พช. เสริมแกร่ง “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ยกระดับพร้อมพัฒนากลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร
วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดงานโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กิจกรรมยกระดับและพัฒนาเพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว (ผลิตภัณฑ์คลัสเตอร์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร) ภายใต้กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโดยมีผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชนเข้าร่วมงาน ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมืองแอร์พอร์ต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนมีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงโดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีความสามารถในการแข่งขันทั้ง ตลาดภายในและต่างประเทศได้ โดยการดำเนินงานโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของกรมการพัฒนาชุมชนที่ผ่านมา พบว่ายังมีความต้องการในการค้นหาแนวทางการสร้าง รูปแบบ ของการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อให้มีความพร้อมที่จะรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจร ทั้งในเรื่องทักษะการบริหารจัดการของหมู่บ้านในด้านต่าง ๆ การจัดทำกิจกรรมที่ให้บริการนักท่องเที่ยว การส่งเสริมให้ ผู้ประกอบการชุมชนมีโปรแกรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย
“กิจกรรมครั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนตั้งใจจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Secret of Herbs ยกระดับสมุนไพรไทยสู่สากล เพื่อเพิ่มศักยภาพ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการชุมชนOTOP นวัตวิถี ให้มีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เฉพาะของหมู่บ้าน ทั้งยังยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวสามารถสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในชุมชน โดยเป็นการอบรมการออกแบบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คลัสเตอร์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารด้วยการดึง 8 เสน่ห์ของชุมชนมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของที่ระลึกของชุมชน นั่นคือ อาหาร การแต่งกายที่อยู่อาศัยประเพณี ภาษา อาชีพ ความเชื่อ และศิลปะในพื้นที่พร้อมทั้งเปลี่ยนจากแนวความคิดเดิมที่มุ่งเน้นการผลิตหรือตัวผลิตภัณฑ์ หรือ Product Oriented มาเป็นการเข้าถึงความต้องการที่ซ่อนอยู่ ที่เรียกกันว่า Hidden Needเพื่อค้นหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ มีการให้ความรู้ หัวข้อ “ขายอย่างไร ขายที่ไหน ให้โดนใจลูกค้า (Content / Channel)”และค้นหา 8 เสน่ห์วิถีชุมชน เพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์ตรงใจ (Branding)” รวมทั้งยังมีกิจกรรมWork Shop ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญได้แลกเปลี่ยนกันเพื่อเก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์วิเคราะห์ศักยภาพและจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์หรือฉลาก อีก131 ผลิตภัณฑ์ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร นักพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ และด้านการตลาดซึ่งเชื่อมันว่าเมื่อผ่านกิจกรรมนี้ไปแล้วผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ที่เข้าร่วมจะสามารถนำไปพัฒนากลุ่ม OTOP สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารให้มีความโดดเด่นตามอัตลักษณ์ของชุมชน
นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้อย่างแน่นอน”