5 เมนูน้ำพริก ที่คุณไม่คุ้นตา

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
6,806    5    -4    24 ต.ค. 2562 18:00 น.
แบ่งปัน
       ในสำรับอาหารของคุณวันนี้มีอะไรบ้างคะ เชื่อว่าถ้าเป็นวันทำงานหลายคนคงรับประทานเพียงแค่อาหารจานเดียวง่าย ๆ หรือไม่ก็ก๋วยเตี๋ยว แต่ถ้าเป็นมื้อใหญ่ที่ต้องรับประทานพร้อมครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้แต่คนรัก เมนูบนโต๊ะที่ขาดไม่ได้น่าจะเป็น “น้ำพริก” อย่างแน่นอน

ครั้งนี้อยากนำเสนอเรื่องของ “น้ำพริก” เพราะเชื่อว่ายังไงคนไทยอย่างเราก็ขาดไม่ได้แน่นอนสำหรับเมนูนี้ ปัจจุบันมีการปรุงสูตรน้ำพริกขึ้นมากมาย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รับประทานน้ำพริกได้ง่ายขึ้น รวมถึงสามารถนำมาดัดแปลงร่วมกับอาหารอื่น ๆ กลายเป็นเมนูใหม่ที่ถูกใจคนไทยอย่างเรา ไม่ว่าจะเป็นข้าวผัดน้ำพริกต่าง ๆ รวมถึงสปาเกตตีด้วยเช่นกัน ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับน้ำพริกกันก่อน เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าน้ำพริกเป็นอาหารประเภทเครื่องจิ้มชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่รับประทานพร้อมกับผักสด ผักต้ม หรือผักนึ่ง รวมถึงเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่อาจนำมาทอด ย่าง ปิ้ง ก็ได้ คำว่า "น้ำพริก" มีความหมายมาจากการปรุงด้วยการนำสมุนไพร พริก กระเทียม หัวหอม เครื่องเทศกลิ่นแรง มาโขลก บด รวมกัน เพื่อใช้สำหรับจิ้ม คนไทยนิยมรับประทานน้ำพริกเพื่อชูให้อาหารมื้อนั้น ๆ อร่อยมากขึ้น รวมถึงน้ำพริกบางชนิดยังสามารถใช้จัดสำรับรวมกับการเดินทางได้ด้วย อาทิ น้ำพริกตาแดง นอกจากน้ำพริกเครื่องจิ้มและน้ำพริกคลุกข้าวแล้ว คนไทยอย่างเรายังสามารถสร้างสรรค์เมนูน้ำพริกอีกชนิดหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้การทำอาหารง่ายขึ้น นั่นคือ น้ำพริกแกง ที่มีส่วนผสมสมุนไพรหลายอย่างนำมาตำหรือบดจนเป็นเนื้อเดียวกันใช้สำหรับทำแกง เพื่อให้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถทำได้ครั้งละมาก ๆ แล้วเก็บไว้ใช้ได้นานหลายเดือน

เห็นน้ำพริกเป็นเพียงแค่อาหารที่อยู่ในถ้วยเล็ก ๆ แต่ทราบหรือไม่ว่าประโยชน์นั้นมีมากมายมหาศาล สรรพคุณทางยาของน้ำพริกได้ถูกประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข และมุ่งส่งเสริมให้แพร่หลายมากขึ้นสำหรับผู้บริโภค “จากการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่บริโภคอาหารน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ คือ ผักและผลไม้ 400 กรัมต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 80 ในผู้ชาย และร้อยละ 76 ในผู้หญิง" (กล่าวโดยหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข) ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ตัดสินใจในการสนับสนุนให้คนไทยรับประทานน้ำพริก เนื่องจากในน้ำพริก 1 ถ้วยมีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด อีกทั้งน้ำพริกยังต้องรับประทานร่วมกับผัก จึงทำให้มั่นใจได้ว่านอกจากไม่ขาดสารอาหารแล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรง สามารถเพิ่มการสร้างเซลล์กำจัดเชื้อโรคได้อย่างเป็นธรรมชาติ ส่งเสริมระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบการหายใจให้ดีขึ้น เนื่องจากมีส่วนประกอบของ Antioxidants และ Anti-ageing ซึ่งช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน
 


น้ำพริกในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีรสชาติต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่นั้น ๆ รวมถึงลักษณะการรับประทานอาหารของแต่ละท้องถิ่นก็ไม่เหมือนกัน สำหรับบ้านเราน้ำพริกสามารถแบ่งตามพื้นที่ได้ 4 ประเภท หรือ 4 ภาค ได้แก่ น้ำพริกภาคกลาง มักปรุงให้มีรสชาติกลมกล่อม ไม่นิยมให้รสใดรสหนึ่งโดดออกมาจนเกินไป ให้รสชาติทั้ง 4 คือ เผ็ด เค็ม เปรี้ยว และหวาน น้ำพริกของภาคกลางมักเป็นตำรับซึ่งมีที่มาจากในวัง จึงเน้นเรื่องความสวยงาม และรสชาติอร่อยมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน น้ำพริกที่เราคุ้นเคย ได้แก่ น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาเค็ม น้ำพริกปลาทู น้ำพริกเผา น้ำพริกมะอึก น้ำพริกมะดัน

น้ำพริกภาคเหนือ เครื่องปรุงทุกอย่างต้องผ่านการย่างหรือเผาให้สุกก่อน ช่วยเพิ่มความหอมอร่อยให้มากขึ้น หากเป็นน้ำพริกแบบดั้งเดิมจะปรุงรสด้วยเกลือเป็นหลัก ส่วนผสมส่วนใหญ่มาจากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ พืช ผัก รวมถึงตัวอ่อนของแมลงบางชนิด และที่ขาดไม่ได้คือการใส่ถั่วเน่า (ถั่วเหลืองที่เอามาหมักแล้วทำเป็นแผ่นตากแห้ง) แทนการใช้กะปิ จึงทำให้มีกลิ่นและรสเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร น้ำพริกที่ขึ้นชื่อและถือเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือมีหลายชนิด เช่น น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปู๋ น้ำพริกตาแดง

น้ำพริกภาคอีสาน มักมีความเหนียวข้นเหมาะรับประทานกับข้าวเหนียว ชาวอีสานเรียกน้ำพริกว่า “แจ่ว” และ “ป่น” ถ้าเป็นการปรุงเพื่อใช้จิ้มกับอาหารประเภท นึ่ง ปิ้ง ทอด จะเรียกว่า “แจ่ว” แต่ถ้านำไปตำกับวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น ปลา เห็ด กุ้งฝอย จะเรียกว่า “ป่น” เช่น ป่นปลา ป่นเห็ด หรือป่นกุ้ง โดยส่วนใหญ่มีรสเผ็ดนำ เค็มตาม ส่วนความหวานและเปรี้ยวได้จากรสชาติตามธรรมชาติของวัตถุดิบที่เป็นเครื่องปรุง และใช้ปลาร้าในการปรุงอาหารแทบทุกชนิดรวมทั้งน้ำพริกด้วย น้ำพริกปลาร้ามี 2 แบบ คือ “แจ่วปลาร้า” คือ การใช้ปลาร้าเป็นเครื่องปรุงซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำจิ้ม แต่หากใช้ปลาร้าเป็นวัตถุดิบหลัก นำมาสับแล้วตำเข้ากับพริกและเครื่องปรุงอื่น ๆ ให้มีลักษณะข้นเหนียว จะเรียกว่า “ปลาร้าบอง”

น้ำพริกภาคใต้ จะมีความเผ็ดร้อนกว่าน้ำพริกภาคอื่น ๆ ชาวใต้เรียกน้ำพริกว่า “น้ำชุบ” ส่วนผสมหลักคือ พริก หอมแดงและกะปิ ซึ่งจะมีเทคนิคการปรุงน้ำพริกหลายแบบ อาทิ การใช้วิธีคลุกเคล้าให้เข้ากันด้วยมือเรียก “น้ำชุบหยำ” หรือ “น้ำชุบโจร” หากใช้วิธีตำและปรุงให้เข้ากันเรียกว่า “น้ำชุบผัด” หรือ “น้ำชุบคั่วเคี่ยว” ความเผ็ดร้อนจัดจ้านเกิดจากวัตถุดิบอย่าง พริกสด พริกแห้ง พริกไทย รสเค็มได้จากกะปิ เกลือ รสเปรี้ยวได้จากส้มแขก น้ำส้มลูกโหนด ตะลิงปลิง ระกำ มะนาว มะขามเปียก หรือมะขามสด จึงทำให้รสชาติน้ำพริกของภาคใต้มีความดุดันต่างจากภาคอื่น ส่วนที่มีเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งคือการนำสมุนไพรสำคัญอย่าง “ขมิ้น” มาใช้ในการประกอบ ทำให้กลิ่นและสีต่างจากน้ำพริกของภาคอื่น ๆ น้ำพริกของภาคใต้ที่รู้จักกันดีคือ น้ำพริกบูดู น้ำพริกขยำ น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกไข่ปู คั่วแห้ง น้ำพริกไตปลาแห้ง

จากที่เคยลองค้นหาประวัติน้ำพริกพบว่ามีมากว่า 500 ชนิด แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 200 กว่าชนิด เนื่องจากวัตถุดิบบางอย่างเริ่มหาไม่ได้แล้ว รวมถึงการบริโภคอาหารของคนไทยต่างไปจากเดิม ทำให้น้ำพริกหลายชนิดไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน นิตยสารแม่บ้านฉบับนี้เราจึงอยากนำเสนอน้ำพริกโบราณที่หลายคนไม่คุ้นตา เพื่อให้คนรุ่นใหม่รวมถึงหลาย ๆ คนได้ลองนำมาทำแล้วปรับให้เข้ากับรสที่ชอบ แล้วนำขึ้นสำรับที่บ้านให้เติมเต็มรสชาติอาหารให้อร่อยยิ่งขึ้น
 

น้ำพริกผักหลาม
มีขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นอาหารที่ประดิษฐ์ขึ้นในวัง และอาหารตำรับนี้เป็นหนึ่งในตำรับทรงโปรดของพระองค์ท่าน สูตรนี้ดัดแปลงมาจากตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ที่นำวัตถุดิบต่าง ๆ มาตำจนเข้ากันดี รสชาติที่ได้จะเปรี้ยวจัด ตามด้วยเค็มเล็กน้อย เมื่อรับประทานร่วมกับปลาหลามและผักหลามที่ให้รสหวานจึงเข้ากันดีมาก
 

ส่วนผสม
ปลากรอบย่างให้สุกป่นละเอียด 50 กรัม
กะปิห่อใบตองปิ้งให้หอม 1 ช้อนชา
กระเทียมไทย 20 กลีบ
พริกชี้ฟ้าสีแดงเผา 3 เม็ด
พริกขี้หนูสวน 30 เม็ด
น้ำปลา 2 1/2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนชา
มะม่วงเปรี้ยวสับ 50 กรัม
ระกำซอยบาง ๆ 30 กรัม
น้ำมะนาว
 
วิธีทำ
1. ลอกผิวพริกชี้ฟ้าออก ส่วนกระเทียมและพริกขี้หนูสวน นำไปคั่วให้สุกหอม เตรียมไว้
2. โขลกพริกชี้ฟ้า กระเทียม พริกขี้หนูสวน ให้ละเอียด ใส่กะปิ ปลากรอบ โขลกให้เข้ากัน
3. ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ มะม่วงเปรี้ยว ระกำ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ถ้าไม่เปรี้ยวเติมน้ำมะนาวเพิ่มได้ตามชอบ
4. ตักใส่ภาชนะเสิร์ฟพร้อมผักหลาม และปลาช่อนต้มน้ำอ้อย
 
ส่วนผสมผักหลาม
ดอกแค 30 กรัม
กะหล่ำปลีหั่นชิ้น 2 ชิ้น
ถั่วฝักยาวหั่นท่อน 100 กรัม
ถั่วพู 30 กรัม
หัวกะทิ 3/4 ถ้วยตวง
แป้งข้าวเจ้า 4 ช้อนชา
หางกะทิ
กระบอกไม้ไผ่
 
วิธีทำ
1. ใส่ผักต่าง ๆ ลงในกระบอกไม้ไผ่ เติมหางกะทิ ให้มีความสูงจากผักประมาณ 1 นิ้ว ปิดปากกระบอกด้วยใบตองที่ห่อด้วยกาบมะพร้าว แล้วนำไปย่างโดยให้กระบอกตั้งขึ้นเหมือนการย่างข้าวหลาม
2. ผสมหัวกะทิกับแป้งข้าวเจ้า คนให้เข้ากัน ยกขึ้นตั้งไฟ คนพอข้นยกลง เตรียมไว้
3. เทผักที่หลามสุกใส่ภาชนะ ราดหัวกะทิข้อที่ 2 จัดเสิร์ฟ
 
หมายเหตุ
ถ้าไม่มีกระบอกไม้ไผ่ ใช้วิธีต้มด้วยหางกะทิแทนได้ แต่ความหอม จะสู้แบบหลามไม่ได้
 
ส่วนผสมปลาช่อนต้มน้ำอ้อย
ปลาช่อน 1 กิโลกรัม
น้ำปูนใส 4 ถ้วยตวง
น้ำอ้อย 3-4 ถ้วยตวง
ใบตอง
 
วิธีทำ
1. ล้างปลาช่อนให้สะอาด แล้วล้างน้ำปูนใสอีกครั้ง ใส่ตะแกรง ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
2. เทน้ำอ้อยใส่หม้อ ยกขึ้นตั้งไฟ พอเดือด ใส่ปลาช่อนลงต้ม ปิดฝา เบาไฟ เคี่ยวจนปลาสุกระอุ น้ำอ้อยงวด ตักปลาขึ้นวางบนใบตอง ลอกเกล็ดและหนังออก จัดใส่ภาชนะ ราดด้วยน้ำอ้อยที่เหลือจากการต้ม

หมายเหตุ
               เพื่อความสะดวก สามารถลอกเกล็ดปลา และหั่นเป็นชิ้นก่อนนำไปต้มกับน้ำอ้อยได้ตามชอบ
 

น้ำพริกส้มมะขามเปียก
เป็นเมนูที่เหมาะกับรับประทานร่วมกับผักทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักสดหรือผักต้ม ส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ มะขามเปียกรสเปรี้ยว ที่นำมาตำกับพริกและเครื่องเคราอื่น ๆ จนเข้ากันดี มากไปด้วยวิตามิน ส่วนเนื้อสัตว์ที่รับประทานเข้ากันดีที่สุดคือ หมูหวาน หรือปลาหวาน เนื่องจากจะช่วยตัดรสเปรี้ยวของน้ำพริกได้ดี
 

ส่วนผสม
พริกชี้ฟ้าแห้งแกะเมล็ดออกแช่น้ำพอนิ่ม 10 เม็ด
พริกขี้หนูแห้งแช่น้ำพอนิ่ม 10 เม็ด
กุ้งแห้งป่นละเอียด 1/4 ถ้วยตวง
กระเทียมไทย 5 กลีบ
เกลือป่นหยาบ 1/4 ช้อนชา
น้ำปลา 5 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนชา
เนื้อมะขามเปียกสับ 1/2 ถ้วยตวง
กะปิ 1 ช้อนชา
ไข่ต้ม
ผักสด เช่น มะเขือม่วง มะเขือเปราะ แตงกวา ถั่วฝักยาว
ผักลวก เช่น กระเจี๊ยบ บวบงู ดอกแค
 
วิธีทำ
1. โขลกพริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู และเกลือป่นให้ละเอียด ใส่กุ้งแห้ง กระเทียม กะปิ โขลกให้เข้ากัน ใส่เนื้อมะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ คนให้เข้ากัน
2. ตักน้ำพริกใส่ภาชนะ จัดเสิร์ฟพร้อมไข่ต้ม ผักสด และผักลวกตามชอบ
 

น้ำพริกนครบาล
เป็นน้ำพริกที่มีสูตรค่อนข้างหลากหลาย แต่โดยส่วนใหญ่มักใช้พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู และพริกแห้ง มาย่างจนหอมแล้วโขลกให้เข้ากัน แล้วจึงใส่เครื่องเคราอื่น ๆ ลงไป อาทิ มะอึก มะดัน กุ้งแห้ง ส้มซ่า น้ำตาลปี๊บ มะนาว รวมถึงกะปิอย่างดีที่ขาดไม่ได้ เมื่อทุกอย่างเข้ากันก็ตักใส่ถ้วยแล้วรับประทานร่วมกับไข่ต้มและผักสด
 

ส่วนผสม
ปลากรอบปิ้งแกะเอาแต่เนื้อ 1 1/2 ตัว
กุ้งนางเผาแกะเอาแต่เนื้อ 3 ตัว
กากหมูเจียวใหม่ ๆ 2 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่นหยาบ 1 ช้อนชา
น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมะนาว 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
มะอึกซอย 2 ลูก
เนื้อระกำ (ประมาณ 3 ผล) 1/4 ถ้วยตวง
น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
พริกชี้ฟ้าสีแดงเผาแกะเปลือกหั่นหยาบ 5 เม็ด
พริกขี้หนูเผา 10 เม็ด
พริกขี้หนูแห้งคั่ว 5 เม็ด
กระเทียมเผา 8 กลีบ
กะปิเผา 1 ช้อนโต๊ะ
เนื้อมะขามเปียก 1/2 ช้อนโต๊ะ
ผิวส้มซ่า 1 ช้อนชา
พริกแห้งทอดสำหรับโรย
ผักลวกและผักสดตามชอบ
 
วิธีทำ
1. โขลกกุ้งนาง ปลากรอบ กากหมู ทีละอย่างให้ละเอียด ตักใส่ภาชนะเตรียมไว้
2. โขลกพริกขี้หนูแห้งกับเกลือป่นให้ละเอียด ใส่กะปิ กระเทียม เนื้อมะขามเปียก และระกำ โขลกให้เข้ากันพอหยาบ
3. ใส่มะอึก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนูเผา โขลกต่อพอหยาบ นำส่วนผสมข้อที่ 1 มาโขลกผสมให้เข้ากัน
3. ปรุงรสด้วย น้ำตาลปี๊บ น้ำมะนาว น้ำปลา ผสมให้เข้ากัน ตักใส่ภาชนะ โรยผิวส้มซ่าและพริกแห้งทอด จัดเสิร์ฟ พร้อมผักลวกและผักสดตามชอบ
 

น้ำพริกมะหมาดมาด
เป็นน้ำพริกโบราณชนิดหนึ่งที่รัชการที่ 5 โปรดให้เป็นเสบียงครั้งเสด็จประพาสยุโรปด้วย มีความโดดเด่นด้วยส่วนผสมพิเศษ คือ มะหมาดมาดหรือมะแขว่น ชาวจีนเรียกพริกหอม เครื่องเทศชาวเหนือชนิดนี้มีกลิ่นหอม ทำให้เป็นน้ำพริกที่มีรสชาติกลมกล่อมและกลิ่นหอมไม่เหมือนใคร เหมาะรับประทานร่วมกับผักสด และปลาช่อนทอด
 

ส่วนผสม
ปลาเนื้ออ่อนกรอบป่นละเอียด 1/4 ถ้วยตวง
พริกชี้ฟ้าแห้ง 20 เม็ด
กระเทียมไทยซอยแล้วเจียว 1/4 ถ้วยตวง
หอมแดงเจียว 1/2 ถ้วยตวง
มะแขว่นคั่วนำเมล็ดออกโขลกละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
มะขามเปียกสับ 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนชา
น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
ปลาช่อนแดดเดียวทอด
ผักสด เช่น ยอดกระถิน แตงกวา ถั่วพู กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว มะเขือต่าง ๆ ผักลวกหรือผักนึ่ง เช่น ดอกแค บวบงู กระเจี๊ยบ ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ
 
วิธีทำ
1. กรีดพริกชี้ฟ้า นำเมล็ดออกแล้วหั่นท่อน แช่น้ำเปล่าพอนุ่ม จากนั้นนำไปคั่วให้หอม
2. โขลกพริกชี้ฟ้าให้ละเอียด ใส่กระเทียม หอมแดง โขลกให้ละเอียด ใส่มะแข่วนและปลาเนื้ออ่อน โขลกให้เข้ากัน เตรียมไว้
3. ผสมน้ำปลาและมะขามเปียกสับ คนให้ละลาย ใส่ลงในส่วนผสมข้อที่ 2 คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่น้ำตาลปี๊บ คลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง ตักใส่ภาชนะจัดเสิร์ฟ พร้อมปลาช่อนแดดเดียว ผักสด และผักลวกตามชอบ
 

น้ำพริกคั่วทราย
เป็นน้ำพริกพื้นเมืองของชาวไทใหญ่ ที่มีส่วนผสมหลักเป็น “ถั่วเน่า” ซึ่งเป็นเครื่องปรุงสำคัญในอาหารไทยภาคเหนือ ทำจากถั่วเหลืองสามารถใช้แทนกะปิได้ โดยการนำถั่วเน่าที่ปิ้งหรืออบแล้วมาตำจนละเอียด จากนั้นผสมกับกระเทียมป่นเจียวจนกรอบ หอมแดง พริกขี้หนู ถั่วลิสง เกลือ น้ำตาล แล้วนำมาผัดหรือคั่วจนเข้ากัน รับประทานกับผักสด
 

ส่วนผสม
ถั่วลิสงคั่วบดหยาบ 100 กรัม
ถั่วเน่าปิ้งให้หอมบดละเอียด 3 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมเจียว 1/4 ถ้วยตวง
หอมแดงเจียว 1/4 ถ้วยตวง
พริกชี้ฟ้าแห้งหั่นท่อนนำเมล็ดออกคั่ว 3 เม็ด
พริกขี้หนูแห้งคั่ว 5 เม็ด
เกลือป่นหยาบ 1 ช้อนชา
น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ
ผักสด เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ ใบบัวบก ผักแพว ใบสะระแหน่
 
วิธีทำ
1. โขลกพริกชี้ฟ้าและพริกขี้หนูให้ละเอียด
2. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชเตรียมไว้พอร้อน เบาไฟ ใส่ถั่วเนา ผัดให้หอม ใส่ถั่วลิสง พริกที่โขลกไว้ ผัดให้เข้ากัน
3. ปรุงรสด้วยเกลือป่น น้ำตาลทราย ใส่กระเทียมเจียว หอมแดงเจียว ผัดคลุกเคล้าให้ทั่ว ชิมรสเค็มมันหอมถั่วลิสงและถั่วเน่า ตักใส่ถ้วย จัดเสิร์ฟพร้อมผักสดตามชอบ




เรื่อง : TONGTA
ภาพ : ชุลีภรณ์
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด  

3 เมนูง่ายๆ จากถั่วลิสง

พูดถึงถั่วที่สามารถรับประทานได้ง่ายๆ หลายคนคงนึกถึงถั่วลิสงต้มที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด ถั่วชนิดนี้เป็นที่นิยมรับประทานกันมาก ไม่ว่าจะนำมาต้ม ใช้เป็นกับแกล้ม หรือเป็นส่วนผสมของเมนูอร่อยๆ ในถั่วลิสงนั้นมีสรรพคุณที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก อาทิ ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงสมองและประสาทตา เสริมสร้างความจำ และยังมีโคลีนที่ช่วยควบคุมความจำอีกด้วย แนะนำให้รับประทานเพียงวันละ 30 กรัม หรือ 1 กำมือเท่านั้น ถ้าจะให้ดีควรเลือกรับประทานแบบดิบหรือต้ม เพราะหากรับประทานถั่วคั่ว ถั่วทอด หรือถั่วอบ จะทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวที่มีในถั่วลิสงหายไปได้