Sunny Cotton ผ้าอนามัยซักได้... ตอบโจทย์สาวรักษ์โลก

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
4,662    6    -4    28 ก.ย. 2562 09:00 น.
แบ่งปัน
       อารมณ์ที่แปรปรวนในทุก ๆ เดือนของหญิงสาวสามารถบอกอะไรได้บ้าง เป็นเรื่องราวที่ผู้หญิงพูดคุยกันแบบไม่มีเขินอาย และเป็นเรื่องที่ผู้ชายไม่เคยเข้าใจ แต่โปรดรู้ไว้เถิดว่ามันคือความเป็นธรรมชาติ ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้ในทุก ๆ วันอย่างสมบูรณ์

       เราได้รู้จักกับ “ผ้าอนามัยซักได้” มาสักระยะหนึ่งแล้วจากกลุ่มรักษ์โลกที่มีให้เห็นในโซเชียลมีเดีย เคยคิดที่จะลองซื้อมาใช้ แต่ตัดสินใจไม่ได้สักทีเพราะไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน จนกระทั่งได้มารู้จักกับ Sunny Cotton ผ้าอนามัยซักได้ แบรนด์คนไทยที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนี้ จึงตัดสินใจนัดพูดคุยกันในเรื่องที่เราอยากรู้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้หญิงหลายคน ที่คิดจะเปลี่ยนตัวเองเป็นสาวรักษ์โลก และพร้อมที่จะเรียนรู้ว่าอารมณ์ที่แปรปรวนในแต่ละเดือนนั้น ความจริงแล้วมีวิธีแก้ไขได้ด้วยตัวของเราเอง
 

        จากพนักงานสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ ผันตัวเองมาทำงานคราฟต์ เพราะอยากคลายเครียดในช่วงที่เรียนหนัก คุณเก๋–เกศินี จิรวณิชชากร เริ่มเล่าเรื่องให้เราได้ฟัง “เก๋เริ่มงานนี้ตั้งแต่ช่วงเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นค่ะ ตอนนั้นลองทำใช้เองเป็นงานอดิเรก คือมีช่วงที่รู้สึกแย่กับงานวิจัยตัวเอง เริ่มเบื่อชีวิต แล้วก็รู้สึกว่าอยากทำอะไรที่มันสนุก ซึ่งเก๋เป็นคนชอบเย็บผ้าอยู่แล้ว เลยเริ่มลองทำผ้าอนามัยไว้ใช้เอง พอใช้ก็รู้สึกดี อยากทำให้คนไทยใช้อะไรอย่างนี้ จึงเริ่มทำขายสนุก ๆ แต่ผลตอบรับดีมาก เลยตัดสินใจออกจากงานมาทำเต็มตัว”

        เริ่มรู้จักกับผ้าอนามัยซักได้ตั้งแต่เมื่อไร “ความจริงก็รู้จักมาตั้งนานแล้ว เพราะเก๋ไปเรียนที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2010 ผ้าอนามัยแบบนี้เขาจะมีขายอยู่ในร้านเฉพาะทาง ในช่วงนั้นก็เห็นมีคนใช้บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นกระแสเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งร้านที่ขายเขาจะมีผ้าทุกแบบเลย ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าไหม ผ้าย้อมสีธรรมชาติ สารพัดเลยค่ะ แล้วก็แบบพวก Accessories ต่าง ๆ แต่เดี๋ยวนี้การใช้ผ้าอนามัยแบบนี้คนนิยมใช้เพิ่มมากขึ้น ขนาดที่ว่ามีวางจำหน่ายในร้านขายยาของญี่ปุ่นแล้ว เรียกได้ว่าหาซื้อได้ง่ายเหมือนผ้าอนามัยธรรมดาเลย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เก๋อยากลองทำบ้าง เนื่องจากส่วนตัวไม่ใช่คนแบบชอบเย็บปักถักร้อยทั่วไป แต่ว่าชอบทำอะไรที่มันไม่มีขาย อย่างเช่นอยากได้กระเป๋าสตางค์ที่มันเป็นแบบนี้ก็เลยต้องทำเอง หรือว่าแบบผ้าม่านต้องไซส์อย่างนี้ก็จะทำเอง และที่เริ่มทำผ้าอนามัยซักได้เนี่ยเพราะที่ญี่ปุ่นราคาสูงมาก ซื้อไม่ไหว (หัวเราะ) รวมถึงอยากได้ไซส์แบบนี้ ลายอย่างนี้ เลยต้องทำเอง ที่สำคัญคือทำแล้วมันสนุก ช่วยคลายเครียดได้ดี ก็เลยรู้สึกว่าชอบ”
 

        “เริ่มใช้ตัวเองเป็นหนูทดลอง ทำผิดทำถูกไปเรื่อย ๆ จนได้เป็นรูปแบบที่ตัวเองพอใจ ใช้ง่าย ใช้งานได้จริง เท่านี้คงเพียงพอแล้วที่จะเริ่มอาชีพใหม่แบบสวย ๆ “ตอนเริ่มทำเก๋อยู่ที่เชียงใหม่ ก็เลยไปหาผ้าที่กาดหลวง ลองซื้อหลาย ๆ แบบมา เอานู่นเอานี่มาผสมกันอะไรอย่างนี้ หลักการของผ้าอนามัยก็คือมันจะมี 3 เลเยอร์หลัก ๆ ด้วยกัน เลเยอร์แรกอันบนสุดจะเป็นผ้าที่มันซึมซับเร็ว ชั้นตรงกลางก็จะเป็นเลเยอร์ที่ซึมซับได้เยอะ ส่วนข้างล่างเป็นชั้นที่กันน้ำ คือพยายามหาผ้าที่ได้คุณสมบัติสามแบบนี้มาผสมกัน วิธีการก็คือใช้น้ำหยด ๆ ลงไป ว่ามันรับได้เยอะแค่ไหน เช็คดูว่าอย่างไหนมันดีกว่ากัน”


“เก๋เคยดูในสารคดีเรื่อง Period. End of Sentence. ที่ผู้ชายอินเดียเขาผลิตเครื่องทำผ้าอนามัยแบบง่าย ๆ ให้ผู้หญิงชาวชนบทในอินเดียได้ลองทำขาย ข้างในจะเป็นเส้นใยฝ้ายอัดแน่น แล้วทำให้มันเป็นรูปทรง หลักการคือทำให้มันซึมซับได้เยอะโดยที่มันไม่หนามาก เมื่อก่อนเก๋ก็ทำหนากว่านี้ แต่พอใส่แล้วมันไม่สบายตัว เลยพยายามทำให้มันบางลง”
 

       ในประเทศญี่ปุ่นบอกว่า ประจำเดือนสัมพันธ์กับพระจันทร์ “การศึกษาเรื่องฮอร์โมนเก๋ว่ามันสำคัญนะ เก๋ไปเจอ Concept แบบญี่ปุ่นที่เขาบอกว่าประจำเดือนมันสัมพันธ์กับพระจันทร์ เพราะว่ามันเป็นรอบ 28 วันเหมือนกัน มันเป็นแนวคิดที่มองว่ามนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วอยากจะใช้ชีวิตให้มันสอดคล้องกับจังหวะของธรรมชาติ แล้วเค้าก็มองว่าผ้าอนามัยแบบซักได้มันเป็นวิธีที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุด เหมือนกับว่าเราปล่อยให้ประจำเดือนมันออกมาบนผ้าฝ้ายที่มันทำจากธรรมชาติ ซึ่งต่างจากผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งที่มีส่วนประกอบของเคมี พลาสติก มันทำให้ร่างกายเย็น เลือดลมไหลเวียนไม่ดีนำไปสู่ความป่วยต่าง ๆ ปวดท้องประจำเดือน มีผู้หญิงญี่ปุ่นหลายคนที่ใช้ผ้าอนามัยซักได้แล้วรู้สึกว่าปวดประจำเดือนน้อยลง รวมถึงเลือดประจำเดือนก็มาน้อยลงด้วย” 
 

“ใน 1 เดือน ผู้หญิงจะมี 4 ฤดู นี่คือความเชื่อของคนญี่ปุ่น ส่วนช่วงที่ประจำเดือนมาคือช่วงฤดูหนาว เหมือนกับสัตว์หลาย ๆ ชนิดที่จำศีลในฤดูหนาว ร่างกายของผู้หญิงรู้สึกว่าอยากอยู่นิ่ง ๆ อยากพักผ่อน เป็นช่วงทบทวนเรื่องการใช้ชีวิตในตลอดเดือนที่ผ่านมา แล้วก็เลือดประจำเดือนที่ออกมามันก็เหมือนเป็นการสื่อสารกับเราว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตยังไง”
 
       ผ้าอนามัยซักได้มาพร้อมกับกระแสรักษ์โลก “ปกติเก๋เป็นคนสนใจเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว และคิดว่ากระแสเรื่องผู้หญิงมันก็มักจะมาพร้อมกับเรื่องการดูแลโลกนี้เช่นกัน เหมือนกับเรื่องความเป็นแม่ที่มันสัมพันธ์กับการดูแลโลกสำหรับคนรุ่นต่อไป ส่วนมุมมองในอนาคตคิดว่าผ้าอนามัยแบบนี้ค่อนข้างตอบโจทย์ เพราะปัจจุบันในอเมริกาเริ่มมีผลิตแบบที่ป้องกันได้แบบสุด ๆ ช่วยให้ไม่เลอะแน่นอน อีกทั้งมีสารที่ใช้สำหรับซักผ้าอนามัยโดยเฉพาะ เลยคิดว่ามันจะมีอะไรใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ชีวิตเรามากขึ้น แต่มันก็คือผ้าอนามัยที่แบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเก๋คิดว่าแบบนี้มันยั่งยืนที่สุดแล้ว เพราะนอกจากช่วยลดขยะได้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนมากด้วยเช่นกัน”
 

       คำถามที่เจอบ่อยที่สุดคือ “ใช้ยากมั้ย-ซักยากหรือเปล่า” ซึ่งคุณเก๋บอกเราว่าแค่สบู่ก้อนเดียวก็ซักออกแล้ว “เริ่มจากการใช้ก่อนนะคะ ประจำเดือนของแต่ละคนมาไม่เหมือนกัน อย่างของเก๋วันแรกจะมาน้อยหน่อยใช้ไซส์ M กับผ้าซับ 1 ผืน แล้วก็พอช่วงเย็น ๆ ค่ำ ๆ มันก็จะเริ่มมาเยอะจะเปลี่ยนเป็นไซส์ L กับผ้าซับไซส์ใหญ่ ส่วนตอนนอนใช้เป็นไซส์ XL เท่ากับว่าวันนึงเราก็ต้องพกประมาณ 3 แผ่น แต่ถ้าเกิดเป็นวันมามากแล้วออกไปทำงาน อาจจะใส่ไซส์ใหญ่หน่อย แล้วก็ผ้าที่พกก็อาจจะประมาณ 3 ผืน ใส่ผืนนึงแล้วพกมาอีกสองผืน เป็นรีฟิล เวลาเปลี่ยนก็พับแล้วใส่ถุงซิปล็อกแล้วก็เอาใส่ถุงอีกชั้นนึงที่มันพรางสายตาหน่อย ส่วนวิธีซักแค่แช่น้ำสะอาดทิ้งไว้เพื่อให้คราบบางส่วนหลุดไป แล้วใช้สบู่ก้อนมาถูแล้วแช่ไว้จากนั้นค่อยนำมาขยี้เบา ๆ คราบก็จะออกแล้ว จากนั้นก็นำไปตากจนแห้งสนิท ยิ่งตากแดดแรง ๆ จะดีมาก เพราะแสงแดดจะช่วยฆ่าเชื้อโรคให้เราอยู่แล้ว ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนก็สามารถใส่เครื่องอบให้แห้งได้ แต่ถ้าตากในร่มแนะนำให้หยดน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อโรคด้วยค่ะ”

       ลูกค้าของคุณเก๋มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ปัจจุบันยังคงทำอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากวัสดุในการทำต่าง ๆ มาจากของพื้นเมืองหมดเลย แต่ก็จะมีจำหน่ายใน Facebook  Instagram และเว็บไซต์ มีให้เลือกหลายแบบ หลายขนาด ราคาอยู่ที่ 120-280 บาท ส่วนผ้าซับราคา 45-50 บาท สามารถใช้วนไปได้นานมากกว่า 5 ปี แถมยังไม่ต้องวุ่นวายกับการมาเดินซื้อในแต่ละเดือน ไม่ต้องมีขยะมากมายจนล้นโลก รวมถึงช่วยประหยัดรายจ่ายไปได้มากในแต่ละเดือน เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับ สาวรักษ์โลก ทั้งหลาย


SunnyCotton ตู้ ป.ณ.104 ปณฝ. ตลาดคำเที่ยง จังหวัดเชียงใหม่ 50304
โทร. 08-4159-5409
Facebook: SunnyCotton – menstrual pad ผ้าอนามัยซักง่าย
Instagram: sunnycottonpad


เรื่อง
: TONGTA
ภาพ : ธราดล


 
  DIY,
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด