พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
10,224    62    -4    14 ต.ค. 2559 11:42 น.
แบ่งปัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระนามเดิมว่า “พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” พระนามของพระองค์มีความหมายดังนี้ 

ภูมิพล - ภูมิ หมายความว่า “แผ่นดิน” และ พล หมายความว่า “พลัง” รวมกันแล้วหมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน” 

อดุลยเดช - อดุลย หมายความว่า “ไม่อาจเทียบได้” และ เดช หมายความว่า “อำนาจ” รวมกันแล้วหมายถึง “อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้” 

พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น ( MOUNT AUBURN) รัฐเมสสาชูเขตต์ (MASSACHUSETTS) ประเทศสหรัฐอเมริกา 

พระราชประวัติการศึกษา 
เมื่อพุทธศักราช 2475 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุ 5 พรรษา ได้ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ ขณะนั้น ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ 
การเมืองมีความผันผวน ในเดือนกันยายน พ.ศ.2476 หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา จึงทรงนำพระธิดา พระโอรส เสด็จไปประทับ ณ กรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงรับการศึกษา

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ ชั้นมัธยมศึกษา ณ โรงเรียน เอโกล นูแวล เดอ ลา สวิส โรมองต์ และโรงเรียน ยิมนาส กลาซีค กังโตนาล ตามลำดับ และทรงได้รับประกาศนียบัตร บาเชอลิเย เอ แลทร์ จากการศึกษาดังกล่าว ทรงรอบรู้หลายภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และละติน ต่อจากนั้น ทรงเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ 

ครั้นถึงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติ รัฐบาลจึงกราบทูลอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งสืบสายราชสันตติวงศ์ ลำดับที่ 1 และมีพระชนมายุ 9 พรรษา เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งได้ทรงสถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงสถาปนา หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา เป็น พระราชชนนีศรีสังวาลย์ และทรงสถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยานิวัฒนาเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา 

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้โดยเสด็จพระบรมเชษฐาธิราช สมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ นิวัฒพระนคร เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2481 ประทับ ณ พระตำหนักจิตลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นเวลา 2 เดือน แล้วเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์ 

ต่อมาได้เสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2488 ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ในครั้งนี้ปวงชนชาวไทยในแผ่นดินที่พระมหากษัตริย์มิได้ประทับเป็นประมุขยาวนานกว่าสิบปี ต่างปลาบปลื้มปิติชื่นชมโสมนัสที่ได้ชื่นชมพระบารมีสมเด็จพระยุวกษัตริย์ ซึ่งมีพระชนมพรรษาเพียง 20 พรรษา พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระชนมพรรษา 18 พรรษา 

ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเคียงคู่กันไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ ที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง แต่ความชื่นชมโสมนัสนั้นดำรงอยู่มินาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง รัฐบาลโดยความเห็นชอบของรัฐสภาจึงกราบทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อมา 

พระราชประวัติเสด็จขึ้นครองราชย์ 
ขณะที่พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พระชนมพรรษา 19 พรรษา รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และรัฐบาล ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการบริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์ เนื่องจากยังทรงพระเยาว์ และทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2489 เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์ แม้พระองค์จะทรงโปรดวิชาวิศวกรรมศาสตร์แต่เพื่อประโยชน์ในการปกครองประเทศได้ทรงเปลี่ยนมาศึกษาวิชาการปกครองแทน เช่น วิชากฎหมาย อักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ทรงศึกษาและฝึกฝนการดนตรีด้วยพระองค์เองด้วย 

ใน พ.ศ.2491 ระหว่างทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงขับรถยนต์ไปทรงร่วมงานที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ได้ทรงพบ และมีพระราชหฤทัยสนิทเสน่หาในหม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของหม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส กับหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร 

ในปีเดียวกันนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรง ทรงบาดเจ็บที่พระพักตร์ พระเนตรขวา และพระเศียร ทรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมอร์เซส์ โปรดฯ ให้หม่อมเจ้าราชวงศ์สิริกิติ์มาเฝ้าฯ ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด พระสัมพันธภาพจึงแน่นแฟ้นขึ้น และต่อมาได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2492 ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้พระราชทานพระธำมรงค์วงที่สมเด็จพระบรมราชนกหมั้นสมเด็จพระราชชนนี 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการอภิบาลอย่างดียิ่งจากสมเด็จพระราชชนนี จึงมีพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง และมีพระจริยวัตรเปี่ยมด้วยคุณธรรมทุกประการ ซึ่งน้อมนำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงสิริราชสมบัติเพียบพร้อมด้วยทศพิศราชธรรม จักรวรรดิวัตรธรรมและราชสังคหวัตถุ ทรงเจริญด้วยพระเกียรติคุณบุญญาธิการเจิดจำรัส ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญทุกทิศานุทิศในเวลาต่อมาตราบจนปัจจุบัน 

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 
พุทธศักราช 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนคร เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2493 ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2493 และต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชทานหลั่งน้ำพระมหาสังข์ และทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเช่นเดียวกับประชาชน ในการนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ 

หลังจากนั้น ได้เสด็จไปประทับพักผ่อน ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และที่นี่ได้เป็นแหล่งเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรกคือ พระราชทาน “ถนนสายห้วยมงคล” ให้แก่ “ลุงรวย” และชาวบ้านที่มาช่วยกันเข็นรถพระที่นั่งขึ้นจากหล่มดิน 

ทั้งนี้แม้ “ห้วยมงคล” จะอยู่ห่างอำเภอหัวหินเพียง 20 กิโลเมตร แต่ไม่มีถนนหนทาง ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตมาก ถนนสายห้วยมงคลนี้จึงเป็นถนนสายสำคัญที่นำไปสู่โครงการในพระราชดำริ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พสกนิกรอีกจำนวนมากกว่า 2,000 โครงการในปัจจุบัน 

พระบรมราชาภิเษก 
วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระมหาราชวัง เฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า 

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” และได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ในการนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสีเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี 

วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ไปยังสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เพื่อทรงรักษาพระสุขภาพ และเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2494 ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระที่นั่งอัมพรสถาน 

ทั้งสองพระองค์มีพระราชธิดา และพระราชโอรส 4 พระองค์ ดังนี้ 
1. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2494 ณ โรงพยาบาลมองซัวนี่ โลซานน์ ต่อมาทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2515
2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ประสูติเมื่อ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2515 
3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ภายหลังทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2520 
4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน 

ทรงพระผนวช 
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร ปฏิบัติพระศาสนกิจ เป็นเวลา 15 วัน ในการนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตลอดเวลา 15 วัน ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 

ในรัชกาลนี้ ได้ทรงพระกรุณาสถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมชนกนาถ ขึ้นเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ทรงสถาปนา สมเด็จพระราชชนนี เป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสถาปนา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และทรงประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ใหม่ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2539 เพื่อให้สมพระเกียรติตามโบราณขัตติยราชประเพณี ทั้งนี้ ด้วยพระจริยวัตรอันเปี่ยมด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาธรรม อันเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ พระปรมาภิไธยใหม่ที่ทรงสถาปนา คือ 

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศนิวิฐ ทศพิศราชธรรมอุกษฏนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฏ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตร โสภาคย์สรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฏลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ วิศิษฏศักตอัครนเรษราธิบดี เมตตากรุณา สีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฏาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” 

พระราชกรณียกิจ 
ตั้งแต่พุทธศักราช 2502 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทุกภาค ทรงประจักษ์ในปัญหาของราษฎร ในชนบทที่ดำรงชีวิตด้วยความยากจน ลำเค็ญ และด้อยโอกาส ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะหาทางแก้ปัญหาตลอดมาตราบจนปัจจุบัน 

อาจกล่าวได้ว่า ทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทยที่รอยพระบาทได้ประทับลง ได้ทรงขจัดทุกข์ยากนำความผาสุกและทรงยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นด้วยพระบุญญาธิการ และพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง พร้อมด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของราษฏรและเพื่อความเจริญพัฒนาของประเทศชาติตลอดระยะเวลาโดยมิได้ทรงคำนึงประโยชน์สุขส่วนพระองค์เลย 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโครงการนานัปการมากกว่า 2,000 โครงการ ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม ตลอดจนการเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในชนบท ทั้งยังทรงขจัดปัญหาทุกข์ยากของ ประชาชนในชุมชนเมือง เช่น ทรงแก้ปัญหาการจราจร อุทกภัยและปัญหาน้ำเน่าเสีย ในปัจจุบัน ได้ทรงริเริ่มโครงการการช่วยสงเคราะห์และอนุรักษ์ช้างของไทยอีกด้วย 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย แม้ในยามทรงพระประชวร ก็มิได้ทรงหยุดยั้งพระราชดำริเพื่อขจัดความทุกข์ผดุงสุขแก่พสกนิกร กลางแดดแผดกล้า พระเสโทหลั่งชุ่มพระพักตร์และพระวรกาย หยาดตกต้องผืนปถพี ประดุจน้ำทิพย์มนต์ชโลมแผ่นดินแล้งร้าง ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ ตราบจนปัจจุบันนานกว่า 53 ปี แล้ว 

แม้ในยามประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจตั้งแต่ ปี พ.ศ.2539 เป็นต้นมา ก็ได้พระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ให้ราษฎรได้พึ่งตนเอง ใช้ผืนแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบอาชีพอยู่กินตามอัตภาพ ซึ่งราษฎรได้ยึดถือปฏิบัติเป็นผลดีอยู่ในปัจจุบัน 

พระอัจฉริยภาพ 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานความรักอันยิ่งใหญ่แก่อาณาประชาราษฎร์ พระราชภารกิจอันหนักเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ปรากฏเป็นที่ประจักษ์เทิดทูนพระเกียรติคุณทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวโลก จึงทรงได้รับการสดุดีและการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์เป็นจำนวนมากทุกสาขาวิชาการ ทั้งยังมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีอย่างสูงส่ง ทรงพระราชนิพนธ์เพลงอันไพเราะนับแต่ทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบันรวม 47 เพลง ซึ่งนักดนตรีทั้งไทยและต่างประเทศนำไปบรรเลงอย่างแพร่หลาย เป็นที่ประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพจนสถาบันดนตรีในประเทศออสเตรเลีย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ 

นอกจากนั้นยังทรงลงแข่งขันในกีฬาเรือใบประเภท โอ เค และชนะเลิศรางวัลเหรียญทอง ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ทรงได้รับยกย่องเป็น “อัครศิลปิน” ของชาติ นอกจากทรงพระปรีชาสามารถด้านดนตรีแล้ว ยังทรงสร้างสรรค์งานจิตกรรม และวรรณกรรมอันทรงคุณค่าไว้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ เช่น ทรงพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ติโต นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และพระราชนิพนธ์เรื่อง ชาดก พระมหาชนก พระราชทานคติธรรมในการดำรงชีวิตด้วยความวิริยอุตสาหะ อดทนจนพบความสำเร็จแก่พสกนิกรทั้งปวง 

จึงไม่มีข้อกังขาใด หากสายตาอันเปี่ยมไปด้วยความชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากชาวต่างชาติจะนำมาสู่การถวายรางวัล และเกียรติยศต่างๆ มากมายกว่าร้อยรางวัล อันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจ และพระราชอัธยาศัยในการแสวงหาความรู้ของพระองค์

 
 
 
 

   

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : bangkokbiznews.com
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด