ขนมไทย เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสำรับในอาหารไทยมาช้านาน ซึ่งวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการทำขนมไทยส่วนใหญ่ คือ แป้ง น้ำตาล และกะทิ ทำให้ขนมมีรสชาติหวาน หอม เหนียว และมัน สะท้อนถึงความเก่าแก่ พิถีพิถัน และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยจนกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ซึ่งขนมไทยเป็นนิยมทำในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยสามารถแบ่งตามภาคได้ ดังนี้
1. ขนมไทยในภาคเหนือ
มักจะทำจากข้าวเหนียว และใช้วิธีการต้มเป็นหลัก อาทิ ขนมเทียน ขนมวง ข้าวต้มหัวหงอก ซึ่งมักทำกันในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น เข้าพรรษา สงกรานต์ ส่วนขนมที่นิยมในงานบุญเกือบทุกเทศกาลของภาคเหนือ คือ ขนมใส่ไส้หรือขนมจ๊อก ขนมปาด (คล้ายขนมศิลาอ่อน) ข้าวอีตูหรือข้าวเหนียวแดง ข้าวแตนหรือข้าวแต๋น และขนมเกลือ นอกจากนั้นยังมีขนมเฉพาะถิ่นอย่าง ขนมอาละหว่า (คล้ายกับขนมหม้อแกง) ขนมเป็งม้ง ซึ่งคล้ายขนมอาละหว่าแต่มีการหมักแป้งให้ฟูก่อน ขนมส่วยทะมินทำจากข้าวเหนียวนึ่ง น้ำตาลอ้อยและกะทิ ในช่วงที่มีน้ำตาลอ้อยมากจะนิยมทำขนมอีก 2 ชนิดคือ งาโบ๋ ทำจากน้ำตาลอ้อยเคี่ยวให้เหนียวคล้ายตังเมแล้วคลุกงา กับ แปโหย่ ทำจากน้ำตาลอ้อยและถั่วแปยี มีลักษณะคล้ายถั่วตัด ขนมไทยเหล่านี้เป็นดั้งเดิมที่มาจากชาวไทยใหญ่ ที่มีเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น
2. ขนมไทยในภาคกลาง
มักทำมาจากข้าวเจ้า อาทิ ข้าวตัง นางเยี่ยวเล็ด (ขนมนางเล็ด) ข้าวเหนียวมูน ขนมกลีบลำดวน ลูกชุบ หม้อข้าวหม้อแกง ฝอยทอง ทองหยิบ ขนมตาล ขนมกล้วย ขนมเผือก ขนมของภาคกลางส่วนใหญ่เป็นขนมที่มีความพิถีพิถันเป็นหลัก เนื่องจากมีขนมหลายชนิดที่มาจากในรั้วในวัง จึงมีส่วนผสมและหน้าตาดูแปลกออกไป ทั้งยังมีการนำวัตถุดิบที่ไม่คุ้นตาอย่าง ไข่ มาใช้ในการทำด้วย
3. ขนมไทยในภาคอีสาน
เป็นขนมที่ทำแบบง่าย ๆ ไม่พิถีพิถัน อาทิ ข้าวจี่ บ่ายมะขามหรือมะขามบ่ายข้าว ข้าวโป่ง นอกจากนั้นเป็นขนมในงานบุญพิธี ที่เรียกว่า ข้าวประดับดิน ลักษณะคล้ายกับข้าวต้มมัด อีกทั้งยังมี กระยา-สารท ที่ต้องรับประทานคู่กับกล้วยไข่ ข้าวทิพย์ ข้าวยาคู ในบางจังหวัดจะมีขนมหรือของว่างแบบง่าย ๆ ไว้รับประทานด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ข้าวเหนียวนึ่งจิ้มน้ำผึ้ง หรือข้าวบ่ายเกลือ ในจังหวัดเลย โดยจะนำข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนจิ้มเกลือให้พอมีรสเค็ม บางครั้งอาจใส่มะขามไว้เป็นไส้ด้านใน เรียกมะขามบ่ายข้าว เป็นต้น
4. ขนมไทยในภาคใต้
เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย อีกทั้งยังมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีขนมให้เลือกมาด้วยเช่นกัน มีการนำทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวมาใช้ในการทำขนม ทั้งยังการนำเครื่องเทศ สมุนไพรมาใช้ในขนม อย่างเช่น ขนมหน้าไข่ ทำจากแป้งข้าวเจ้านวดกับน้ำตาล นำไปนึ่ง หน้าขนมทำด้วย กะทิผสมไข่ น้ำตาล เกลือ ตะไคร้และหอมแดง ราดบนตัวขนม แล้วนำไปนึ่งอีกครั้ง ขนมคอเป็ด ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งข้าวเหนียว นวดรวมกับไข่ไก่ รีดเป็นแผ่น ตัดเป็นชิ้นนำไปทอด เมื่อสุกนำไปเคล้ากับน้ำตาลโตนดที่เคี่ยวจนเหนียวข้น ขนมดาดา เป็นขนมของชาวไทยมุสลิม ใช้ในโอกาสเดียวกับฆานม ประกอบด้วยข้าวเจ้า ข้าวเหนียวผสมน้ำบดให้ละเอียด นำไปละเลงในกระทะที่มีน้ำมันร้อน ๆ พับให้เป็นแผ่น กินกับน้ำตาลเหลว