เชื่อว่าหลาย ๆ คนเวลามีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างรอยถลอก แมลงกัด มีดบาด หรือแผลจากของมีคม ก็คงไม่ได้รู้สึกกังวลและดูแลอะไรเป็นพิเศษ ด้วยคิดว่าปล่อยไว้ไม่นานก็คงหายเอง แต่จริง ๆ แล้วการไม่ดูแลแผลให้สะอาด อาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปในแผลจนเกิดอาการปวด บวมแดง และเกิดความผิดปกติรอบบาดแผล ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของ
"โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน" ภาวะที่เนื้อเยื่ออ่อนมีการติดเชื้อรุนแรง และถ้าไม่รีบรักษา ก็อาจโชคร้ายจนถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ วันนี้
นพ.รัชตะ ฉัตราติชาต หัวหน้าศูนย์ศัลยกรรม รพ.วิมุต จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน เราจะได้เข้าใจว่าการดูแลแผลอย่างถูกวิธีสำคัญแค่ไหน
"โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน" อันตรายที่มากับแผลสกปรก
โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน (Necrotizing Fasciitis) เป็นภาวะติดเชื้อรุนแรงในเนื้อเยื่ออ่อน เกิดในบริเวณผิวหนังกำพร้า ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง และกล้ามเนื้อ มักพบในแผลเปิด ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย นพ.รัชตะ ฉัตราติชาต อธิบายต่อว่า "เชื้อที่ทำให้เกิดภาวะแบคทีเรียกินเนื้อคนแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม เชื้อโรคผสม (Mixed Organisms) เป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดพร้อมกัน มักพบในแผลทั่วไปที่สัมผัสกับสิ่งสกปรก กลุ่มต่อมาคือ Streptococcus ชนิด A ที่เกิดได้จาก เชื้อ Species Streptococcus หรือ Staphylococcus พบรองลงมาจากกลุ่มแรก ลุกลามเร็วและมีอาการรุนแรงกว่า ที่พบได้ทั่วไปบนผิวหนัง มักเกิดจากหัตถการที่ไม่สะอาด เช่น การเจาะเลือด การฉีดยา รวมถึงการฉีดยาของกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด กลุ่มสุดท้ายคือ Gas Gangrene พบในแผลที่มีเนื้อตายอยู่ก่อน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สร้างสามารถแก๊ส เมื่อคลำที่แผลจะรู้สึกถึงฟองอากาศคล้ายบับเบิ้ลกันกระแทก"
แผลปวดร้อน-บวมแดง รีบพบแพทย์
การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนเกิดได้กับทุกคน โดยมีความเสี่ยงจากการไม่รักษาความสะอาดของแผลให้ดี ซึ่งอาการจะรุนแรงขึ้นในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ภาวะตับแข็ง โรคอ้วน และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วย HIV หรือคนไข้ที่ได้รับยากดภูมิ "อาการเริ่มต้นของโรคคือการ
ปวด บวมแดง หรือร้อนบริเวณบาดแผล บางคนอาจมีลักษณะผิดปกติบริเวณบาดแผล ผิวหนังมีสีดำคล้ำ มีเนื้อตาย มีหนองปริมาณมาก มีตุ่มน้ำ มีอาการพอง หากติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เริ่มมีไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ตัวเย็น มึนงง ซึมลง และช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด นำไปสู่การสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตได้" นพ.รัชตะ ฉัตราติชาต อธิบายเสริม
"โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน" ยิ่งปล่อยไว้ยิ่งอันตราย
การติดเชื้อที่ผิวหนังไม่ได้นำไปสู่ภาวะแบคทีเรียกินเนื้อคนเสมอไปแต่หากเป็นแผลก็ควรรักษาความสะอาดให้ดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยแนะนำให้ใช้น้ำเกลือ 1-2 ลิตร หรือน้ำดื่มเพื่อทำความสะอาด และไม่ควรใช้น้ำประปา หากดูแลแผลเบื้องต้นแล้วยังปวด บวมแดง หรือพบลักษณะผิดปกติที่เข้าข่ายภาวะแบคทีเรียกินเนื้อคน ควรรีบมาพบแพทย์ทันที นพ.รัชตะ ฉัตราติชาต เล่าถึงการรักษาว่า
“การวินิจฉัยโรคนี้มีหลายวิธี ซึ่งวิธีที่น่าเชื่อถือที่สุดคือการตรวจบริเวณบาดแผล หากยังไม่ชัดเจน แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการผ่าตัดกรีดขยายบริเวณบาดแผล ใช้การตรวจพิเศษ
MRI, CT Scan, หรือ
X-Ray เพื่อตรวจดูชั้นเนื้อเยื่ออย่างละเอียด ส่วนการรักษา แพทย์จะพิจารณาตามอาการ มีตั้งแต่การใช้ยาฆ่าเชื้อ ผ่าตัดระบายหนองและของเหลว ผ่าตัดเนื้อเยื่อที่ตายออก ในกรณีที่เนื้อตายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นอาจต้องตัดอวัยวะที่ติดเชื้อ ในบางกรณีอาจต้องปลูกถ่ายผิวหนังเพื่อปิดแผลร่วมด้วย"
“โรคแบคทีเรียกินเนื้อคนแม้จะอันตรายแต่ก็ป้องกันได้ โดยถ้าเป็นแผลก็ควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำเกลือหรือน้ำดื่ม แล้วปิดแผลด้วยผ้าสะอาดหรือปลาสเตอร์ให้มิดชิดเพื่อป้องกันเชื้อโรค อยากให้เข้าใจว่า เวลาเป็นแผลหรือเมื่อคนใกล้ตัวเป็นแผล ให้สังเกตลักษณะและการเปลี่ยนแปลงของแผลให้ดี ถ้ามีสัญญาณไม่ดีดั่งที่กล่าวไป ต้องรีบมาพบแพทย์ เพราะยิ่งรักษาเร็ว โอกาสหายก็จะยิ่งเยอะ นอกจากนี้ ก็อยากให้ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี เมื่อมีเกราะป้องกันที่ดี โรคร้ายก็มารบกวนชีวิตเราได้ยากขึ้น
” นพ.รัชตะ ฉัตราติชาต กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ศัลยกรรม ชั้น 4 หรือโทรนัดหมาย 02-079-0040 เวลา 8.00-20.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT App คลิก
https://bit.ly/372qexX