคลเซียม ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโซเดียม และกรดอะมิโน อย่างเช่น แอสพาเรต กรดกลูตามิก เซรีน ทรีโอนีน อะลานีน ไลซีน ฮีสทีดิน เป็นต้น ดังนั้นเมื่อรับประทานเป็นประจำจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรงมากขึ้น อาทิ แก้ปัญหาเส้นเลือดขอด สมานแผลและรักษาโรคผิวหนังบางชนิด ระบายความร้อนในร่างกาย พร้อมทั้งขับพิษร้อน และความชื้นออกจากร่างกายได้ดี ช่วยลดความกระวนกระวาย ช่วยให้จิตใจสงบ ช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ ช่วยลดความดันโลหิต ลดอาการบวม บำรุงสมอง รักษาอาการติดเชื้อ รวมถึงบรรเทาอาการอ่อนเพลีย และด้วยสรรพคุณที่มากมายขนาดนี้ จึงไม่แปลกใจนักที่ใบบัวบกจะเป็นที่นิยมของคนทั่วไป แต่การจะรับประทานใบบัวบกแบบสด ๆ หรือคั้นเป็นเครื่องดื่ม บางคนก็ไม่ชอบเท่าไหร่นัก เราจึงนำใบบัวบกมาทำอาหารไทยแบบง่าย ๆ ดูบ้าง เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับเมนูอาหาร ซึ่งมาพร้อมกับความอร่อยที่หลายคนคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
 

เส้นหมี่ผัดใบบัวบก
 

ส่วนผสม
เส้นหมี่แช่น้ำพอนิ่ม 200 กรัม
หมูสามชั้นหั่นชิ้น 150 กรัม
ใบบัวบก(เฉพาะใบ) 1 ถ้วยตวง
ถั่วงอก 70 กรัม
ไข่ไก่ 1 ฟอง
หอมแดงสับละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมสับละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ
เต้าเจี้ยว(เฉพาะเม็ด) 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมะขามเปียก 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วดำเค็ม 1/4 ช้อนชา
พริกป่น 1 ช้อนชา

วิธีทำ
1. ผสมเต้าเจี้ยว น้ำมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา ซีอิ๊วดำเค็ม และพริกป่น คนให้เข้ากัน
2. ตั้งกระทะนำหมูสามชั้นลงไปรวนจนสุก ตักน้ำมันออก ใส่หอมแดงและกระเทียมผัดพอเข้ากัน
3. ใส่ไข่ไก่ผัดจนสุก ใส่เส้นหมี่ลงไปพร้อมกับน้ำปรุงในข้อที่ 1 ผัดให้เข้ากัน
4. ใส่ถั่วงอกและใบบัวบก ผัดจนผักเริ่มสลด ตักใส่จาน
 

ยำใบบัวบกแห้ง
 

ส่วนผสม
ใบบัวบก(เฉพาะใบ) 100 กรัม
กุ้งเสียบทอดกรอบ 30 กรัม
หอมแดงเจียว 2 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมเจียว 2 ช้อนโต๊ะ
หอมแดงซอย 2 ช้อนโต๊ะ
ถั่วลิสงคั่วบุบหยาบ 1/4 ถ้วยตวง
งาขาวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
พริกขี้หนูบุบ 7-8 เม็ด
น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ
1. ผสมน้ำมะนาว น้ำตาลทราย น้ำปลา คนให้ละลาย ใส่พริกขี้หนู คนให้เข้ากัน
2. ใส่ส่วนผสมที่เหลือลงในน้ำยำข้อที่ 1 คลุกเคล้าเบา ๆ ให้เข้ากัน จัดเสิร์ฟ
 

แกงเผ็ดปลาดุกย่างใบบัวบก
 

ส่วนผสม
ปลาดุกย่างแกะเอาแต่เนื้อ 300 กรัม
ใบบัวบก(เฉพาะใบ)หั่นหยาบ 100 กรัม
น้ำพริกแกงคั่วใต้ 3 ช้อนโต๊ะ
หัวกะทิ 1/4 ถ้วยตวง
หางกะทิ 3 ถ้วยตวง
เกลือป่นหยาบ 1/2 ช้อนชา
น้ำตาลปี๊บ 1/2 ช้อนชา
น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
ข้าวสวย

วิธีทำ
1. ตั้งกระทะใส่หัวกะทิลงไปเคี่ยวจนแตกมัน ใส่น้ำพริกแกงคั่วใต้ผัดพอแตกมัน
2. ใส่หางกะทิ ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ เกลือป่น น้ำปลา ชิมรสตามชอบ ใส่ปลาดุก
3. ใส่ใบบัวบก รอจนใบบัวบกสลด ยกลง จัดเสิร์ฟพร้อมข้าวสวย

หมายเหตุ
• ถ้าชอบเผ็ด สามารถเติมพริกขี้หนูบุบพอแตก เพิ่มได้ตามชอบ



เรื่อง / TONGTA
ภาพ / ชุลีภรณ์
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด