จากความชอบสู่เครื่องดื่มรสซ่า “คราฟต์โคล่า” ในแบบของ aircraft

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
5,645    5    -4    6 ก.ย. 2562 17:00 น.
แบ่งปัน
เครื่องดื่มรสซ่านามว่า “โคล่า” ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1886 ณ ร้านขายยา "เจคอบ ฟาร์มาซี" เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเภสัชกรชื่อ ดร.จอห์น เพมเบอร์ตัน (Dr.John Pemberton) เขาได้คัดสรรวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ให้กลิ่นและรสต่าง ๆ ที่ดีที่สุดจากทั่วทุกมุมโลก นำมาผสมผสาน คิดค้นจนได้เครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่นแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

       ภายในซอยศาลาแดง 1 ย่านสีลม มีร้านกาแฟเล็ก ๆ ชื่อว่า Roastology Coffee Roasters แอบซ่อนอยู่ภายในร้านตัดเสื้อฝีมือดี คุณกิฟ–ณัฐธิดา วงศ์มหาศิริ บอกกับเราว่า “ที่ญี่ปุ่นร้านกาแฟมักจะถูกพ่วงเข้ามาพร้อมกับร้านเสื้อผ้าเสมอ เป็นเพราะพื้นที่เขาเล็ก ซึ่งร้านกาแฟของเรานั้นก็ขอเริ่มจากเล็ก ๆ ก่อนเช่นกันค่ะ (ยิ้ม)” เรามองไปรอบ ๆ และแอบได้ยินเสียงหัวเราะร่าเริงของสองสาวที่กำลังลองชุดเจ้าสาวกันอยู่ นับเป็นบรรยากาศอีกแบบหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เจอนักในร้านกาแฟ มันช่วยสร้างความชุ่มชื่นในหัวใจได้ดีไม่น้อยในวันที่แดดแรงกล้าแบบนี้
 

       Kofi-Cola เครื่องดื่มรสเย็นซ่าถูกจัดเสิร์ฟมาพร้อมกับการเล่าเรื่องอย่างสนุกสนานของคุณกิฟ “จริง ๆ แล้วกิฟเริ่มจากทำกินเล่น ๆ เองที่บ้าน แล้วไปเจอหนังสือ Homemade Soda เล่มนึง อ่านแล้วสนุกมาก ในหนังสือเขาจะสอนว่าเราสามารถทำโซดากินเองที่บ้านได้ยังไง รวมถึงมีสูตรการทำโคล่าอยู่ด้วยหลายสูตร เราก็เลยลองต้มดู แต่ครั้งแรกที่ทำมันไม่อร่อย (หัวเราะ) ลองอยู่ 2-3 ครั้งก็ยังไม่ดีขึ้น เลยเลิกทำไปพักหนึ่ง แล้วปรากฏว่าเมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว เราต้องคิดเมนูใหม่ให้ที่ร้าน ก็เลยแบบลองเล่นดูอีกที ปรากฏว่ารอบนี้มันออกมาดี แต่ไม่ใช่สูตรเดิมที่ลองครั้งแรกนะคะ เป็นการปรับสูตรเติมโน่นนิดนี่หน่อย คือเลือก spice ที่เราคิดว่าใช่ลองไปเรื่อย ๆ” 
 

“ในงาน Bangkok Design Week 2019 กิฟตัดสินใจตั้งแบรนด์ใหม่ขึ้นมาชื่อว่า aircraft ที่มาจากคำว่า air+craft ออกมาเป็นเครื่องดื่มคราฟต์อัดอากาศ เราโฟกัสเรื่องที่เกี่ยวกับอากาศ หรือเครื่องดื่มที่มีอากาศ”

       ส่วนผสมหลักของการทำโคล่ามีอยู่ 3 อย่างคือ ซีตัส แล้วก็ซินนามอน วานิลลา “บางคนอาจจะงงว่าแค่ 3 อย่างนี้ทำโคล่าได้แล้วเหรอ จริง ๆ แล้วพื้นฐานมันคือน้ำตาลหรือไซรัปค่ะ เราสามารถแบ่งเครื่องดื่มประเภทโซดานี้ออกได้เป็น 2 แบบคือ แบบหวาน และหวานอมเปรี้ยว ซึ่งรสมันก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก สำหรับสูตรของกิฟก็จะมีลูกผักชีคั่วเพิ่มเข้าไปเพื่อให้กลิ่นที่หอมมากขึ้น จากนั้นเราก็นำมาต้มทำเป็นไซรัป โดยมีเบสเป็นคาราเมล ความจริงแล้วการทำโคล่าจะต้องใช้ cola nut แต่ในบ้านเราไม่มี กิฟเลยเลือกใช้เมล็ดกาแฟ เนื่องจากมีกาเฟอีนจึงให้ความสดชื่นเหมือนกัน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสีดำให้กับโคล่าด้วย เมื่อเราได้ไซรัปมาแล้วก็เติมน้ำ เติมเลมอนไซรัปที่เราทำเอง แล้วเขย่าน้ำแข็งให้เย็นจัด จึงจะใส่เครื่องโซดาซูเมอร์เพื่ออัดแก๊สลงไป ปล่อยทิ้งไว้ให้แก๊สซึมสักพักจึงเปิดออกมาเสิร์ฟ ด้วยวิธีการที่ค่อนข้างสดเราก็เลยเรียกว่าเป็นแบบ Fresh Cola แบบทำที่นี่แล้วก็กินตรงนี้ อร่อยสุดอะไรแบบนี้”
 


       ขาหมู ถ้าจะให้อร่อยต้องปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืน “ไซรัปโคล่าก็จะเป็นแบบนั้นนะคะ คือรสมันจะเข้มข้นขึ้น แต่กลิ่นของซีตัสจะหายไป ส่วนของที่นี่กิฟจะทำแยกค่ะ ทุกอย่างเราทำเองทั้งหมด ทั้งไซรัปโคล่า หรือไซรัปเลมอน และเป็นเลมอนที่ปลูกในไทยด้วย ส่งตรงจากสวนที่จังหวัดสุพรรณบุรี ช่วงแรก ๆ ที่ทำกลิ่นของเครื่องเทศเราจะชัดมาก แรงกว่านี้ แต่ก็ปรับลดลงตามความชอบของลูกค้า” 

       ไม่ได้เป็นคนชอบทำกับข้าว แต่สนใจด้านเครื่องดื่มเป็นพิเศษ “ไม่ได้เรียนอะไรที่เกี่ยวกับอาหารเลย ไม่ชอบทำกับข้าวด้วย แต่ชอบกินโคล่า (หัวเราะ) จริง ๆ คือเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือค่ะ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอาหาร ที่บ้านจะมีหนังสือเกี่ยวกับอาหารเยอะ พวกประวัติศาสตร์อาหาร หรือหนังสือที่เล่าเรื่องของเชฟว่าเค้าทำงานในครัวยังไง ตอนเด็ก ๆ จะชอบไปห้องสมุด แล้วมีหนังสืออยู่เล่มนึงที่ชอบมากในตู้หนังสือ เป็นหนังสือเกี่ยวกับค็อกเทล ไม่มีรูปด้วยนะมีแต่ตัวหนังสือ เป็นหนังสือสมัยก่อนที่เก่ามาก ๆ แต่ชอบชื่อเครื่องดื่ม มันดูเท่ ๆ ดี ในนั้นเขาจะเขียนว่าใส่ Gin ใส่ Vodka ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกนะว่ามันคืออะไร รู้แต่ว่ามันน่าสนุกจัง”
 


       Fresh Cola ลูกค้าชอบมั้ย “มีลูกค้าที่เป็นขาประจำด้วย คือบางคนตั้งใจมากินโคล่าโดยเฉพาะเลย เราก็รู้สึกดีใจนะ เพราะเราไม่รู้ว่าเรากินอร่อยอยู่คนเดียวรึป่าว แล้วก็มีลูกค้าบางคนบอกว่าชอบโคล่ามาก และไม่คิดว่ามันสามารถทำเป็น Homemade ได้ อาจเป็นเพราะเราคุ้นเคยว่าเจอมันในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว เจอตามร้านสะดวกซื้อ เรียกว่าหาซื้อได้ง่าย ๆ เพราะมันเป็นอุตสาหกรรมไปแล้ว เลยไม่คิดว่าจะทำเองได้ แต่ความจริงก่อนที่จะเป็นอุตสาหกรรมคนเราก็ต้องทำเองที่บ้านก่อนเสมอ อย่างน้ำปลา ซีอิ๊ว หรือเครื่องปรุงรสอื่น ๆ ก็ต้องเริ่มจาก Homemade ทั้งนั้น โคล่าก็เหมือนกัน ทุกคนสามารถทำเองได้ มันเหมือนการทำกับข้าวอย่างหนึ่งเลย ถามว่าซื้อโซดามาผสมได้ไหม ก็ได้นะ แต่มันจะไม่ซ่าเหมือนกับเครื่องอัดแก๊ส หรือเครื่องทำโซดา”  

       โกโก้ร้อนใต้แสงเทียนในวันที่หิมะตก เป็นเครื่องดื่มพิเศษสุดสำหรับคนสวีเดน แต่สำหรับเมืองไทยที่อากาศร้อนอบอ้าวคุณกิฟบอกว่า “โคล่า” เย็น ๆ แก้วเดียวก็ช่วยให้สดชื่นได้ และถึงแม้ว่าเธอจะทำเครื่องดื่มโคล่าในแบบของตัวเองแล้ว เธอยังเลือกที่จะหยิบเครื่องดื่มน้ำดำยี่ห้ออื่น ๆ กินด้วยเสมอ โดยเฉพาะในวันที่รู้สึกเหนื่อย รู้สึกเครียด เพราะดื่มทีไรก็จะทำให้สดชื่นขึ้น และสามารถเปลี่ยน Mood ให้ดีขึ้นได้ในพริบตา

Roastology Coffee Roasters
เปิดบริการเวลา 08.00-16.30 น.
ที่ตั้ง : 21 ซอยศาลาแดง 1 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
โทร. 06-2381-8333

เรื่อง : TONGTA
ภาพ : pg

 
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด